xs
xsm
sm
md
lg

มันจบแล้วครับหลาน! สื่อนอกชี้ความพ่ายแพ้ของ 'พิธา' คือชัยชนะของ 'ทักษิณ'

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เว็บไซต์ข่าวเอเชียไทม์สเผยแพร่รายงานเกี่ยวกับผลโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีรอบแรกของไทย ชี้ความพ่ายแพ้ของนายพิธาและพรรคก้าวไทย ผลจากจุดยืนแข็งกร้าวในนโยบายปฏิรูปสถาบัน กำลังกลายเป็นชัยชนะของทักษิณ ชินวัตร ท่ามกลางสัญญาณประนีประนอมระหว่างพรรคเพื่อไทยกับฝ่ายอนุรักษนิยม

ในการโหวตที่ทางพรรคก้าวไกลอ้างว่าเป็นการต่อต้านเจตนารมณ์ของประชาชน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ล้มเหลวไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากรัฐสภามากพอสำหรับก้าวมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนถัดไปของไทย ในการลงมติเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม

วุฒิสมาชิก 249 คน ที่ได้รับการแต่งตั้งจากทหารและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นพันธมิตรกับรัฐบาลอนุรักษนิยมที่กำลังพ้นจากตำแหน่งที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร พากันงดออกเสียงหรือโหวตคัดค้านการเสนอตัวของนายพิธา ซึ่งจำเป็นต้องได้รับเสียงสนับสนุนอย่างน้อย 376 เสียง จากทั้งหมด 749 เสียง ตามรายงานของเอเชียไทม์ส

ผลคะแนนโหวตเมื่อวันพฤหัสบดี (13 ก.ค.) พบเห็น 324 เสียงให้การสนับสนุนพิธา ลงมติคัดค้าน 182 เสียง และงดออกเสียง 199 คน การลงคะแนนโหวตรอบ 2 มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 19 กรกฎาคม อย่างไรก็ตาม เอเชียไทม์สอ้างคนวงในบางส่วน เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่พรรคอันดับ 2 อย่างเพื่อไทย จะผลักดันเสนอชื่อแคนดิเดตของตนเอง ได้แก่ นายเศรษฐา ทวีสิน และการโหวตรอบ 3 ซึ่งน่าเป็นการโหวตรอบสุดท้าย อาจเกิดขึ้นในวันต่อมา

เอเชียไทม์สคาดหมายว่าการแข่งขันทางการเมืองในไทยจะทวีความหนักหน่วงขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ในขณะที่นายพิธา จำเป็นต้องหาทางอธิบายแก่บรรดาพรรคพันธมิตร ทำไมเขาถึงเชื่อว่าจะสามารถเอาชนะการโหวตในรอบ 2 หลังพ่ายแพ้ในวันพฤหัสบดี (13 ก.ค.) ในขณะที่คนจำนวนมากเชื่อว่าวุฒิสมาชิกและสมาชิกรัฐสภาหัวอนุรักษฺนิยมอื่นๆ มีความตั้งใจโหวตให้นายศรษฐา ซึ่งไม่มีท่าทีเผชิญหน้า และแหล่งข่าววงในให้คำจำกัดความกับเอเชียไทม์สว่าเป็นแคนดิเดต ที่มีความประนีประนอมมากกว่า

การโหวตเมื่อวันพฤหัสบดี (13 ก.ค.) มีขึ้นหนึ่งวันหลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยนายพิธา กรณีมีคำกล่าวหาถือครองหุ้นบริษัทสื่อสารมวลชน ซึ่งเป็นเรื่องต้องห้ามตามกฎหมายเลือกตั้งของไทย ในขณะที่คำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ขอให้ระงับสถานภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายพิธา ระหว่างการพิจารณา

ในอีกคดีที่ยื่นและศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องเมื่อวันพุธ (12 ก.ค.) ได้กล่าวหานายพิธา และพรรคก้าวไกลของเขาพยายามล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จากกรณีที่พวกเขาเรียกร้องปฏิรูปกฎหมายหมิ่นสถาบันของประเทศ

รายงานของเอเชียไทม์ส ระบุว่า ก่อนหน้านี้ พรรคเพื่อไทยปฏิเสธลงนามในบันทึกความเข้าใจกับพรรคก้าวไกล ที่กำหนดให้พรรคพันธมิตรต้องสนับสนุนวาระปฏิรูปกฎหมายหมิ่นสถาบันและปฏิรูปแบบหัวก้าวหน้าอย่างครอบคลุม ในขณะที่นายเฉลิม อยู่บำรุง ตัวจักรทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย ถึงขั้นออกมาให้สัมภาษณ์ถึงความอ่อนประสบการณ์ของพรรคก้าวไกล

เอเชียไทม์สระบุมีความเชื่ออย่างกว้างขวางว่า ความล้มเหลวของพรรคเพื่อไทยในศึกเลือกตั้ง สืบเนื่องจากมีความรู้สึกในวงกว้างว่าพวกเขาอาจจับมือเป็นพันธมิตรกับพลังประชารัฐ ในการจัดตั้งรัฐบาลสมานฉันท์แห่งชาติ เพื่อต้องการฝังกลบข้อบาดหมางระหว่าง 2 ฝ่าย จากเหตุรัฐประหารโค่นอำนาจตระกูลชินวัตร 2 ครั้งในปี 2006 และ 2014

ในรายงานของเอเชียไทม์ส อ้างบรรดานักการทูตที่ประจำอยู่ในกรุงเทพฯ และนักสังเกตการณ์ทางการเมืองท้องถิ่น บ่งชี้ว่ามีการพบปะก่อนหน้าการเลือกตั้งอย่างน้อยๆ 3 ครั้ง ระหว่างคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภรรยาของทักษิณ และผู้มีอำนาจที่อยู่ฉากหลังของพรรคเพื่อไทย กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของวัง ซึ่งมีข่าวว่ามีการหารือเกี่ยวกับข้อตกลงรัฐบาลสมานฉันท์ ในนั้นและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใครจะรับหน้าหน้าที่ควบคุมกองทัพในโครงสร้างดังกล่าว

รายงานของเอเชียไทม์ส ระบุว่า การหารือนี้ที่ไม่ใช่การเจรจา เป็นตัวอธิบายได้อย่างดีว่าทำไม ทักษิณ ถึงประกาศซ้ำๆ ว่าจะกลับจากหลบหนีในต่างแดนในเดือนกรกฎาคม ซึ่งดูเหมือนว่าจำเป็นต้องได้รับพระราชทานอภัยโทษก่อนถึงจะสามารถหลีกเลี่ยงโทษจำคุก ตามความผิดทางอาญาคอร์รัปชันต่างๆ อย่างไรก็ตามเมื่อเร็วๆ นี้ ทักษิณ เลื่อนกรอบเวลาของการเดินทางกลับมาตุภูมิ จนกว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะมี "เสถียรภาพ"

อีกหนึ่งสัญญาณความเป็นไปได้ของข้อตกลง คดีหนึ่งของทักษิณที่ยังค้างอยู่ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ตามข้อกล่าวหาทุจริตจัดซื้อเครื่องบินแก่การบินไทยย้อนกลับไปในปี 2003 ถูกยกคำร้องไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้าการโหวตของรัฐสภา นอกจากนี้ บางส่วนยังมองว่าการประกาศวางมือทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีจุดยืนต่อต้านทักษิณ เป็นการเปิดทางสำหรับข้อตกลงกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่มีความเป็นมิตรกับทักษิณมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ยังคงไม่เป็นที่ชัดเจนว่า ทักษิณ และพจมาน มีความตั้งใจสละจุดยืนต่อต้านทหารที่พรรคเพื่อไทยยึดถือมาช้านาน และยอมเสี่ยงก่อความบาดหมางกับคนเสื้อแดง ผู้สนับสนุนตัวยงของพรรค แลกกับการนำ ทักษิณ กลับบ้าน หรือไม่ เช่นเดียวกับนำพรรคเพื่อไทยกลับสู่สถานะองครักษ์โดยพฤตินัย แทนที่จะเป็นผู้ท้าทายและผู้ก่อความวุ่นวายต่อผลประโยชน์ของฝ่ายอนุรักษนิยม

กระนั้นก็ตาม รายงานของเอเชียไทม์ส ระบุเป็นที่แน่ชัดว่าสถาบันอนุรักษนิยมทั้งหลาย ที่ประกอบด้วยสถาบัน กองทัพ และครอบครัวธุรกิจระดับชั้นนำต่างมองวาระปฏิรูปหัวก้าวหน้าของพรรคก้าวไกล ไล่ตั้งแต่ปฏิรูปกฎหมายหมิ่นสถาบัน ยกเลิกการเกณฑ์ทหารและทลายทุนผูกขาด คือภัยคุกคามการอยู่รอดใหญ่หลวงกว่าทักษิณ และพรรคเพื่อไทย ที่เวลานี้อ่อนแรงลงไป

เอเชียไทม์สระบุว่า ปัญหาของพิธา คือ รัฐบาลผสมที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ซึ่งกีดกันไม่ให้พรรคก้าวไกลเข้าร่วม โดยอ้างเหตุผลของเสถียรภาพ ท่ามกลางความเสี่ยงที่นายพิธา จะถูกตัดสินขาดคุณสมบัติและยุบพรรคก้าวไกลนั้น จะยังคงเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยตามรูปแบบ แม้จะไม่ใช่โดยแก่นแท้หรือจิตวิญญาณก็ตาม

(ที่มา : เอเชียไทม์ส)


กำลังโหลดความคิดเห็น