xs
xsm
sm
md
lg

สื่อนอกจับตา! รัฐสภาไทยเลือกนายกฯ คนใหม่ ชี้โอกาสของพิธา 'ริบหรี่'

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน รัฐสภาไทยจะโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันพฤหัสบดี (13 ก.ค.) แต่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นักปฏิรูปในฐานะตัวเต็ง กำลังหัวหมุนอยู่กับขวางหนามต่างๆ ที่อาจทำให้การเสนอตัวเป็นผู้นำคนใหม่ของเขาประสบความล้มเหลว

รายงานของเอเอฟพีระบุว่า กลุ่มพันธมิตรที่นำโดยพรรคก้าวไกล จะต้องเผชิญหน้ากับบรรดาพรรคอนุรักษนิยมและวุฒิสมาชิกที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร ที่หวั่นเกรงต่อชัยชนะอันสุดช็อกในศึกเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม ของพวกหัวก้าวหน้า และความตั้งใจของพวกเขาในการแก้ไขกฎหมายหมิ่นสถาบันอันเข้มงวดของไทย

ในวันที่เต็มไปด้วยดรามาทางการเมืองเมื่อวันพุธ (12 ก.ค.) เอเอฟพีระบุว่านายพิธา ต้องเผชิญกับความเสี่ยงถูกระงับสถานภาพสมาชิกรัฐสภา เช่นเดียวกับกรณีศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องคดีที่กล่าวหาเขาและพรรคก้าวไกล พยายามโค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์

เอเอฟพีระบุว่า แม้พรรคก้าวไกลจะชนะการเลือกตั้ง ด้วยคนไทยปฏิเสธรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งยึดอำนาจจากการทำรัฐประหารในปี 2014 แต่โอกาสที่พรรคนี้จะได้จัดตั้งรัฐบาล โดยมีพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี ดูเหมือนจะริบหรี่ลงเรื่อยๆ

สำนักข่าวแห่งนี้ระบุว่าเขาต้องเผชิญแรงต่อต้านจากสมาชิกวุฒิสภา 250 คนที่ได้รับการแต่งตั้งจากทหาร สืบเนื่องจากที่พรรคของเขาพยายามผลักดันปฏิรูปประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งห้ามหมิ่นประมาทเชื้อพระวงศ์ นอกนากนี้ แผนทลายทุนผูกขาดที่ทรงอิทธิพลของประเทศได้โหมกระพือความกังวลเช่นกัน

แม้เผชิญอุปสรรคขวางทางต่างๆ นายพิธา ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวในวันพุธ (12 ก.ค.) ว่าเขายังมีกำลังใจดีเยี่ยม นอกจากนี้ เขายังแสดงความหวังว่าการลงมติของรัฐสภาในวันพฤหัสบดี (13 ก.ค.) จะเดินหน้าไปตามแผนที่วางไว้

ว่าที่รัฐบาลผสม 8 พรรคของพิธา ในนั้นรวมถึงพรรคเพื่อไทย ที่ได้คว้าเก้าอี้ได้มากสุดเป็นอันดับ 2 มีคะแนนเสียงรวมกัน 312 เสียง แต่ยังห่างไกลจากการได้รับเสียงสนับสนุนจากทั้ง 2 สภา 376 เสียงที่จำเป็นสำหรับการก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

เมื่อวันพุธ (12 ก.ค.) คณะกรรมการการเลือกตั้งเสนอให้ระงับสถานภาพสมาชิกรัฐสภาของพิธา ตามข้อกล่าวหาละเมิดกฎหมายหาเสียงเลือกตั้ง ความเคลื่อนไหวที่พรรคก้าวไกลตราหน้าว่าเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ

ความเคลื่อนไหวของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย มีขึ้นตามหลังการสืบสวนเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของหุ้นในบริษัทสื่อมวลชนแห่งหนึ่งของพิธา ซึ่งเป็นข้อห้ามตามกฎหมายไทย และคำแถลงเกี่ยวกับการส่งเรื่องให้ศาลวินิจฉัย พวกนักวิเคราะห์มองว่าอาจโน้มน้าวให้บรรดาวุฒิสมาชิกไม่โหวตให้นายพิธา

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านกฎหมาย จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกกับเอเอฟพี แสดงความสงสัยว่าทำไมคณะกรรมการการเลือกตั้งถึง "เร่งรีบเช่นนี้" ในการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย "ผมคิดว่ามันมีเหตุผลเดียว ความเคลื่อนไหวนี้มีเจตนาส่งผลกระทบกับผลโหวตในวันพรุ่งนี้" เขากล่าวในวันพุธ (12 ก.ค.)

หาก พิธา พ่ายแพ้ในการโหวตครั้งแรก ประธานรัฐสภาจะสามารถเรียกลงมติได้อีกจนกว่าจะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ก่อแนวโน้มของภาวะทางตันยืดเยื้อหลายสัปดาห์และเสี่ยงโหมกระพือความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ตามรายงานของเอเอฟพี

เอเอฟพีรายงานว่าศึกเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดการประท้วงของฝ่ายโปรประชาธิปไตยในกรุงเทพฯ เมื่อปี 2020 คราวนั้นมีผู้ชุมนุมหลายหมื่นคนส่งเสียงเรียกร้องอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ให้ปฏิรูปกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

พรรคก้าวไกลของพิธา เป็นเพียงพรรคเดียวที่ระหว่างหาเสียงเลือกตั้งสัญญาว่าจะจัดการกับประเด็นนี้ แต่เอเอฟพีระบุว่าพรรคก้าวไกลต้องเผชิญกับอีกหนึ่งปัญหาในวันพุธ (12 ก.ค.) เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องต่อกรณีที่ว่า ที่พวกเขาให้คำสัญญาระหว่างหาเสียงเลือกตั้งในการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวนั้น เข้าข่ายล้มล้างการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่

รายงานข่าวของเอเอฟพีระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญให้เวลาพรรคก้าวไกล 2 สัปดาห์ในการแก้ต่างคำกล่าวหา อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนดังกล่าวอาจนำมาซึ่งการพังครืนของรัฐบาลผสมที่นำโดยพรรคก้าวไกลที่แตกแยกอยู่ก่อนแล้ว ในขณะที่อาจมีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีรายใหม่เป็นทางเลือก

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีผู้หลบหนี ซึ่งเป็นแกนนำของพรรคเพื่อไทยระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง เป็นหนึ่งคนที่ถูกพูดถึง เช่นเดียวกับนักธุรกิจอย่างนายเศรษฐา ทวีสิน ก็ถูกมองในฐานะแคนดิเดตทางเลือกเช่นกัน

ในเรื่องนี้ นภิสา ไวฑูรเกียรติ นักวิเคราะห์การเมืองจากมหาวิทยาลัยนเรศวร ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีว่า ดูเหมือนมีความเป็นไปได้น้อยลงเรื่อยๆ ที่นายพิธา จะก้าวมาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่เธอบอกต่อว่า "อะไรก็เป็นไปได้ในประเทศไทย"

(ที่มา : เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น