xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค มิ.ย.ขึ้นต่อเนื่อง สูงสุดรอบ 40 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือน มิ.ย.66 อยู่ที่ระดับ 56.7 ปรับตัวดีขึ้นจากในเดือน พ.ค. ที่ 55.7 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 40 เดือนนับตั้งแต่เดือน มี.ค.63 เป็นต้นมา

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 51.2 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานอยู่ที่ 53.7 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 65.1 ซึ่งดัชนีทุกรายการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ปัจจัยบวกที่สำคัญ คือ 1.จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยมากขึ้น ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ปรับตัวดีขึ้น 2.ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น หรือทรงตัวในระดับที่ดีเกือบทุกรายการสำคัญ 3.ระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศยังคงทรงตัวจากเดือนที่ผ่านมา และ 4.เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อย

ขณะที่ยังมีปัจจัยลบ ได้แก่ 1.ผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจยังฟื้นตัวช้า ตลอดจนปัญหาค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูง 2.ความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล และเสถียรภาพทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง 3.การส่งออกของไทยยังติดลบ 4.สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐฯ และ 5.สถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 40 เดือนนับตั้งแต่เดือน มี.ค.63 เป็นต้นมา

ทั้งนี้ เนื่องจากผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่การท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ปรับตัวดีขึ้น ราคาพืชผลทางการเกษตรปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันปรับตัวลดลงทำให้ประชาชนรู้สึกผ่อนคลายเรื่องค่าครองชีพลง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวดีขึ้นทุกรายการอย่างมีนัยสำคัญ

"ปีนี้หอการค้ายังไม่ประเมินว่าภัยแล้งเป็นปัจจัยเสี่ยง เนื่องจากยังไม่มีท่าทีที่ชี้ให้เห็นว่า ฝนตกขาดช่วงหรือไม่มีฝนในปีนี้ อย่างไรก็ดี หอการค้าฯ คาดว่าถ้ามีความเสียหายสูงสุดน่าจะไม่เกิน 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจแค่ 0.2% ดังนั้น จึงไม่เป็นปัจจัยหลักสำคัญ" นายธนวรรธน์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในการจัดตั้งและเสถียรภาพทางการเมืองรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ค่าครองชีพที่ยังทรงตัวสูงโดยเฉพาะค่าไฟฟ้า รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์สถาบันการเงินของโลก เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ตลอดจนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งส่งผลลบต่อการส่งออกของไทยทำให้การส่งออกในช่วงนี้หดตัวลง และมีผลกระทบในเชิงลบต่อกำลังซื้อของประชาชนในทุกภูมิภาค

ทั้งนี้ การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังคงเห็นว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้าค่าครองชีพสูง และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยและทั่วโลก ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้


กำลังโหลดความคิดเห็น