สหภาพยุโรป (อียู) เตรียมเผยแพร่รายงานในสัปดาห์นี้ ซึ่งจะระบุว่ายูเครนมีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ 2 ใน 7 ข้อ สำหรับการเริ่มต้นพิจารณารับเข้าเป็นสมาชิกอียู ในความเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ซึ่งผู้นำยุโรปหวังชี้ให้เห็นถึงความคืบหน้าในกระบวนการเปิดรับเคียฟเข้าร่วมกลุ่ม ท่ามกลางวิกฤตสงครามกับรัสเซีย
อียูประกาศรับรองยูเครนเป็นหนึ่งในประเทศผู้สมัคร หรือ “แคนดิเดต” อย่างเป็นทางการเมื่อปีที่แล้ว เพียง 4 เดือนหลังจากที่รัสเซียยกพลรุกรานดินแดนของอดีตรัฐในสภาพโซเวียตแห่งนี้
อย่างไรก็ตาม อียูได้ตั้งเงื่อนไขเอาไว้ทั้งหมด 7 ข้อสำหรับการพิจารณารับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกใหม่ หนึ่งในนั้นรวมถึงการปฏิรูประบบตุลาการ และปราบปรามขบวนการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งถือเป็นปัญหาเรื้อรังในยูเครน
รายงานของคณะกรรมาธิการยุโรปถือเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายที่สะท้อนความคืบหน้าของกระบวนการนี้ โดยกลุ่มชาติที่สนับสนุนยูเครนคาดหวังให้ 27 รัฐอียูตัดสินใจเริ่มเปิดเจรจากับยูเครนอย่างเป็นทางการภายในเดือน ธ.ค.
เจ้าหน้าที่ระดับสูงอียู 2 คนให้ข้อมูลว่า ยูเครนมีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ที่อียูกำหนดไว้แล้ว 2 ข้อ โดยเกี่ยวกับการปฏิรูประบบตุลาการและกฎหมายสื่อ และรายงานของอียูฉบับนี้จะเน้นกล่าวถึงความคืบหน้าในเชิงบวกของรัฐบาลยูเครน
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลยูเครนได้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงซึ่งมีพฤติกรรมทุจริตหลายราย หนึ่งในนั้นคือประธานศาลสูงสุดซึ่งถูกกล่าวหาว่ารับเงินสินบน 2.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากการปราบทุจริตแล้ว เงื่อนไขอื่นๆ ที่อียูกำหนดให้ยูเครนต้องดำเนินการให้สำเร็จเป็นรูปธรรมยังรวมถึงการปฏิรูปรัฐธรรมนูญและการบังคับใช้กฎหมาย มาตรการต่อต้านการฟอกเงิน กฎหมายควบคุมพวกเศรษฐีผู้มีอิทธิพล และการปกป้องสิทธิชนกลุ่มน้อย
รายงานฉบับชั่วคราวนี้จะถูกส่งให้คณะผู้แทนอียู 27 ประเทศที่บรัสเซลส์ ในวันพุธ (21) รวมถึงยื่นต่อที่ประชุมรัฐมนตรีฝ่ายกิจการยุโรปที่สตอกโฮล์มในวันพฤหัสบดี (22)
รัฐบาลยูเครนจำเป็นต้องปฏิรูปข้อกฎหมายต่างๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐานของอียูตั้งแต่เรื่องสภาพอากาศเรื่อยไปจนถึงแรงงาน ทว่าในทางปฏิบัติแล้วเส้นทางสู่สมาชิกภาพอียูอาจจะต้องใช้เวลาอีกนานหลายปี และผู้เกี่ยวข้องส่วนใหญ่เชื่อว่ายุโรปคงจะยังไม่อ้าแขนรับยูเครน ตราบใดที่ยังพัวพันสงครามกับรัสเซียอยู่
ชาติยุโรปตะวันออก เช่น โปแลนด์และบรรดารัฐบอลติกสนับสนุนให้อียูเปิดช่องทาง “ฟาสต์แทร็ก” รับยูเครนเข้าเป็นสมาชิก ขณะที่ประเทศใหญ่ๆ อย่างฝรั่งเศส เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ ยังไม่มีท่าทีตอบรับไอเดียนี้
ที่มา : รอยเตอร์