xs
xsm
sm
md
lg

ปธน.เกาหลีใต้โวแบบปีที่แล้ว ต้องเร่งปฏิรูประบบรับมือภัยพิบัติธรรมชาติ ขณะผู้เชี่ยวชาญชี้รัฐบาลสัญญาปากเปล่า-ไร้งบสนับสนุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เจ้าหน้าที่กู้ภัยค้นหาผู้รอดชีวิตไปตามถนนสายที่ไปสู่อุโมงค์ทางลอดซึ่งถูกน้ำท่วมสูง ในเมืองชองจู เกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา บริเวณนี้คือจุดที่มีผู้เสียชีวิตอยู่ในรถจำนวนสิบกว่าคน
ประธานาธิบดียุน ซอกยอน ของเกาหลีใต้ เรียกร้องปฏิรูประบบรับมือภัยพิบัติเพื่อให้สามารถรับมือวิกฤตจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น ด้านผู้เชี่ยวชาญชำแหละรัฐบาลล้มเหลวในการจัดสรรงบประมาณที่จำเป็นเพื่อตอบสนองคำสัญญาในการยกระดับการเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติ อีกทั้งเน้นการกู้ฟื้นแทนการป้องกัน

อุทกภัยและดินถล่มหลังฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 40 คน และสูญหาย 9 คน ในจำนวนนี้รวมถึงผู้เสียชีวิต 14 คนในรถที่ติดอยู่ในอุโมงค์ทางลอดที่น้ำท่วมในเมืองชองจู

ประธานาธิบดียุนกล่าวในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีที่ถ่ายทอดสดทางทีวีเมื่อวันอังคาร (18 ก.ค.) ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศกำลังทำให้เกิดภัยพิบัติธรรมชาติรุนแรงมาก ซึ่งไม่สามารถรับมือด้วยแนวทางแบบที่เคยทำมา แต่เกาหลีใต้ควรมีระบบดิจิทัลที่จำลองและติดตามการคาดการณ์หยาดน้ำฟ้าซึ่งจะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินมาตรการความปลอดภัยล่วงหน้า

มุนเสริมว่า นี่เป็นสิ่งที่ตนย้ำมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งหมายถึงเหตุการณ์น้ำท่วมในเดือนสิงหาคมหลังฝนตกหนักที่สุดในรอบ 115 ปีในโซล ทำให้ย่านการค้าเป็นอัมพาต และย่านที่อยู่อาศัยที่อยู่ในที่ต่ำอย่างเช่นกังนัมจมน้ำ

ยอดผู้เสียชีวิตล่าสุดทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับการเตรียมการของเกาหลีใต้ในการรับมือสภาพอากาศรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากมีผู้เสียชีวิตจากน้ำท่วมนับสิบคนระหว่างฤดูฝน ทั้งที่รัฐบาลประกาศว่า จะเตรียมพร้อมอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า รัฐบาลล้มเหลวในการจัดสรรงบประมาณที่จำเป็นเพื่อตอบสนองคำสัญญาดังกล่าว อีกทั้งเน้นการกู้ฟื้นแทนที่จะป้องกัน

จอง ชางซัม ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมของมหาวิทยาลัยอินดุก ในโซลที่เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า การป้องกันช่วยลดความเสียหายและการเสียชีวิต แต่ในสายตานักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว มันเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นประโยชน์ชัดเจนทันทีเฉพาะหน้า ดังนั้นพวกเขาจึงมักละเลยมองข้าม

จองยกตัวอย่างแผนการที่จะติดตั้งกำแพงกั้นน้ำ แบบที่สามารถควบคุมโดยรีโมตคอนโทรลในอุโมงค์ทางลอด โดยที่เริ่มมีการติดตั้งกำแพงแบบนี้ภายหลังเหตุการณ์น้ำท่วมในปูซานที่มีผู้ขับขี่เข้าไปติดอยู่และเสียชีวิต 3 คนในปี 2020 ทว่าแผนการนี้ไม่มีการขยายผลออกไปไปยังพื้นที่เสี่ยงเกิดน้ำไหลบ่าท่วมท้นอย่างรวดเร็วในอีกหลายๆ แห่ง ซึ่งรวมถึงเมืองชองจูด้วย

ทั้งนี้ ทางการเกาหลีใต้ให้สัญญาทุ่มงบ 2 ล้านล้านวอน (1,600 ล้านดอลลาร์) เพื่อป้องกันภัยพิบัติธรรมชาติในปี 2022 หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 20%

ทว่า ภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยภูเขาและการพัฒนาเมืองทำให้หลายพื้นที่เสี่ยงเกิดดินถล่ม ขณะที่ความพร้อมในการรับมือสภาพอากาศรุนแรงยังไม่สมบูรณ์

ผลศึกษาของสำนักงานอุตุนิยมวิทยาเกาหลีเมื่อปี 2020 พบว่า ต้นทุนสำหรับความเสียหายของทรัพย์สินและการเสียชีวิตจากสภาพอากาศรุนแรงเพิ่มขึ้น 3 เท่าเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยต่อปีในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ในบรรดาเหยื่อทั้งหมดในเหตุน้ำท่วม-ดินถล่มล่าสุดรวมถึงผู้เสียชีวิตหรือสูญหาย 27 คนในจังหวัดคยองซังเหนือ

จอง จากมหาวิทยาลัยอินดุกชี้ว่า ผู้ที่สมควรถูกกล่าวโทษจากความสูญเสียนี้คือเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการจากข้อมูลที่มีช้าเกินไป และไม่ได้สร้างระบบเตือนภัยประชาชน

ทั้งนี้ ตำรวจในจังหวัดคยองซังเหนือเผยว่า กำลังสอบสวนจังหวะเวลาในการสั่งอพยพ แต่ยังไม่มีการเรียกตัวเจ้าหน้าที่ไปสอบปากคำแต่อย่างใด

ลู ซูกอน อดีตศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมโยธาของมหาวิทยาลัยโซล ประเมินว่า เกาหลีใต้มีพื้นที่เสี่ยงเกิดดินถล่มกว่าล้านจุด แต่มีเพียง 1 ใน 10 เท่านั้นที่ได้รับการตรวจติดตามจากทางการ และเสริมว่า รัฐบาลท้องถิ่นมักทุ่มงบประมาณรับมือภัยพิบัติธรรมชาติให้การกู้ฟื้นถึง 70% แต่กันงบสำหรับการป้องกันแค่ 30% ซึ่งตรงข้ามกับประเทศก้าวหน้าที่ใช้จ่ายด้านการป้องกัน 70% และกู้ฟื้น 30%

(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี, เอพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น