xs
xsm
sm
md
lg

“พิธา” ยกฉันทามติใหม่ในความปกติใหม่ จี้รัฐสภายึดตาม ปชช.โหวตด้วยความหวังไม่ใช่ความกลัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หน.ก้าวไกล แสดงวิสัยทัศน์แคนดิเดตนายกฯ พร้อมเป็น “ฉันทามติใหม่ในความปกติใหม่” เรียกร้องสมาชิกรัฐสภา คืนความปกติการเมืองไทย ยึดหลักการ-กล้าหาญ เดินตามที่ ปชช.ตัดสินใจแล้วผ่านเลือกตั้ง โหวตด้วยความหวังไม่ใช่ความกลัว

วันนี้ (13 ก.ค.) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี อภิปรายสรุปก่อนการลงมติในการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ว่า เป็นเกียรติอย่างสูงสุดในชีวิตของตน ที่ได้รับการเสนอชื่อจากเพื่อนสมาชิกให้มีการลงมติเลือกเป็นนายกฯ คนที่ 30 ของประเทศไทย
.
วันนี้ห่างจากวันที่ประชาชนเลือกตั้งมาแล้ว 2 เดือน เชื่อว่า ประชาชนได้เห็นวิสัยทัศน์ของตนผ่านเวทีต่างๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งเรื่อง “ปากท้องดี” เพื่อก้าวข้ามประเทศกับดักรายได้ปานกลาง มีเศรษฐกิจที่เติบโตและลดความเหลื่อมล้ำ หรือ “การเมืองดี” เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การต่อสู้กับการคอร์รัปชัน การปฏิรูประบบราชการ และ “มีอนาคต” เช่น การปฏิรูปการศึกษา
.
วันนี้ตนจึงขอสื่อสารกับคนในสภาฯ และสื่อสารตรงๆ ไปถึงวุฒิสมาชิก ว่า หลังจากได้ฟังอภิปรายและทำงานร่วมกับท่านตลอด 4 ปี จริงๆ แล้วเราก็ไม่ได้ต่างกันมากนัก การทำงานร่วมกันของพวกเราครั้งแรก คือ การพูดคุยวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการเกษตร เรียกว่า “กระดุม 5 เม็ด” หลายคนเคยทำงานร่วมกับตนมาก่อนทั้งในกระทรวงและในรัฐสภา หรือแม้แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ตนก็จำได้ว่าเคยมี ส.ว. เลือกปิดสวิตช์ตัวเองถึง 63 คน
.
สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเรามีอะไรเหมือนกัน มากกว่าสิ่งที่เราแตกต่างกัน วันนี้จึงเป็น “ประตูแห่งโอกาส” ที่เราสามารถทำงานร่วมกันภายใต้รัฐบาลชุดต่อไป ในการแก้ไขปัญหาที่ทุกท่านต้องการแก้ไขมาตลอด และความท้าทายใหม่ที่กำลังมาสู่ประเทศไทยที่เราต้องการแก้ไขร่วมกัน
.
อย่างไรก็ดี ทราบว่า หลายคนยังมีความคลางแคลงใจในตัวของตน วันนี้แสดงให้เห็นว่าเป็นเรื่องนโยบายจุดยืนเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นส่วนใหญ่ ตนคิดว่าเป้าหมายของเราทั้งสภาเหมือนกัน เพียงแต่แตกต่างที่วิธีการ โดยในมุมมองของตน การทำให้เป้าหมายที่พวกเราเห็นตรงกัน คือการธำรงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่คู่กับประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขนั้น ต้องไม่อนุญาตให้ใครใช้สถาบันฯ เป็นเครื่องมือในการโจมตีกันทางการเมือง
.
“จึงอยากชวนทุกคนมองยาวๆ มองกลับไปในอดีต มองปัจจุบัน และมองอนาคต ถ้าเรานับย้อนหลังไปถึงปี พ.ศ. 2549 เป็นหมุดหมายสำคัญในฐานะจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งในสังคมไทย เราจะเห็นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของคนบางกลุ่มมาตั้งแต่เวลานั้น เพื่อล้มรัฐบาลเลือกตั้งถึงสองครั้งสองครา กลุ่มคนที่มีผลประโยชน์ส่วนตนและไม่มีเครดิตทางสังคมล้วนต้องดึงสถาบันมาอ้างอิงเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มการเมืองหรือกลุ่มธุรกิจ ดังนั้น ไม่ใช่พวกเราหรือ ที่ผูกสถานการณ์มาจนถึงวันนี้ จนต้องให้คนรุ่นใหม่มารับผิดชอบ” นายพิธา กล่าว
.
แคนดิเดตนายกฯ กล่าวต่อว่า จนถึงปัจจุบัน มีหลายกลุ่มหลายพวกที่ต้องการสกัดกั้นไม่ให้ตนเป็นนายกฯ ไม่ต้องการให้รัฐบาลเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะเขากำลังจะเสียผลประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นสัมปทาน ผลประโยชน์ทางธุรกิจ จงใจที่จะดึงสถาบันพระมหากษัตริย์มาปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง แล้วจับมาวางเป็นคู่ตรงข้ามกับการลงคะแนนเสียงของประชาชนในวันที่ 14 พฤษภาคม ตนจึงอยากชวนวิญญูชนให้มีสติไตร่ตรองให้ดีว่าการกระทำเช่นนี้มีราคาและต้นทุนอย่างไรกับสังคม
.
“ผมเชื่อว่า ถ้าไม่มีใครชูคำขวัญ “เราจะสู้เพื่อในหลวง” เพื่อโค่นล้มรัฐบาล ถ้าไม่มีใครอิงแอบสถาบันเพื่อก่อรัฐประหาร ถ้าไม่มีใครเอาเรื่องล้มล้างสถาบันมาปลุกปั่นทางการเมืองให้คนเกลียดชังกันเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ถ้าเราไม่ใช้ ม.112 มาเป็นเครื่องมือมาทำลายล้างกัน ความขัดแย้งในสังคมไทยคงไม่มาถึงจุดนี้” นายพิธา กล่าว
.
นายพิธา กล่าวว่า ถึงเวลาแล้ว ที่พวกเราต้องเผชิญหน้ากับปัญหาใหม่ๆ อย่างมีวุฒิภาวะ แก้ปัญหาที่ต้นตอ ด้วยการยุติการนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นประเด็นการเมือง แล้วหากุศโลบายเพื่อพัฒนา รักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชนท่ามกลางยุคสมัยที่เปลี่ยนไป จัดวางพระราชอำนาจและพระราชสถานะให้เหมาะสมสอดคล้องกับสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ ทำแบบนี้ สถาบันที่เรารัก จึงจะดำรงอยู่ได้อย่างสง่างามในสังคมไทย
.
สุดท้าย ตนอยากเสนอตัวเองเป็น “ฉันทามติใหม่สำหรับความปกติใหม่” ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ เป็นเรื่องธรรมดาที่เมื่อสิ่งใหม่เกิดขึ้นย่อมถูกต่อต้านจากสิ่งเก่า แต่สุดท้าย ตนเชื่อว่าสังคมไทยจะหาจุดลงตัวได้ เป็นจุดลงตัวที่ไม่มีใครได้ทั้งหมด ไม่มีใครเสียทั้งหมด เป็นจุดลงตัวที่เรายอมรับร่วมกันได้ แม้จะไม่เห็นตรงกันทุกเรื่อง แต่จะไปถึงจุดนั้นได้ เราต้องสร้างสังคมไทยให้พร้อมรับความแตกต่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างหลากหลายทางเพศ เชื้อชาติ ศาสนา รวมทั้งความคิดทางการเมือง
.
นี่คือ ก้าวที่สำคัญของสังคมไทยในการร่วมกันสร้าง “ฉันทามติใหม่” ที่เป็นเรื่องของกระบวนการจัดการความขัดแย้งด้วยกระบวนการทางประชาธิปไตย ฉันทามติใหม่ไม่ได้แปลว่าทุกคนในสังคมต้องคิดเหมือนกันทั้งหมด นั่นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่ฉันทามติใหม่ที่เรากำลังจะสร้างร่วมกันคือการยึดถือกระบวนการที่เป็นธรรมในการตัดสินใจเรื่องสำคัญของสังคม เราควรนำเรื่องที่ผู้คนเห็นแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปฏิรูปกองทัพ การยกเลิกการผูกขาดทางเศรษฐกิจ การจัดการที่ดิน การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด กระบวนการสร้างสันติภาพในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การแก้ไขปรับปรุง ม.112 หรืออื่นๆ มาหาข้อยุติร่วมกันโดยใช้กระบวนการในสภาหรือกลไกทางประชาธิปไตยต่างๆ ไม่ใช่การปะทะกันบนท้องถนน
.
เราต้องบริหารจัดการความเห็นต่างไม่ให้กลายเป็นความขัดแย้ง ด้วยการปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก และทำให้เรามีระบบนิติรัฐ มีระบบกฎหมายที่ดี มีกระบวนการยุติธรรมที่ทุกคนเสมอภาคเท่าเทียมกัน ทำให้การคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนเจ้าของประเทศ เป็นเป้าหมายหลักของรัฐ และความมั่นคงของชาติ คือ ความมั่นคงของประชาชน ไม่ใช่มองประชาชนเป็นศัตรูของชาติ
.
นายพิธา กล่าวว่า สิ่งที่เรากำลังจะร่วมกันทำต่อไปนี้ไม่ใช่การลงมติเลือก พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่ใช่การลงมติเลือกพรรคก้าวไกล แต่คือการเลือกยืนยันหลักการประชาธิปไตยในฐานะกลไกหลักในการตัดสินใจร่วมกันของสังคม
.
“นี่ไม่ใช่การลงมติเลือกผม ไม่ใช่การลงมติเลือกพรรคก้าวไกล แต่คือการเลือกให้โอกาสกับประเทศไทย คืนความปกติให้การเมืองไทย ให้ฉันทามติที่ประชาชนคนไทยทั้งประเทศได้ตัดสินใจแล้ว คือ การตัดสินประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ที่ผมไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียว ต้องอาศัยการตัดสินใจของสมาชิกรัฐสภาที่ยึดหลักการ กล้าหาญ และเห็นแก่อนาคตของชาติที่มีประชาชนเป็นหัวใจ ผมขอเชิญชวนทุกท่าน อย่าให้ความคลางแคลงใจที่ท่านมีต่อผม ขวางกั้นประเทศไทยไม่ให้เดินหน้าต่อตามเสียงและเจตนารมณ์อันแรงกล้าของประชาชน ขอให้การตัดสินใจของท่านสะท้อนความหวังของประชาชนและความหวังของตัวท่านเอง ไม่ใช่การสะท้อนความกลัว” นายพิธา ระบุ


กำลังโหลดความคิดเห็น