สื่อต่างประเทศรายงาน รัฐสภาของไทยจะมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีอีกรอบในสัปดาห์นี้ แต่หนนี้จะไม่มีหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ชนะการเลือกตั้งมีส่วนร่วมด้วย หลังบรรดาขั้วตรงข้ามขัดขวางการเสนอชื่อเขาอีกรอบ พร้อมอ้างนักวิเคราะห์มองว่าทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนจัดวางไว้สำหรับผลักพรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ความเคลื่อนไหวของรัฐสภาในการปฏิเสธนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มีขึ้นตามหลังการอภิปรายลากยาวนานหลายชั่วโมงเกี่ยวกับคุณสมบัติของเขาเมื่อวันพุธ (19 ก.ค.) ในขณะที่วิกฤตหลังการเลือกตั้งคุกรุ่นขึ้นเรื่อยๆ 2 เดือนหลังจากพรรคก้าวไกลของนายพิธา สร้างความประหลาดใจคว้าชัยชนะในศึกเลือกตั้ง หลังพรรคคู่ปรับที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ
"ไม่สามารถเสนอชื่อแคนดิเดตซ้ำได้ในสมัยประชุมเดียว" พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ในวันพฤหัสบดี (20 ก.ค.)
รายงานข่าวของรอยเตอร์ระบุว่า นายพิธา วัย 42 ปี ถูกต่อต้านจากฝ่ายอนุรักษนิยมและผู้ภักดี ที่มุ่งมั่นขัดขวางพรรคก้าวไกลจากการจัดตั้งรัฐบาลและเดินหน้าวาระนโยบายต่อต้านสถาบัน
นายพิธา ประสบความผิดหวังซ้ำสองเมื่อวันพุธ (19 ก.ค.) หลังรัฐสภาปฏิเสธความพยายามของเสียงรับรองครั้งที่ 2 ของเขาและศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้เขาหยุดปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หลังรับคำร้องตามคำกล่าวหาถือครองหุ้นในบริษัทสื่อมวลชน ซึ่งละเมิดกฎหมายเลือกตั้ง ในขณะที่เขายืนยันว่าไม่ได้ละเมิดกฎหมายใดๆ
รอยเตอร์ระบุว่าความเคลื่อนไหวต่างๆ เหล่านี้ เป็นจุดพลิกผันล่าสุดในศึกต่อสู้กันอย่างยาวนานของไทย ระหว่างขุมกำลังฝักใฝ่ประชาธิปไตยที่ชนะการเลือกตั้ง กับขุมอำนาจของพวกอนุรักษนิยมทรงอิทธิพล กลุ่มคนจงรักภักดีและบรรดานายพลของกองทัพ ที่มีความมุ่งมั่นหยุดยั้งพวกเขา
ท้ายที่สุดแล้ว ความพยายามของนายพิธา ก็ถูกตีตก ในระบบ 2 รัฐสภา จากบรรดาสมาชิกวุฒิสภาที่มีทั้งหมด 250 เสียง ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากทหาร
อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท สะท้อนถึงความพึงพอใจ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นสูงสุด 1.7% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ในวันพฤหัสบดี (20 ก.ค.) แตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 2 เดือน เนื่องจากนักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น จากความคาดหมายว่าภาวะทางตันเกี่ยวกับนายกรัฐมนตรีจะสิ้นสุดลงเร็วๆ นี้
รายงานของรอยเตอร์ ระบุเป็นที่คาดหมายว่านายเศรษฐา ทวีสิน เศรษฐีสังหาริมทรัพย์ นักการเมืองหน้าใหม่จากพรรคเพื่อไทย พันธมิตรของก้าวไกล จะถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ในการลงคะแนนโหวตวันที่ 27 กรกฎาคม "ถ้าทั้ง 8 พรรค มีมติเลือกพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ เมื่อนั้นทางพรรคจะเลือกว่าใครควรถูกเสนอชื่อ" นายเศรษฐา บอกกับผู้สื่อข่าว
กระนั้นรอยเตอร์ระบุว่าไม่เป็นที่ชัดเจนว่าความพยายามของนายเศรษฐา จะประสบความสำเร็จหรือไม่ หากพรรคเพื่อไทยยังคงยึดโยงอยู่กับพรรคก้าวไกล ซึ่งถูกสมาชิกรัฐสภาจำนวนมากมองเป็นพวกนอกคอก จากแผนของพวกเขาในการแก้ไขกฎหมายหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ที่ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์จากการถูกวิพากษ์วิจารณ์
ในนั้นรวมถึง นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ วุฒิสมาชิก ซึ่งให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ว่า เขาจะไม่สนับสนุนแคนดิเดตรายใดจากรัฐบาลผสมใดก็ตาม ที่มีพรรคก้าวไกลรวมอยู่ในนั้นด้วย
เกี่ยวกับเรื่องนี้ รอยเตอร์อ้างความเห็นของนายฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มองว่าพรรคก้าวไกลเป็นเหยื่อของสิ่งที่ดูเหมือนว่าเป็นการวางแผนมาตั้งแต่แรกเริ่ม "พรรคก้าวไกลถูกปฏิเสธตำแหน่งประธานสภา ตอนนี้พวกเขาโดนปฏิเธนายกรัฐมนตรี และก้าวต่อไปพวกเขาจะถูกบีบให้ไปเป็นฝ่ายค้าน"
(ที่มา : รอยเตอร์)