xs
xsm
sm
md
lg

สื่อนอกอ้างนักวิเคราะห์มองไทยเข้าทางตันหลัง 'พิธา' ชวดนายกฯ แต่ท้ายที่สุดก้าวไกลจะถูกทอดทิ้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักข่าวไฟแนนเชียลไทมส์ รายงานรัฐสภาไทยปฏิเสธนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไทย ผู้ชนะศึกเลือกตั้ง ในฐานะนายกรัฐมนตรี ส่งผลให้ประเทศแห่งนี้ตกอยู่ในสถานการณ์ยุ่งยากทางตันระหว่างประชาธิปไตยกับการครอบงำทางทหาร อย่างไรก็ตาม อ้างนักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า ท้ายที่สุดแล้วพรรคพันธมิตรอย่างเพื่อไทย อาจตัดสินใจทิ้งพรรคก้าวไกล หันไปจับมือกับพรรคต่างๆ ที่เป็นมิตรกับทหาร จัดตั้งรัฐบาลแทน

รายงานของไฟแนนเชียลไทม์สระบุว่า บรรดาวุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งของอดีตคณะรัฐประหาร ปฏิเสธโหวตให้นายพิธา โดยอ้างถึงความปรารถนาของเขาในการปฏิรูปกฎหมายหมิ่นสถาบันอันเข้มงวด ที่ห้ามวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์

ไฟแนนเชียลไทม์สระบุว่า การคัดค้านของวุฒิสภา ตอกย้ำถึงความเสี่ยงความยุ่งเหยิงทางการเมืองยืดเยื้อในชาติเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ "ขุมกำลังอนุรักษนิยมทรงอิทธิพลที่เรียงแถวต่อต้านนายพิธา ได้แสดงบทบาททางอำนาจบางอย่างในนาทีสุดท้าย" นายฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนอังกฤษแห่งนี้ "เหล่าผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจรุ่นเก่าทั้งหลาย ต่างมองพิธา และพรรคก้าวไกลของเขาในฐานะภัยคุกคามการอยู่รอด"

พรรคก้าวไกลได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดในศึกเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม โดยเฉพาะในเขตเลือกตั้งต่างๆ ในกรุงเทพฯ คว้าเก้าอี้มาได้ทั้งหมด 151 จาก 500 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร คิดเป็นคะแนนโหวตทั้งสิ้น 38% ส่วนพันธมิตรของพวกเขาอย่างพรรคเพื่อไทย คว้าเก้าอี้มาได้ 141 ที่นั่ง คิดเป็นคะแนนเสียง 29%

อย่างไรก็ตาม การลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นการโหวตร่วมสมาชิกวุฒิสภา 250 คนที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร ดังนั้นผู้ถูกเสนอชื่อจึงจำเป็นต้องได้รับคะแนนเสียง 376 เสียง สำหรับก้าวเป็นผู้นำประเทศ ซึ่งสุดท้ายแล้ว นายพิธา ได้รับเสียงสนับสนุน 324 เสียง โดยได้แรงหนุนจากวุฒิสภาแค่ 13 เสียง ส่วนที่เหลืองดออกเสียงหรือไม่ก็โหวตคัดค้าน

รายงานของไฟแนนเชียลไทม์สระบุว่าประเด็นถกเถียงทางการเมืองก่อนหน้าการลงมติ กลับกลายพุ่งเป้าไปที่กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ด้วยที่ศาลรัฐธรรมนูญเพิ่งรับคำร้องที่อ้างว่าข้อเสนอของพรรคก้าวไกลเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่

"เราอยู่ที่นี่ในวันนี้ เพราะสถาบันปกป้องเรา" ไฟแนนเชียลไทม์สอ้างคำกล่าวของนายชาดา ไทยเศรษฐ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคภูมิใจไทย พูดระหว่างอภิปรายในที่ประชุมสภา

นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังรับคำร้องอีกคดี ที่เล็งเป้าเล่นงานนายพิธา เป็นการส่วนตัว ตามคำกล่าวอ้างว่าครอบครองหุ้นบริษัทสื่อมวลชน ซึ่งจะทำให้เขาถูกตัดสิทธิทางการเมือง "เราไม่ยอมแพ้" ไฟแนนเชียลไทมส์อ้างคำพูดของนายพิธา "วุฒิสมาชิกเจอแรงกดดันมากมายและพวกเขาราว 40 คน ไม่ได้เข้าร่วมประชุม"

คาดหมายว่าการประชุมรัฐสภาครั้งถัดไปสำหรับโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีจะมีขึ้นอีกครั้งในสัปดาห์หน้า พวกนักวิเคราะห์คาดหมายว่าภาวะทางตันนี้น่าจะยืดเยื้อ อย่างไรก็ตาม ไฟแนนเชียลไทม์อ้างความเห็นของนายฐิตินันท์ พูดถึงหนึ่งในกรณีที่เป็นไปได้ก็คือ ท้ายที่สุดแล้วพรรคเพื่อไทยจะทอดทิ้งพรรคก้าวไกล แล้วหันไปจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคอื่นๆ ที่เป็นพันธมิตรกับกองทัพ

(ที่มา : ไฟแนนเชียลไทม์ส)


กำลังโหลดความคิดเห็น