xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” ปลื้มขึ้นทะเบียนชาวสวนยางได้แล้วกว่า 90% เตรียมความพร้อมส่งออกยางพาราไทยสู่ตลาด EU

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ ยินดีรัฐบาลขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางได้แล้วกว่า 90% เตรียมความพร้อมส่งออกยางพาราไทยสู่ตลาด EU ตามกฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (EUDR)

วันนี้ (25 มิ.ย.) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามความคืบหน้าการสนับสนุนยางพาราไทย กรณีหน่วยงานภาครัฐของไทยและหน่วยงานของสหภาพยุโรป (EU) ได้หารือร่วมกันเพื่อผลักดันยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางของไทยให้สามารถส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรปได้มาตรฐานในระดับสากล ตามกฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EU Deforestation Regulation : EUDR) สั่งการให้ทุกภาคส่วนเตรียมพร้อมให้สามารถส่งออกยางพาราไทยได้อย่างเต็มศักยภาพ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เนื่องในโอกาสการเยือนไทยของผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม (Directorate-General for the Environment: DG ENV) ของสหภาพยุโรป (EU) กรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ ได้จัดการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงพาณิชย์ โดยได้หารือร่วมกันถึงประเด็นกฎหมาย EUDR และการเตรียมความพร้อมของภาครัฐและภาคเอกชนของไทยในการส่งออกสินค้าเกษตร โดยเฉพาะยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งมีผลความคืบหน้า ดังนี้

- ประเทศไทยมีนโยบายในการคุ้มครองพื้นที่ป่าไม้และกระบวนการทางกฎหมายในการตรวจสอบความเป็นเจ้าของที่ดิน ซึ่งสอดคล้องกับหลักการของกฎข้อบังคับการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อควบคุมการตัดไม้ทำลายป่าและการติดตามแหล่งที่มาของผลิตผลทางการเกษตรภายใต้การดำเนินงานของ EUDR ผู้แทนจากยุโรปมีความมั่นใจและชื่นชมการจัดการข้อมูลยางพาราของไทย

- กยท. จัดเก็บข้อมูลขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบการยางไว้ในระบบข้อมูล ซึ่งมีเกษตรกรชาวสวนยางไทย จำนวนกว่า 90% ที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. แล้ว โดยสามารถแสดงประเภทเอกสารทางกฎหมาย ระบุพื้นที่ตั้งของสวนยางได้

- กยท. ได้สำรวจและจัดทำแผนที่พิกัดแปลงเพื่อตรวจสอบข้อมูลที่ตั้งของแปลงที่ไม่บุกรุกป่า เทียบกับแผนที่ป่าอนุรักษ์ของกรมป่าไม้ประเทศไทย และ Global Forest Watch

- กยท. ได้ร่วมมือกับภาคเอกชนประเมินการจัดการความเสี่ยงภายใต้โครงการ “Rubber Way”เพื่อประเมินและสร้างแผนที่ทางสังคมและสิ่งแวดล้อมในห่วงโซ่คุณค่า ซึ่งเป็นเป้าหมายในการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG)

ทั้งนี้ กฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR) กำหนดให้บริษัทผู้นำเข้าของ EU ที่นำเข้าสินค้า 7 รายการ ได้แก่ ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ วัว โกโก้ กาแฟ ปาล์มน้ำมัน ถั่วเหลือง และยางพารา รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ที่ได้จากพืชหลายชนิด เช่น ช็อกโกแลต เฟอร์นิเจอร์ กระดาษพิมพ์ โดยต้องจัดทำรายงาน (mandatory due diligence rules) เพื่อยืนยันการตรวจสอบสินค้าเหล่านี้ก่อนวางขายหรือส่งออกว่าเป็นสินค้าที่ถูกต้องตามกฎหมายของประเทศผู้ผลิตและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า

“นายกรัฐมนตรียินดีกับผลการดำเนินงานของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการผลักดันระบบการทำงานของไทย และผลักดันให้สินค้าไทยส่งออกได้ตามมาตรฐานในระดับสากล รวมทั้งต่อยอดสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สหภาพยุโรป ซึ่งอาจพัฒนาไปยังตลาดสินค้าอื่นๆ ที่ไทยมีศักยภาพ” นายอนุชา กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น