xs
xsm
sm
md
lg

จบแบบไหน! สื่อนอกตีข่าวไทยได้ ปธ.สภา แต่อ้างนักวิเคราะห์ไม่แน่ใจ 'พิธา' ได้เป็นนายกฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของไทยเมื่อวันอังคาร (4 ก.ค.) ให้การรับรองนักการเมืองรุ่นลายคราม และหัวหน้าพรรคขนาดเล็กพรรคหนึ่งเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งสัญญาณคลี่คลายประเด็นพิพาทระหว่าง 2 พรรคการเมืองที่คว้าเก้าอี้ได้มากที่สุด ในขณะที่พวกเขากำลังหาทางจัดตั้งรัฐบาลผสม อย่างไรก็ตาม สื่อแห่งนี้อ้างความเห็นของนักวิเคราะห์ ไม่มั่นใจว่านายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่

รายงานข่าวของรอยเตอร์ระบุว่า การเสนอชื่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา วัย 79 ปี ถูกมองอย่างกว้างขวางว่าเป็นการประนีประนอมกันระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย 2 พรรคพันธมิตร ซึ่งถกเถียงกันมานานหลายสัปดาห์เกี่ยวกับตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีความสำคัญในการผ่านร่างกฎหมายต่างๆ เช่นเดียวกับกำหนดกรอบเวลาของการลงมติในร่างกฎหมายสำคัญ

นายวันนอร์ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคประชาชาติ พรรคขนาดเล็กในพันธมิตร 8 พรรค ที่นำโดยพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ซึ่งรวมกันแล้วคว้าเสียงข้างมากอย่างล้นหลามในสภาผู้แทนราษฎร ในศึกเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา เอาชนะพรรรคอนุรักษนิยมทั้งหลายที่เป็นพันธมิตรกับกองทัพ

รอยเตอร์ระบุในรายงานว่า นายวันนอร์ เคยดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพวกผู้นำพรรคเพื่อไทย เขาเป็นบุคคลเดียวที่ถูกเสนอชื่อชิงเก้าอี้ตัวดังกล่าว และเวลานี้เหลือเพียงขั้นตอน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง "ผมจะปฏิบัติหน้าที่อย่างยุติธรรม ด้วยความโปร่งใส ในการพิจารณาร่างกฎหมายและคำร้องต่างๆ เพื่อยกระดับชีวิตของชาวไทยทุกคน" รอยเตอร์อ้างคำพูดที่นายวันนอร์ ที่บอกกับสภาผู้แทนราษฎร

ในบรรดาภารกิจแรกของเขา คือการทำหน้าที่เป็นประธานสภาร่วม ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 750 คน ในการเลือกนายกรัฐมนตรี สำหรับจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่

พันธมิตรซึ่งมีเก้าอี้รวมกัน 312 ที่นั่ง สนับสนุนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แต่การก้าวเป็นนายกรัฐมนตรีจำเป็นต้องได้รับคะแนนเสียงอย่างน้อย 367 เสียง

รายงานข่าวของรอยเตอร์ระบุว่าไม่ชัดเจนว่าพันธมิตรนี้จะเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป หากว่านายพิธา ไม่ได้รับเสียงสนับสนุนมากพอ ในขณะที่เขาจำเป็นต้องได้รับเสียงสนับสนุนอีก 64 เสียง จากพรรคคู่แข่งทั้งหลาย หรือจากบรรดาสมาชิกวุฒิสภาหัวอนุรักษนิยม ซึ่งมีประเด็นพิพาทกับพรรคก้าวไกล เกี่ยวกับวาระต่อต้านสถาบันของพวกเขา

รอยเตอร์อ้างความเห็นของ ดร.ฐิติพล ภักดีวานิช นักวิเคราะห์การเมืองจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ระบุว่า การยอมอ่อนข้อของพรรคก้าวไกลในตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร แสดงให้เห็นว่าเส้นทางของพวกเขาในการก้าวเข้าสู่อำนาจต้องเผชิญกับการต่อต้าน อันเป็นผลสืบเนื่องจากความมุ่งมั่นของเขาในการเสาะหาวาระแห่งเสรีนิยม

"พรรคแห่งนี้ถูกมองในฐานะศัตรูโดยพวกอนุรักษนิยมทั้งหลาย" ดร.ฐิติพล กล่าวกับรอยเตอร์ พร้อมระบุชะตากรรมของนายพิธา อยู่ในมือของวุฒิสภาที่ได้รับการแต่งตั้งจากทหาร "สิ่งที่เราไม่รู้คือ พรรคเพื่อไทยจะเปลี่ยนข้างหรือไม่ หลังจากการโหวตเลือกพิธาในเบื้องต้นประสบความล้มเหลว"

(ที่มา : รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น