xs
xsm
sm
md
lg

เค้าลางวุ่นวาย! สื่อนอกอ้างนักวิเคราะห์มอง 'ก้าวไกล' ส่อไม่ได้เป็นรัฐบาล เสี่ยงผลักผู้ประท้วงลงถนน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไม่กี่สัปดาห์นับตั้งแต่ศึกเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ของไทย ซึ่งเห็นบรรดาพรรคฝ่ายค้านได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด เวลานี้ได้เกิดคำถามขึ้นมาแล้วว่า พวกผู้ชนะอาจไม่ได้แม้แต่โอกาสจัดตั้งรัฐบาล ตามรายงานของสำข่าววอยซ์ออฟอเมริกา ที่อ้างความเห็นของเหล่านักวิเคราะห์ ท่ามกลางอุปสรรคต่างๆ ที่พรรคก้าวไกลต้องเผชิญ ในนั้นรวมถึงกรณีถือครองหุ้นสื่อของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค

รายงานของวอยซ์ออฟอเมริกา ระบุว่า สำหรับคนไทยจำนวนมาก การเลือกตั้งครั้งนี้ถูกมองในฐานะเป็นประตูทางเข้าสำหรับมุ่งหน้าสู่ยุคสมัยใหม่ทางการเมือง และสิ้นสุดภาวะไร้เสถียรภาพนานหลายปี อันเนื่องจากการปกครองของทหาร ความไม่สงบ และเศรษฐกิจเสื่อมถอย

คนหลายล้านคนได้เลือกพรรคก้าวไกล ที่นำโดยนายพิธา ให้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลชุดถัดไป โดยพวกเขาได้รับเลือกตั้ง 151 จากทั้งหมด 500 ที่นั่งในรัฐสภา และจากนั้นพวกเขาได้ประกาศจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคฝ่านค้านอื่นๆ อีก 7 พรรค ในนั้นรวมถึงพรรคเพื่อไทย ซึ่งเคยคว้าชัยชนะในหนก่อนๆ ส่งผลให้มีคะแนนเสียงรวมกันถึง 312 เสียง

อย่างไรก็ตาม ในรายงานของวอยซ์ออฟอเมริกา ระบุว่า การจัดตั้งรัฐบาลต้องได้รับการสนับสนุนจากส่วนใหญ่ในสภาล่างและในวุฒิสภาที่ได้รับการแต่งตั้งจากทหารที่มีทั้งหมด 250 เสียง ซึ่งเวลานี้ทางพรรคก้าวไกลยังคงอยู่ระหว่างรอดูว่าพวกเขาได้รับแรงสนับสนุนที่จำเป็น 376 เสียง เพียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่

วอยซ์ออฟอเมริกา อ้างความเห็นของนาย ณพล จาตุร์ศรีพิทักษ์ นักรัฐศาสตร์จากสถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษา ยูซุฟ อิสฮัค (ISEAS Yusof-Ishak) กลุ่มวิจัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีสำนักงานในสิงคโปร์ กล่าวว่านายพิธา และพรรคก้าวไกลต้องเผชิญความท้าทายต่างๆ นอกเหนือจากความจำเป็นต้องได้รับแรงสนับสนุนจากวุฒิสภา

"เหล่านี้รวมไปถึงความพยายามบั่นทอนคุณสมบัติของนายพิธา ในฐานะผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ผ่านสถาบันกรรมการ และแนวร่วมที่ไม่ราบรื่นเท่าไหร่กับพรรคเพื่อไทย ที่เตรียมได้รับประโยชน์จากการที่นายพิธา ถูกตัดสิทธิ" นายณพล ให้ความเห็น พร้อมแสดงความกังวลว่าแนวร่วมภายใต้การนำของพรรคก้าวไกลอาจแตกเป็นเสี่ยงๆ "อุปสรรคเหล่านี้บ่งชี้ว่าเส้นทางของพรรคก้าวไกลในการจัดตั้งรัฐบาล จะเป็นสิ่งที่ท้าทายสุดขั้วและเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน" เขาให้สัมภาษณ์กับวอยซ์ออฟอเมริกา

วอยซ์ออฟอเมริกา ระบุต่อว่า พรรคเพื่อไทย ตัวเต็งก่อนหน้าการเลือกตั้ง แต่ได้รับเลือกเข้ามาเป็นอันดับ 2 ด้วยจำนวน 141 ที่นั่ง ทางพรรคถูกมองว่ามีความน่าดึงดูดใจมากกว่าสำหรับบรรดาพวกอนุรักษนิยมและบรรดาผู้ภักดีต่อกองทัพในวุฒิสภา แต่เมื่อเร็วๆ นี้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค บอกว่าการถอนตัวจากการจัดตั้งรัฐบาลจะเป็น "ทางเลือกสุดท้าย"

ในเดือนพฤษภาคม พรรคก้าวไกลลงนามในบันทึกความเข้าใจกับอีก 7 พรรคคการเมือง ในวาระร่วม 23 ข้อ ซึ่งบางจุดสำคัญในนั้น รวมไปถึงการปฏิรูปกองทัพและยกเลิกเกณฑ์ทหาร แต่ที่หายไปในข้อตกลงร่วมคือการแก้ไขกฎหมายหมิ่นสถาบันของไทย ทั้งที่การแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 เป็นส่วนสำคัญในการรณรงค์หาเสียงของพรรคก้าวไกล

นายณพล กล่าวว่า อุปสรรคต่างๆที่นายพิธา และพรรคการเมืองของเขาต้องเผชิญ "เน้นย้ำว่าประเทศแห่งนี้กำลังติดขัดในการเคลื่อนย้ายออกจากระบอบลูกผสมทหาร ที่ยังคงมุ่งมั่นปกป้องประโยชน์ที่ครอบครองอยู่ในสถานภาพอนุรักษนิยมปัจจุบัน"

อีกหนึ่งปัญหาที่นายพิธา ต้องเผชิญคือ คณะกรรมการการเลือกตั้งของไทยได้เปิดการสืบสวนว่าเขารู้อยู่แล้วหรือไม่ว่าตนเองขาดคุณสมบัติแต่ยังลงสมัครรับเลือกตั้ง จากกรณีถือครองหุ้นสื่อมวลชนไอทีวี

รายงานของวอยซ์ออฟอเมริกา อ้างความเห็นของนายฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์และความมั่นคงระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าโอกาสที่พรรคก้าวไกลจะเป็นแกนนำในรัฐบาลใหม่แขวนอยู่บนเส้นด้าย

"อำนาจต่างๆ ของไทยดูเหมือนไม่เต็มใจปล่อยให้นายพิธา และพรรคก้าวไกลเข้าสู่อำนาจ เพราะว่าข้อเสนอปฏิรูปจริงจังของพวกเขาต่อกองทัพและสถาบัน" เขาบอกกับวอยซ์ออฟอเมริกา "เมื่อเจตนารมณ์ของประชาชนที่แสดงออกในศึกเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม ถูกกีดกันและโค่นล้มเช่นนี้ สถานการณ์ทางการเมืองจะไร้ซึ่งความมั่นคง และเป็นไปได้ว่าความยุ่งเหยิงกำลังรออยู่เบื้องหน้า"

แมตธิว วีเลอร์ นักวิเคราะห์อาวุโสด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของกลุ่มอินเตอร์เนชันแนล ไครซิส กรุ๊ป องค์กรอิสระที่จับตาความขัดแย้งทั่วโลก บอกกับวอยซ์ออฟอเมริกา ว่าดูเหมือนว่าไทยอาจได้เห็นการชุมนุมอีกครั้ง หากว่าผู้ชนะเลือกตั้งไม่สามารถเป็นแกนนำรัฐบาล

"การประท้วงบนถนนมีความเป็นไปได้ มันเป็นส่วนมาตรฐานขององค์ประกอบความเคลื่อนไหวทางการเมืองในไทย" วีเลอร์บอกกับวอยซ์ออฟอเมริกา "การประท้วงจะใหญ่แค่ไหนและยืดเยื้อแค่ไหน บางส่วนอาจขึ้นอยู่กับว่าพรรคไหนที่ได้เป็นรัฐบาล และบทลงโทษที่มีต่อพรรคก้าวไกลและบรรดาผู้บริหารพรรค"

(ที่มา : วอยซ์ออฟอเมริกา)


กำลังโหลดความคิดเห็น