(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
EU push to rip and replace Huawei 5G meets resistance
By SCOTT FOSTER And DAVID P GOLDMAN
20/06/2023
ดอยท์เชอ เทเลคอม, ผู้คุมกฎด้านการสื่อสารโทรคมนาคมของออสเตรีย ต่างโต้แย้งคัดค้านความพยายามล่าสุดของคณะกรรมาธิการอียู ที่ประทับตรากล่าวหาว่า หัวเว่ย เป็น “ผู้ค้าที่มีความเสี่ยงสูง”
กรรมาธิการอียูฝ่ายกิจการภายใน เธียร์รี เบรตอง (Thierry Breton) ต้องการให้เยอรมนี และประเทศยุโรปอื่นๆ ยุติการถ่วงเวลาและกำจัดอุปกรณ์ของจีนออกไปจากเครือข่ายสื่อสาร 5จี ของพวกเขา เวลานี้อุตสาหกรรมเทเลคอมยุโรปและบริษัท หัวเว่ย ของจีน กำลังตอบโต้กลับ
ระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา เบรตองอ้างอิงเอกสารชี้แนะแนวทางปฏิบัติของสหภาพยุโรปหลายฉบับ ที่ขอให้บรรดาประเทศสมาชิกดำเนินการประเมิน “พวกผู้ค้าที่มีความเสี่ยงสูง” และกล่าวต่อไปว่า “จนถึงปัจจุบัน มีพวกเขาเพียง 10 รายเท่านั้นที่ได้ใช้สิทธิพิเศษเหล่านี้มาจำกัดควบคุมหรือตัดทิ้งพวกผู้ค้าที่มีความเสี่ยงสูงออกไปเลย นี่เป็นก้าวเดินที่ช้าเกินไป และมันทำท่าว่าจะก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านความมั่นคงปลอดภัยอย่างสำคัญขึ้นมา รวมทั้งเปิดโปงให้เกิดจุดอ่อนในด้านความมั่นคงร่วมกันของสหภาพ (ยุโรป) เนื่องจากมันทำให้อียูต้องเกิดการพึ่งพาขึ้นต่อ (หัวเว่ย) อย่างสำคัญขึ้นมา และทำให้กลายเป็นจุดอ่อนเปราะที่ร้ายแรง”
“เราไม่สามารถที่จะแบกรับการต้องพึ่งพาขึ้นต่อที่ทรงความสำคัญอย่างยิ่งยวดเช่นนี้ ซึ่งอาจกลายเป็นอาวุธที่สร้างความเสียหายให้แก่ผลประโยชน์ของพวกเราได้” เขากล่าวย้ำ
ทางด้าน ดอยท์เชอ เทเลคอม (Deutsche Telekom) รีบออกมาปฏิเสธอย่างรวดเร็วต่อข้อกล่าวอ้างที่ว่า พวกเครือข่ายไร้สายที่สร้างโดยบริษัทหัวเว่ยของจีน สามารถที่จะถูกสั่งเปลี่ยนแปลงจากทางไกล ซึ่งจะสร้างความเสียหายหรือถูกโจรกรรมข้อมูลได้ ในคำแถลงลงวันที่ 16 มิถุนายน ซึ่งส่งไปถึงเว็บไซต์ข่าวภาษาเยอรมัน golem.de ผู้บริหารที่ทำหน้าที่เป็นโฆษกผู้หนึ่งของบริษัทผู้ให้บริการการสื่อสารสัญชาติเยอรมนีรายนี้ประกาศว่า “การอัปเดต (ทางซอฟต์แวร์) ใดๆ ที่จะนำเข้าไปในระบบซึ่งกำลังทำงานอยู่ ไม่มีทางเกิดขึ้นได้โดยไม่ได้มีการทดสอบอย่างเต็มที่เสียก่อนทั้งในเรื่องการทำงาน และเรื่องความมั่นคงปลอดภัย”
“ระบบการบริหารจัดการเครือข่าย (ของดอยท์เชอ เทเลคอม) ตั้งอยู่ในเครือข่ายที่มีการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระดับสูง ซึ่งแยกต่างหากอย่างสมบูรณ์จากอินเทอร์เน็ต และจากเครือข่ายการสื่อสารทางสำนักงานของบริษัท” สเตฟาน บรอสซิโอ (Stephan Broszio) ผู้บริหารของดอยท์เชอ เทเลคอม ยืนยัน ทั้งนี้ ตามรายงานของสื่อหลายๆ ราย เขากล่าวต่อไปว่า สิทธิใน “การเข้าถึงเครือข่ายนี้ อนุญาตให้เฉพาะแค่ลูกจ้างสองสามคนของบริษัทโดยต้องผ่านการตรวจสอบทบทวนด้านความมั่นคงปลอดภัยอย่างเข้มงวด การโจมตีแบบทางไกลด้วยฝีมือของบริษัทผู้ผลิต (หมายถึง หัวเว่ย) เป็นสิ่งที่ไม่มีความเป็นไปได้”
เวลาเดียวกัน เคลาส์ สไตน์มาวเออร์ (Klaus Steinmauer) ประธานผู้คุมกฎด้านการสื่อสารโทรคมนาคมของออสเตรีย บอกกับสำนักข่าวออสเตรีย (Austrian News Agency) ว่า เขา “มองไม่เห็นอันตรายใดๆ ที่จะมาจากหัวเว่ย” และกล่าวต่อไปว่า “ผมไม่เห็นมีตัวอย่างแม้แต่ตัวอย่างเดียว” ว่าเกิดปัญหาอย่างที่พูดกันขึ้นมา
กระนั้นก็ตาม คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ที่เป็นองค์กรบริหารของอียู ยังคงเดินหน้าแผนการที่จะถอดถอนอุปกรณ์ของหัวเว่ย และแซดทีอี (ZTE) ออกไปจากสำนักงานต่างๆ ของตน รวมทั้งแนะนำรับรองให้รัฐสภายุโรป (European Parliament) และคณะมนตรียุโรป (European Council) กระทำอย่างเดียวกัน ทว่าคณะกรรมาธิการยุโรปไม่ได้มีอำนาจที่จะสั่งให้รัฐบาลของแต่ละชาติสมาชิกอียูสั่งเพิกถอนห้ามปรามไม่ให้ใช้ผู้ค้าเฉพาะเจาะจงใดๆ ในโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารโทรคมนาคมของพวกเขา
แต่เนื่องจากกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนีในเวลานี้อยู่ในโควตาของพรรคกรีน (Green Party) ที่มีแนวทางโปรอเมริกันแบบสุดลิ่มทิ่มประตู ดังนั้น กระทรวงนี้จึง “สนับสนุนเรียกร้องให้ใช้นโยบายอันเข้มงวดกวดขันกับพวกกิจการเทเลคอมจีน” ฮันเดลสบลัตต์ (Handelsblatt) หนังสือพิมพ์รายวันแนวข่าวธุรกิจในเยอรมนี รายงานเอาไว้เช่นนี้ในวันที่ 19 มิถุนายน
แต่สำหรับกระทรวงมหาดไทยของเยอรมนี ซึ่งอยู่ในโควตาของพรรคโซเชียลเดโมแครต (the Social-Democratic Party) ในคณะรัฐบาลผสมชุดปัจจุบันของเยอรมนีที่ประกอบด้วย 3 พรรคการเมือง บอกว่า ยังไม่มีจุดยืนที่ชัดเจนในเรื่องนี้ “ผู้ทำหน้าที่เป็นโฆษกรายหนึ่งให้แก่กระทรวงมหาดไทย บอกว่าเปิดกว้างสำหรับเรื่องที่จุดยืนของคณะกรรมาธิการอียูซึ่งมีต่อหัวเว่ย และแซดทีอี จะแสดงบทบาทขนาดไหน” ในนโยบายของเยอรมนี หนังสือพิมพ์เยอรมันฉบับนี้รายงานต่อ
ทางหน่วยงานกำกับตรวจสอบด้านการสื่อสารโทรคมนาคมของเยอรมนี ได้เริ่มต้นการประเมินค่าความมั่นคงปลอดภัยของระบบต่างๆ ที่สร้างขึ้นโดยหัวเว่ย ตั้งแต่เมื่อ 4 ปีก่อน ภายใต้แรงกดดันจากวอชิงตัน เวลานี้การประเมินดังกล่าวยังคง “ดำเนินอยู่” กระทรวงมหาดไทยแจกแจง
การกำจัดอุปกรณ์ 5จี ของจีน –ส่วนใหญ่แล้วเป็นอุปกรณ์จากหัวเว่ย แต่มีอยู่บ้างที่มาจาก แซดทีอี – เป็นเรื่องที่จะเสียค่าใช้จ่ายแพงลิ่ว รวมทั้งจะก่อให้เกิดการสะดุดติดขัดอย่างมากในบริการเทเลคอมไร้สายในยุโรป โดยที่มีการประมาณการกันเอาไว้ว่าค่าใช้จ่ายโดยรวมน่าจะไปถึงหลักหลายสิบล้านยูโรทีเดียว
จอห์น สแตรนด์ (John Strand) ซึ่งกิจการที่ปรึกษาของเขามักถูกอ้างอิงอยู่เสมอในเวลามีการพูดถึงความเสี่ยงด้านความมั่นคงปลอดภัยที่กล่าวหากันว่าเกี่ยวข้องกับหัวเว่ย บอกกับสื่อมวลชนว่า การอนุญาตให้หัวเว่ย เข้าร่วมในเครือข่าย 5จี “ก็เหมือนกับการเชื้อเชิญใครบางคนที่คุณไม่ไว้วางใจไปเยี่ยมเยียนออฟฟิศลับๆ ของคุณนั่นแหละ มันสามารถที่จะกลายเป็นเรื่องเสี่ยงภัยสำหรับความมั่นคงปลอดภัยของยุโรป และแผนการของอียูที่จะเป็นอิสระเป็นตัวของตัวเอง”
กระนั้นก็ตาม เนเธอร์แลนด์ –ซึ่งสั่งห้ามการส่งออกเครื่องจักรอุปกรณ์พิมพ์ลายเซมิคอนดักเตอร์ EUV ระดับก้าวหน้าของบริษัท ASML ให้แก่จีน รวมทั้งมีรายงานว่า หัวเว่ย ได้ถูกจับตาตรวจสอบจากสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติของประเทศนี้มาตั้งแต่ปี 2019 – ยังคงพึ่งพาอาศัยหัวเว่ย สำหรับโครงสร้างพื้นฐานด้านเทเลคอมของตนอย่างมากมาย โดยมีรายงานชิ้นหนึ่งระบุว่าสูงถึง 72%
(ดูเพิ่มเติมเรื่อง หัวเว่ย ถูกสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติของเนเธอร์แลนด์จับตามอง ได้ที่ https://www.reuters.com/article/us-netherlands-huawei-tech/dutch-spy-agency-investigating-alleged-huawei-backdoor-volkskrant-idUSKCN1SM0UY)
(ดูเพิ่มเติมเรื่องเนเธอร์แลนด์ยังต้องพึ่งพา หัวเว่ย สูงมาก ได้ที่ https://www.vogon.today/startmag/5g-this-is-how-much-eu-countries-have-flirted-with-the-chinese-huawei-and-zte/2022/12/27/)
หัวเว่ย ยังเป็นผู้เข้าร่วมที่กระตือรือร้นรายหนึ่งในโครงการ “ฮอไรซอน ยุโรป” (Horizon Europe) ตลอดจนโปรแกรมวิจัยอื่นๆ ของอียูที่เป็นการปฏิบัติงานเกี่ยวกับเทคโนยีต่างๆ โดยมีรายงานระบุว่า มีตั้งแต่เรื่องของปัญญาประดิษฐ์ ไปจนถึงยวดยานที่ขับขี่ควบคุมแบบอัตโนมัติ การประมวลผลประสิทธิภาพสูง (high-performance computing) และการตรวจวัดเชิงควอนตัม (quantum sensing)
แน่นอนอยู่แล้วที่ หัวเว่ย ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาของคณะกรรมาธิการยุโรป ในคำแถลงเผยแพร่ต่อสื่อมวลชนลงวันที่ 18 มิถุนายน บริษัทซึ่งตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง แห่งนี้ กล่าวเอาไว้ดังนี้ :
“หัวเว่ย คัดค้านอย่างแรงกล้าและไม่เห็นด้วยกับความเห็นต่างๆ ที่แสดงโดยเหล่าตัวแทนจากคณะกรรมาธิการยุโรป เห็นได้อย่างชัดเจนว่าความเห็นเหล่านี้ไม่ได้ยึดโยงอยู่กับการประเมินทางเทคนิคเครือข่าย 5จี อย่างมีการตรวจสอบความถูกต้อง โปร่งใส และปราศจากอคติ
“หัวเว่ย เข้าใจถึงความกังวลสนใจของคณะกรรมาธิการยุโรปที่มุ่งพิทักษ์ปกป้องความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ภายในอียู อย่างไรก็ตาม การจำกัดควบคุมหรือการกีดกันตัดออกไปโดยยึดโยงอยู่กับการวินิจฉัยอย่างมุ่งแบ่งแยกนั้น จะก่อให้เกิดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและทางสังคมอย่างร้ายแรง มันจะเป็นการขัดขวางนวัตกรรมและบิดเบือนตลาดอียู ...
“การเจาะจงพูดถึงในที่สาธารณะว่ากิจการรายหนึ่งเป็น ‘HRV’ (High Risk Vendor ผู้ค้าที่มีความเสี่ยงสูง) โดยไม่มีการยึดโยงอยู่กับพื้นฐานทางกฎหมาย คือการกระทำที่ละเมิดหลักการของการค้าเสรี”
คำแถลงยังกล่าวเชิญชวนทั้งลูกค้าทั้งหลายและหน่วยงานทดสอบทั้งหลายให้ไปยังศูนย์ความโปร่งใสทางด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber Security Transparency Centre) ของหัวเว่ย ในกรุงบรัสเซลส์ “เพื่อดำเนินการทดสอบและการพิสูจน์ยืนยันทางด้านความมั่นคงปลอดภัยอย่างเป็นธรรม ปราศจากอคติ และเป็นอิสระ โดยสอดคล้องกับมาตรฐานและแนวปฏิบัติอันเป็นเลิศด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ซึ่งเป็นที่รับรองกันในอุตสาหกรรมนี้”
นี่จะไม่สามารถพิสูจน์ยืนยันได้ว่าจีน (หรือประเทศอื่นๆ บางประเทศ) จะไม่พยายามหาทางใช้อุปกรณ์ 5จี ของหัวเว่ย (หรือของรายอื่นๆ) ในการปฏิบัติการสอดแนมสืบความลับในยุโรปในอนาคต แต่มันจะช่วยขจัดความสงสัยข้องใจของเบรตอง และคณะกรรมาธิการยุโรป ที่บังเกิดขึ้นมาเพียงเพราะการเดินตามคำแนะนำสอนสั่งจากสหรัฐอเมริกาเท่านั้น