xs
xsm
sm
md
lg

เกมเปลี่ยนแล้ว! สื่อนอกชี้เลือกนายกฯ เบนเป้าสู่ 'เพื่อไทย' หลัง 'พิธา' วืดเก้าอี้ผู้นำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ด้วยที่รัฐสภาไทยปฏิเสธนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตจากพรรคก้าวไกลในเก้าอี้นายกรัฐมตรี เวลานี้โฟกัสได้แปรเปลี่ยนสู่พรรคเพื่อไทยของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในขณะที่การต่อสู้ระหว่างขุมกำลังอนุรักษนิยมรุ่นเก่ากับเหล่านักการเมืองที่เป็นตัวแทนของกลุ่มผู้มีสิทธิออกเสียงคนรุ่นใหม่กำลังเป็นไปอย่างคุกรุ่น ตามรายงานของหนังสือพิมพ์นิกเกอิเอเชีย พร้อมระบุตลาดกำลังจับตาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบหากพรรคก้าวไกลได้จัดตั้งรัฐบาล

หนังสือพิมพ์นิกเกอิเอเชีย รายงานว่า แม้ พิธา สามารถได้รับการเสนอชื่ออีกครั้ง และเขาบอกเองว่า "จะไม่ยอมแพ้" แต่ไม่เป็นที่แน่ชัดว่านักการเมืองวัย 42 ปีรายนี้จะได้รับการเสนอชื่อเป็นครั้งที่ 2 โดยมันจำเป็นต้องได้รับความเห็นพ้องต้องกันจากทั้ง 8 พรรคพันธมิตร ที่เขารวบรวมได้ ตามหลังพรรคก้าวไกลของเขาคว้าชัยในศึกเลือกตั้งทั่วไปอย่างสุดช็อกเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม

ในบรรดาพันธมิตรนั้น รวมไปถึงพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกลเหลือเวลาปรับกลยุทธ์เพียงน้อยนิด เนื่องจากรัฐสภาจะเปิดประชุมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ในวันพุธที่ 19 กรกฎาคม

นิกเกอิเอเชีย รายงานว่า เวลานี้ความสนใจเบนเป้าสู่พรรคเพื่อไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพราะว่าเชื่อว่าพรรคแห่งนี้กุมอำนาจในการตัดสินใจว่า จะคงให้การสนับสนุนนายพิธาต่อไปหรือเสนอชื่อแคนดิเดตของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นนายเศรษฐา ทวีสิน เศรษฐีอสังหาริมทรัพย์วัย 60 ปี หรือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาววัย 36 ปี ของทักษิณ

รายงานของนิกเกอิเอเชีย ระบุว่า พรรคเพื่อไทยคว้ามาได้ 141 ที่นั่งในศึกเลือกตั้งเดือนพฤษภาคม น้อยกว่าพรรคก้าวไกล 10 ที่นั่ง อย่างไรก็ตาม พวกเขามีท่าทีที่อนุรักษนิยมมากกว่าในด้านการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ นโยบายหลักของพรรคก้าวไกลที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยขุมกำลังอนุรักษนิยมอื่นๆ และบรรดาวุฒิสมาชิก

นายพิธา ประสบความสำเร็จเพียงเล็กน้อยในการดึงคะแนนโหวตจากวุฒิสภา ที่จำนวนมากได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลทหารที่เข้าสู่อำนาจจากการก่อรัฐประหารในปี 2014 โดยมี ส.ว.เพียง 13 คน ที่โหวตเห็นชอบนายพิธา

ด้วยความไม่แน่นอนทางการเมืองในปัจจุบันของไทย ดูเหมือนจะลากยาวกว่าที่คาดหมายไว้และอาจส่งกระทบเพิ่มเติมต่อเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 โดยสมบูรณ์ จึงมีความกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ ในหมู่ภาคธุรกิจทั้งหลาย ตามรายงานของนิเกอิเอเชีย

นิกเกอิเอเชีย อ้างคำกล่าวของนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่บอกว่าประชาคมธุรกิจ โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติต้องการเห็นรัฐบาลใหม่และนโยบายต่างๆ ที่มีความชัดเจน

"สิ่งที่เรากังวลมากที่สุดคืองบประมาณรัฐบาล ซึ่งควรจัดทำให้แล้วเสร็จทันทีหลังเรามีรัฐบาลใหม่ ความล่าช้าในกระบวนการโหวตนายกรัฐมนตรี มีความเป็นไปได้ว่าจะกัดเซาะความเชื่อมั่นของนักลงทุนและอาจจุดชนวนปัญหาต่างๆ ในด้านการใช้จ่ายของรัฐบาล หากงบประมาณล่าช้า" นิกเกอิเอเชียอ้างคำกล่าวของนายสนั่น

ความกังวงลทางการเมืองเหล่านี้ยังแผ่ปกคลุมตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเช่นกัน พวกนักวิเคราะห์มองว่านักลงทุนกำลังเฝ้ารอการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนถัดไป ก่อนเคลื่อนไหวใดๆ จากความเห็นของนายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าว

หุ้นของซีพี กรุ๊ป กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี แอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส และกลุ่มทุนใหญ่อื่นๆ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มูลค่าหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ยังคงอยู่ในความหวาดกังวล ใขณะที่นักลงทุนซื้อขายอย่างระมัดระวัง ด้วยที่รู้ว่าหุ้นของบริษัทเหล่านี้จะได้รับผลกระทบหากว่าพรรคก้าวไกลได้จัดตั้งรัฐบาล

สมาชิกพรรคก้าวไกลต่างดาหน้ากันออกมาวิจารณ์บรรดากลุ่มทุนใหญ่หลัก ที่ครอบครองตลาดไทย ในหนทางที่นำมาซึ่งความไม่เท่าเทียมทางสังคม และประกาศทลายกลุ่มทุนที่มีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ

ท่ามกลางเค้าลางเศรษฐกิจไทยมีความกังวลต่อการระลอกคลื่นการประท้วงที่ยืดเยื้อ บรรดาผู้สนับสนุนนายพิธา และพรรคก้าวไกลได้จัดการชุมนุมในช่วงเย็นวันศุกร์ (14 ก.ค.) ในย่านชอปปิ้งใจกลางกรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องให้เสนอชื่อนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกรอบ ในการโหวตเลือกรอบใหม่ในสัปดาห์หน้า

หนังสือพิมพ์นิกเกอิเอเชีย อ้างความเห็นของรศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ความล่าช้าในการรเลือกนายกรัฐมนตรีและการจัดตั้งรัฐบาล ที่น่าจะลากยาวไปอย่างน้อยจนถึงเดือนตุลาคม และการประท้วงประปรายที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว จะส่งผลกระทบเพิ่มเติมต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน

"ถ้าความล่าช้าลากยาวถึงขั้นนั้นและยังคงมีการเดินหน้าประท้วง เศรษฐกิจไทยจะเติบโตเพียง 2.5% ถึง 3.0% ในปีนี้" รศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าว ซึ่งมันต่ำกว่าสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประมาณการไว้ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 2.7% ถึง 3.7% ในปี 2023

(ที่มา : นิกเกอิเอเชีย)


กำลังโหลดความคิดเห็น