xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อพิธามาสุดทาง! สื่อนอกอ้างนักวิเคราะห์ชี้ อาจได้เห็น รบ.เพื่อไทยเป็นฝ่ายปราบผู้สนับสนุนก้าวไกล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล จะขอเสียงสนับสนุนจากรัฐสภาอีกครั้ง รับรองในฐานะนายกรัฐมนตรีในวันพุธ (19 ก.ค.) แต่สำนักข่าวเอเอฟพีชี้มีโอกาสน้อยที่จะได้รับแรงหนุนจากวุฒิสมาชิกที่ได้รับการแต่งตั้งจากทหาร พร้อมอ้างนักวิเคราะห์มีความเป็นไปได้ที่จะได้เห็นพรรคก้าวไกลถูกกีดกันจากการร่วมรัฐบาล และอาจเกิดการประท้วง และเมื่อนั้นรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยจะมีความชอบธรรมในการปราบปราม

เอเอฟพีรายงานว่า พรรคก้าวไกลคว้าเก้าอี้ได้มากที่สุดในศึกเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้แรงหนุนจากการมอบความหวังแก่คนหนุ่มสาวและผู้คนในตัวเมือง ที่เบื่อหน่ายกับการปกครองที่มีทหารหนุนหลังนานเกือบ 1 ทศวรรษ อย่างไรก็ตาม ความพยายามจัดตั้งรัฐบาลของพวกเขากำลังสะดุด

บรรดาสถาบันอนุรักษนิยมทั้งหลายของไทยคัดค้านอย่างแข็งกร้าวต่อคำประกาศของพรรคก้าวไกล ในการแก้ไขร่างกฎหมายหมิ่นสถาบัน และในการโหวตรับรองนายกรัฐมนตรีรอบแรกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายพิธา ยังขาดเสียงสนับสนุนอีกถึง 51 เสียง ตามรายงานของเอเอฟพี

เวลานี้มีเพียงเล็กน้อยที่เชื่อว่านายพิธา จะสามารถเพิ่มจำนวนผู้สนับสนุนและเขาประกาศจะยอมหลีกทางให้พรรคพันธมิตรหนึ่งจัดตั้งรัฐบาลแทน หากว่าความพยายามครั้งที่ 2 ของเขาประสบความล้มเหลว "มีความเป็นไปได้น้อยที่พิธา จะผ่านการโหวต" สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานอ้างความเห็นของ ดร.นภิสา ไวฑูรเกียรติ นักวิเคราะห์การเมืองจากมหาวิทยาลัยนเรศวรบอกกับเอเอฟพี

รายงานของเอเอฟพีระบุว่าเมื่อวันจันทร์ (17 ก.ค.) นายพิธา มองในแง่บวกว่าจะสามารถโน้มน้าวสมาชิกรัฐสภาหลายคนที่พลาดการลงคะแนนโหวตรอบแรก ให้มาสนับสนุนเขา "เรายังคงพูดคุยเพื่อหาเสียงสนับสนุนเพิ่มเติม" เขาบอกกับผู้สื่อข่าว

อย่างไรก็ตาม เอเอฟพีระบุว่ายังมีขวากนามอื่นที่ปิดกั้นเส้นทางการเป็นแคนดิเดตของเขา นั่นคือความเป็นไปได้ที่จะมีการเสนอญัตติของบรรดาสมาชิกรัฐสภาที่เป็นพันธมิตรของทหาร ว่าหมดสิทธิเสนอชื่อนายพิธา ชิงเก้าอี้นายกรัฐมตรีเป็นรอบที่ 2 หรือไม่

นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังมีวาระการประชุม ในระหว่างการประชุมของรัฐสภา และอาจตัดสินใจเดินหน้ากระบวนการคดีหนึ่ง เกี่ยวกับสมาชิกภาพสภาผู้แทนราษฎรของนายพิธา จากกรณีเป็นเจ้าของหุ้นของบริษัทสื่อมวลชนแห่งหนึ่ง ซึ่งถือเป็นข้อห้ามตามรัฐธรรมนูญของไทย

ถ้าหากศาลมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย นายพิธา จะถูกระงับสถานภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราว แต่การเสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรีของเขายังคงเดินหน้าพิจารณาต่อไปได้

นอกจากนี้ ศาลยังรับคำฟ้องคดีหนึ่งที่กล่าวหาว่าคำสัญญาระหว่างหาเสียงของพรรคก้าวไกล เกี่ยวกับการแก้ไขร่างกฎหมายหมิ่นสถาบันของไทย เทียบเท่ากับเป็นแผนล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่

ดร.นภิสา ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี ว่ารากฐานการปฏิรูปของพรรคก้าวไกลยังเสี่ยงเป็นภัยคุกคามกับบรรดาธุรกิจผูกขาดทรงอิทธิพล ซึ่งมีบทบาทใหญ่โตในเศรษฐกิจของประเทศด้วย "ถ้าคุณเป็นคนเหล่านี้ คุณคงไม่ปล่อยให้ทำเช่นนั้น"

ถ้าความพยายามครั้งต่อไปของนายพิธาประสบความล้มเหลว คาดหมายว่าพันธมิตร 8 พรรค จะหันไปสนับสนุนนายเศรษฐา ทวีสิน เศรษฐีอสังหาริมทรัพย์วัย 60 ปี ที่เพิ่งผันตัวเข้าสู่แวดวงทางการเมือง

รายงานของเอเอฟพีระบุว่าพรรคเพื่อไทยของนายเศรษฐา ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือของตระกูลชินวัตร ซึ่งในนั้นรวมถึง 2 อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกกองทัพก่อรัฐประหารในปี 2006 และ 2014

อย่างไรก็ตาม ในฐานะนายทุนที่ประสบความสำเร็จ เหมือนกับบรรดานักธุรกิจทั้งหลายในกลุ่มคนทรงอิทธิพลทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจของไทย นายเศรษฐา ถูกมองว่าเป็นตัวเลือกที่ประนีประนอม ที่จะช่วยให้หนทางแห่งการจัดตั้งรัฐบาลผสมเป็นไปอย่างราบรื่น ตามรายงานของเอเอฟพี

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ วัย 77 ปี อดีตผู้บัญชาการทหาร ที่ทำหน้าที่เป็นหมายเลข 2 ในคณะรัฐประหารที่ก่อการยึดอำนาจในปี 2014 ก็ถูกหยิบยกขึ้นมาในฐานะแคนดิเดตของกลุ่มพันธมิตรทหารในรัฐสภาเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ด้วยที่ผู้มีสิทธิออกเสียงชาวไทย ลงคะแนนปฏิเสธพรรคการเมืองที่ได้รับการสนับสนุนจากทหาร ในศึกเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ดังนั้น นายฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีว่า แนวโน้มการก้าวเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประวิตร อาจโหมกระพือไฟย้อนศร ในประเทศที่คุ้นเคยกับสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองแห่งนี้

"ถ้าพรรคก้าวไกลถูกกีดกัน มีความเป็นไปได้ว่าจะมีการประท้วง หากการประท้วงเลยเถิดเกินไป รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย จะมีความชอบธรรมสำหรับการปราบปราม" นายฐิตินันท์ บอกกับเอเอฟพี

(ที่มา : เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น