MGR ออนไลน์ - หลังจากทวีกำลังขึ้นเป็นพายุโซนร้อน พายุตาลิม (Talim) คาดว่าจะถึงแผ่นดินใหญ่เวียดนามในอีกไม่กี่วันข้างหน้า โดยพายุตาลิมถือเป็นพายุลูกแรกนอกชายฝั่งเวียดนามในปีนี้
ศูนย์อุตุนิยมวิทยาและอุทกวิทยาแห่งชาติเวียดนามระบุว่า ภายในเวลา 7.00 น. ของวันจันทร์ (17) พายุจะเคลื่อนตัวอยู่ทางเหนือของทะเลตะวันออก ห่างจากเมืองเหลยโจวของจีน ทางตะวันออกเฉียงใต้ราว 340 กิโลเมตร จากนั้นพายุจะเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ด้วยความเร็ว 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ภายในเวลา 7.00 น. ของวันอังคาร (18) พายุจะเคลื่อนตัวเข้าสู่เมืองเหลยโจว
และภายในเวลา 7.00 น. ของวันพุธ (19) พายุจะเข้าสู่พื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเวียดนาม
ด้านสถานีอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่น คาดการณ์ว่าพายุจะยังคงมีกำลังแรงที่ 126 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเมื่อพัดผ่านเมืองเหลยโจว และเกาะไหหลำ และจะลดกำลังลงเหลือ 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อเข้าใกล้แผ่นดินใหญ่เวียดนาม
ขณะที่หอดูดาวฮ่องกงคาดการณ์ว่าพายุลูกนี้จะยังคงมีกำลังแรงที่ 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเมื่อเข้าสู่อ่าวตังเกี๋ย และส่งผลกระทบต่อจังหวัดชายฝั่งอย่าง จ.กว๋างนีง เมืองไฮฟอง และพื้นที่ราบปากแม่น้ำทางตอนเหนือ ซึ่งเป็นที่ตั้งของกรุงฮานอย
เหวียน วัน เฮือง หัวหน้าแผนกพยากรณ์อากาศของศูนย์พยากรณ์อุทกวิทยาแห่งชาติ กล่าวว่า พายุตาลิมจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อ จ.กว๋างนีง และเมืองไฮฟอง ในวันที่ 18-19 ก.ค.
อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้อีกทางหนึ่งว่าหลังจากพายุพัดผ่านเมืองเหลยโจวแล้วจะเคลื่อนตัวไปทางใต้ และขยายผลกระทบไปทางใต้ของพื้นที่ราบปากแม่น้ำทางตอนเหนือ แม้สถานการณ์ดังกล่าวมีความเป็นไปได้น้อย แต่จำเป็นต้องเฝ้าระวัง เหวียน วัน เฮือง กล่าว
นอกจากกระแสลมแรงแล้ว พายุลูกนี้ยังทำให้เกิดฝนตกหนักเป็นเวลานานในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งเหวียน วัน เฮือง แนะนำให้ทางการท้องถิ่นต่างๆ เตรียมรับมือกับฝนตกหนัก และน้ำท่วมเมือง พายุยังสามารถทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและดินถล่มในจังหวัดภูเขาทางภาคเหนืออีกด้วย
“ฝนตกหนักเกิดขึ้นหลังจากพายุฝนและความร้อนติดต่อกันหลายวัน เพิ่มความเสียงที่จะเกิดน้ำท่วมฉับพลันและดินถล่มตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. ในภาคเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดลางเซิน กาวบ่าง ห่าซยาง ลาวกาย และเอียนบ่าย” เฮือง กล่าวเสริม
คณะกรรมการป้องกันภัยพิบัติแห่งชาติได้ร้องขอให้ท้องถิ่นตั้งแต่ จ.กว๋างนีง ในภาคเหนือไปจนถึง จ.ฝูเอียน ทางชายฝั่งภาคกลางตอนใต้ เฝ้าติดตามพัฒนาการของพายุและเตรียมรับมือ
ส่วนพื้นที่ภูเขาทางตอนเหนือจำเป็นต้องอพยพผู้คนในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงต่อน้ำท่วมฉับพลันและดินถล่ม และเตรียมสิ่งของจำเป็นและอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อรับมือกับพายุ
ศูนย์อุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าจะมีดีเปรสชันเขตร้อน และพายุก่อตัวขึ้นในทะเลจีนใต้อีก 2-3 ลูกในปีนี้.