xs
xsm
sm
md
lg

รัสเซียโต้ ‘โกหก’ หลังถูกเซเลนสกีกล่าวหาเล็ง ‘วินาศกรรม’ โรงไฟฟ้า ‘นุก’ ขณะปูตินเตือนมอสโกมีอาวุธไฮเทครอถล่มยูเครนอีกเพียบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


วลาดิมีร์ ซัลโด ผู้ว่าการแคว้นเคียร์ซอนที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัสเซีย ตรวจสอบสะพานชอนการ์ ที่เชื่อมคาบสมุทรไครเมียกับเคียร์ซอน ซึ่งได้รับความเสียหายจากขีปนาวุธที่ฝ่ายยูเครนยิงเข้ามา ทั้งนี้ ภาพนี้ถ่ายจากวิดีโอที่ซัลโดเผยแพร่ทางแพลตฟอร์มเทเลแกรม
เซเลนสกีอ้างสายลับยูเครนได้เบาะแสว่า รัสเซียกำลังเล็งก่อการร้ายโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริซเซีย ขณะที่เครมลินโต้ “แค่เรื่องโกหก” นอกจากนี้ ผู้นำยูเครนยังยอมรับว่า ปฏิบัติการตอบโต้ของฝ่ายเคียฟไปได้ “ช้ากว่าที่คาด” ด้านปูตินได้ทีสำทับว่า ปฏิบัติการดังกล่าวแผ่วไป พร้อมสำทับว่า มอสโกยังมีอาวุธไฮเทคเตรียมส่งไปใช้ในสมรภูมิยูเครนอีกเพียบ

ในวิดีโอที่เผยแพร่บนแอปเทเลแกรมเมื่อวันพฤหัสฯ (22 มิ.ย.) ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี อ้างว่า หน่วยข่าวกรองของยูเครนได้รับข้อมูลมาว่า รัสเซียกำลังพิจารณาสถานการณ์การก่อการร้ายด้วยการปล่อยให้รังสีรั่วไหลจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริซเซีย และได้จัดเตรียมทุกอย่างพร้อมแล้ว

ผู้นำยูเครนไม่ได้ระบุหลักฐาน แต่บอกว่า ได้แบ่งปันข้อมูลนี้กับพันธมิตรในยุโรป อเมริกา จีน และอินเดียแล้ว ขณะที่รัสเซียตอบโต้ว่า เป็นแค่เรื่องโกหก และสำทับว่า ทีมเจ้าหน้าที่ตรวจสอบนิวเคลียร์ของสหประชาชาติได้ตรวจสอบโรงไฟฟ้าดังกล่าวแล้ว และระบุว่า ทุกอย่างเป็นปกติดี

โรงไฟฟ้าซาโปริซเซียซึ่งเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใหญ่ที่สุดในยุโรปอยู่ภายใต้การควบคุมของรัสเซียหลังจากมอสโกยกทัพรุกรานยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้วไม่นานนัก และทั้งสองฝ่ายมักกล่าวหากันว่า ยิงปืนใหญ่โจมตีโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ขณะที่ความพยายามของนานาชาติในการกำหนดให้พื้นที่โดยรอบโรงไฟฟ้าซาโปริซเซียเป็นเขตปลอดทหารล้มเหลวมาตลอด

ก่อนหน้านี้เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา หัวหน้าข่าวกรองทางทหารของยูเครนเพิ่งกล่าวหารัสเซีย “วางระเบิด” บ่อระบายความร้อนโรงไฟฟ้าซาโปริซเซีย

สำหรับสถานการณ์ทางด้านอื่นๆ วลาดิมีร์ ซัลโด ผู้ว่าการแคว้นเคียร์ซอนที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัสเซีย เปิดเผยว่า สะพานชอนการ์ ที่เชื่อมคาบสมุทรไครเมียกับเคียร์ซอนถูกโจมตีได้รับความเสียหายจากขีปนาวุธของฝ่ายยูเครนเมื่อคืนวันพุธ ทำให้การสัญจรต้องเปลี่ยนไปใช้เส้นทางอื่น แต่ไม่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต

สะพานดังกล่าวเป็นเส้นทางที่กองทัพรัสเซียใช้ในการเดินทางระหว่างไครเมียที่รัสเซียเข้าผนวกจากยูเครนเมื่อปี 2014 กับดินแดนต่างๆ ที่รัสเซียยึดครองในยูเครน ซึ่งรวมถึงแคว้นเคียร์ซอน

สำนักข่าวอาร์ไอเอของแดนหมีขาว รายงานเพิ่มเติมโดยอ้างการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่สอบสวนของรัสเซียระบุว่า กองกำลังยูเครนเป็นฝ่ายยิงขีปนาวุธ 4 ลูก โจมตีสะพานชอนการ์ และจรวดลูกหนึ่งมีสัญลักษณ์ที่บ่งชี้ว่า อาจผลิตในฝรั่งเศส ขณะที่ซัลโดชี้ว่า ยูเครนอาจใช้จรวดสตอร์ม ชาโดว์ของอังกฤษ

นอกจากนั้น เมื่อวันพุธ (21 มิ.ย.) สื่อรัสเซียยังรายงานว่า รัสเซียยิงโดรน 3 ลำตกขณะกำลังมุ่งโจมตีคลังอาวุธที่ตั้งอยู่นอกมอสโก โดยกระทรวงกลาโหมรัสเซียระบุว่า เป็นความพยายามก่อการร้ายที่ล้มเหลวของยูเครน

วันเดียวกันนั้น ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ได้กล่าวถึงปฏิบัติการตอบโต้ของยูเครนล่าสุดว่า “ซาลงไปแล้ว” แต่สำทับว่า กองกำลังเคียฟกำลังรวมพลอีกครั้งหลังจากสูญเสียอย่างหนัก พร้อมเตือนว่า ศักยภาพในการตอบโต้ของยูเครนยังไม่หมด รวมทั้งยังมีกองหนุนซึ่งยูเครนกำลังพิจารณาว่าจะใช้อย่างไรและที่ใด

กระนั้น ประมุขวังเครมลินบอกว่า รัสเซียเองยังมียานร่อนไฮเปอร์โซนิก (ความเร็วเหนือเสียง 5 เท่าขึ้นไป) แบบ “อแวนการ์ด” ที่สามารถติดตั้งขีปนาวุธข้ามทวีป (ไอซีบีเอ็ม) บางประเภท ซึ่งจะนำไปใช้ในสงครามยูเครน เช่นเดียวกับไอซีบีเอ็ม “ซาร์มัต” รุ่นใหม่ที่พันธมิตรนาโตเรียกว่า “ซาตาน” และโดรนอีกมากมาย

ทั้งนี้ เมื่อวันพุธเซเลนสกีให้สัมภาษณ์สื่อบีบีซีของอังกฤษ ยอมรับว่า ปฏิบัติการตอบโต้เพื่อชิงดินแดนคืนจากรัสเซีย “ช้ากว่าที่ต้องการ” แต่ยืนยันว่า เคียฟจะไม่เร่งรัดเนื่องจากมีชีวิตประชาชนเป็นเดิมพัน

อย่างไรก็ดี ในอีกคลิปหนึ่ง เซเลนสกีได้กล่าวถึงความสำเร็จของกองกำลังยูเครนที่สามารถรุกคืบแนวรบด้านใต้ และรักษาแนวป้องกันทางตะวันออกไว้ได้

นอกจากการต่อสู้ในสนามรบแล้ว ยังมีความพยายามทางการทูตเพื่อยุติสงครามในยูเครน โดยเจ้าหน้าที่ตะวันตกคนหนึ่งเผยว่า เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของอเมริกา จะร่วมการประชุมที่ยูเครนจัดขึ้นในเดนมาร์กสุดสัปดาห์นี้ ซึ่งจะเชิญเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากอเมริกา สหภาพยุโรป (อียู) ประเทศอื่นๆ ที่สนับสนุนเคียฟ รวมถึงชาติที่ยังคงเป็นกลางในกรณีการรุกรานของรัสเซีย

หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์เป็นสื่อแห่งแรกที่รายงานข่าวการประชุมนี้ตั้งแต่ที่ยังไม่มีการประกาศออกมา โดยระบุว่า การประชุมมีเป้าหมายเพื่อหารือวิธีบรรลุสันติภาพที่เป็นธรรมและยั่งยืนในยูเครน

สื่ออังกฤษฉบับนี้รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า ยูเครนขอให้อเมริกาชวนอินเดีย บราซิล และแอฟริกาใต้ ตลอดจนถึงจีนซึ่งล้วนเป็นสมาชิกกลุ่มบริกส์ และไม่ได้ร่วมแซงก์ชันมอสโกกับตะวันตก รวมทั้งตุรกีที่เป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) และมีสัมพันธ์อันดีกับรัสเซีย เข้าร่วมประชุมด้วย

(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี, เอพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น