ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน และประธานาธิบดีเรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน แห่งตุรกี เห็นพ้องกันว่าผู้นำรัสเซียจะเดินทางเยือนตุรกี "เร็วๆ นี้" สำนักข่าวอินเตอร์แฟ็กซ์ รายงานอ้างคำบอกเล่าของผู้ช่วยระดับสูงในวังเครมลินในวันศุกร์ (16 เม.ย.)
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่ ปูติน เดินทางเยือนประเทศสมาชิกหนึ่งของนาโต นับตั้งแต่เขาส่งทหารหลายหมื่นนายเข้าไปในยูเครน เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 ทั้งนี้ ปูติน แทบไม่ค่อยเดินทางออกนอกรัสเซียเท่าไหร่ นับตั้งแต่เริ่มรุกรานประเทศเพื่อนบ้านอย่างเต็มรูปแบบ
"มีคำเชิญมาจากประธานาธิบดีตุรกี ปูตินและแอร์โดอัน เห็นพ้องกันว่าการเดินทางเยือนจะมีขึ้นในอนาคตอันใกล้ แต่เรายังไม่ได้พูดคุยถึงวันเวลาอย่างเฉพาะเจาะจง" อินเตอร์แฟ็กซ์รายงานโดยอ้างคำสัมภาษณ์ของ ยูรี อูชาคอฟ ที่ปรึกษาด้านนโยบายต่างประเทศของวังเครมลิน
แอร์โดอัน ซึ่งได้รับเลือกตั้งเมื่อเดือนที่แล้ว กลับมาดำรงตำแหน่งอีกสมัยเป็นเวลา 5 ปี หาทางธำรงไว้ซึ่งความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับทั้งมอสโกและเคียฟ นับตั้งความขัดแย้งในยูเครนเริ่มต้นขึ้น
ตุรกี ปฏิเสธเข้าร่วมกับพันธมิตรตะวันตกในการกำหนดมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเล่นงานรัสเซีย แต่ขณะเดียวกัน พวกเขาได้จัดหาอาวุธมอบแก่ยูเครน และเรียกร้องให้เคารพอำนาจอธิปไตยของเคียฟ
อังการา ยังช่วยเป็นคนกลางในการแลกเปลี่ยนเชลยศึก และร่วมกับสหประชาชาติในการเจรจาต่อรองจนบรรลุข้อตกลงหนึ่งในเดือนกรกฎาคม ที่เปิดทางขนส่งธัญพืชอย่างปลอดภัยออกจากท่าเรือต่างๆ ของยูคเรน ผ่านทะเลดำ
ในเวลาต่อมา ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกของวังเครมลิน ยกย่องในสิ่งที่เขาเรียกว่า "ความร่วมมืออย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน" ระหว่างมอสโกกับอังการา พร้อมยกย่อง "การวางตัวที่สมดุล" ของแอร์โดอัน ในความขัดแย้งยูเครน "ดังนั้นเราจึงต้องทำทุกอย่างเพื่อรับประกันว่า ตุรกี เป็นเพื่อนบ้านที่ดีของเรา" เขากล่าว
ความเป็นไปได้ในการเดินทางเยือนตุรกีของประธานาธิบดีรัสเซีย มีขึ้นแม้ว่าศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ได้ออกหมายจับ ปูติน ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ตามคำกล่าวหาก่ออาชญากรรมสงครามในยูเครน นั่นหมายความว่าเขาเสี่ยงถูกจับหากว่าเดินทางไปต่างแดน อย่างไรก็ตาม อังการา ไม่ได้เป็นภาคีของธรรมนูญกรุงโรม ซึ่งก่อตั้งไอซีซี ดังนั้น ปูติน จึงไม่มีความเสี่ยงที่จะเดินทางเยือนตุรกี
ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนมีนาคม ดมิทรี เมดเวเดฟ อดีตประธานาธิบดี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานสภาความมั่นคงรัสเซีย เปรียบเทียบหมายจับ ปูติน ของศาลอาญาระหว่างประเทศ กับกระดาษชำระ ชี้ไม่มีความหมายใดๆ เนื่องจากรัสเซียไม่ได้เป็นรัฐสมาชิกของไอซีซี
เช่นเดียวกับ มาเรีย ชาคาโรวา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ที่เขียนบนช่องเทเลแกรมในตอนนั้นแสดงความคิดเห็นว่า หมายจับของศาลอาญาระหว่างประเทศไม่มีความหมายใดๆ เลย "การตัดสินใจของศาลอาญาระหว่างประเทศไม่มีความหมายต่อประเทศของเรา ในนั้นรวมถึงจากมุมมองทางกฎหมาย"
"รัสเซียไม่ได้เป็นฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดของธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ และไม่มีพันธสัญญาภายใต้ธรรมนูญดังกล่าว" ชาคาโรวา กล่าว
(ที่มา : รอยเตอร์/เอเจนซี)