xs
xsm
sm
md
lg

ขู่ไว้ก่อน! “อานนท์” ส่งสัญญาณ “พิธา” โดนสอย มวลชนลงถนนเป็นล้าน “สมชาย” จี้ “กกต.” ชง “ศาล รธน.” เชือด “พิธา” ด้วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากแฟ้ม
“อานนท์” วิเคราะห์เหตุการณ์ล่วงหน้า ถ้า “พิธา” โดนสอย มวลชนจะลงถนนเป็นล้าน โดยไม่ใครนัดหมาย แนะ ปล่อยผู้ชนะจัดตั้งรัฐบาล บริหารประเทศ “สมชาย” ชงบันได 5 ขั้น จี้ กกต. ส่ง “ศาล รธน.” เชือด “พิธา” อีกด่าน

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (10 มิ.ย. 66) สืบเนื่องจากกรณี คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติ ไม่รับคำร้อง กรณี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล มีคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ปมถือหุ้นสื่อไอทีวี 42,000 หุ้น แต่สั่งให้ดำเนินการไต่ส่วนเรื่องดังกล่าวเนื่องจากคำร้องมีข้อมูลเพียงพอที่จะสืบสวนไต่สวนว่า นายพิธาเป็นบุคคลมีลักษณะต้องห้าม มิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ตามมาตรา 151 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.นั้น

เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 66 นายอานนท์ นำภา นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนและแกนนำราษฎร แสดงความเห็นว่า การที่ กกต. นำเรื่องมาสอบเอง โดยปัดตกคำร้องของผู้ร้องต่างๆ เป็นการยืดเวลาออกไป คือ ต่อไปนี้หากนายพิธา ได้เข้าสภาจริง จะมีชนักติดหลัง ซึ่งมีโทษทั้งเรื่องจำคุก และตัดสิทธิ์ทางการเมือง ต่อให้ นายพิธา เข้าสภาได้ ก็ต้องระวังชนักที่ติดหลังอยู่ ว่า กกต.จะเล่นงานเมื่อไรก็ได้ อย่างไรก็ตาม เขาคงรอให้กระแสมันต่ำ คงใช้กฎหมายเป็นนิติสงครามเล่นงานนายพิธา แต่เชื่อว่า กระแสไม่ต่ำ เพราะคนตามลุ้นคะเเนนเสียงของตัวเองอยู่ โดยเฉพาะทางโซเชียลมีเดีย

ภาพ นายอานนท์ นำภา จากแฟ้ม
นายอานนท์ กล่าวต่อว่า คนที่เลือกนายพิธา มีอยู่ทั่วประเทศ ทั้งต่างจังหวัด และโดยเฉพาะใน กทม.เป็นส้ม ปริมณฑลอย่างนนทบุรี ก็ส้ม หากชนชั้นนำไทยจะใช้เกมเดิมประชาชนเขาไม่ยอม ไม่จำเป็นต้องมีม็อบที่มีแกนนำ แต่มันจะเป็นไปเองโดยเป็นการออกมาเรียกร้องโดยธรรมชาติ ทางรัฐบาลปัจจุบัน และคนที่ดูเรื่องความมั่นคง คงตระหนักว่ามันมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดการลงถนนชุมนุม เพื่อเรียกร้องให้มันปฏิบัติตามกติกา คือ ส่งพรรคที่ชนะการเลือกตั้งได้ตั้งรัฐบาล ก็อยู่ที่การพูดคุยกัน โดยท่าทีของ ส.ว.ต่างๆ ดีขึ้น แต่การแสดงออกของประชาชนนอกสภา ทั้งในโซเชียล และที่พร้อมที่จะลงถนน ไปช่วยกันให้กำลังใจในวันที่จะมีการโหวตนายกฯ มันจะเป็นแรงผลักให้ ส.ว. ตระหนักถึงเสียงประชาชน เรื่องการชุมนุมในวันโหวตนายกฯ ไม่ต้องมีใครนัด คือทุกคนก็รู้ว่าต้องไปโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว คือถ้าส.ว.โหวตให้นายพิธาเป็นนายกฯ ก็คงฉลองกัน แต่ถ้าไม่โหวต ก็คงมีการประท้วง คงมีการคาดหมายได้อยู่แล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้นในวันนั้น

แต่เชื่อว่ารัฐเอง ไม่อยากให้มันถึงจุดที่การชุมนุมมันออกมากันเป็น แสนเป็นล้านคน การพูดคุยกันตอนนี้สำคัญที่สุดและพยายามอย่านำสังคมเข้าไป สู่บรรยากาศที่มันอึมครึม ที่สุ่มเสี่ยงจะใช้ความรุนแรงต่อกัน ดังนั้น การปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ ก็คือพรรคที่ชนะการเลือกตั้งได้จัดตั้งรัฐบาลและบริหารประเทศนี่คือสิ่งที่ทุกคนอยากเห็น

“ตอนนี้หลายคนบอกว่า ถ้าลงถนนปุ๊บ ทหาร ตำรวจก็อาจจะออกมาปราบม็อบ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ เพราะตอนนี้คนที่มันจะลงถนนคือคนชั้นกลาง นักศึกษา นักเรียน คือคนจำนวนมากทั้งชาวบ้านเอง ก็จะมาแจมด้วย คนมันมากเกินกว่าที่รัฐจะจัดการด้วยวิธีความรุนแรงได้ แต่การแสดงออกมันต้องยึดแนวทางสันติวิธีซึ่งหลายคนก็ประเมินว่า ถ้ารัฐออกมาแล้วมีความรุนแรง ทหารจะออกมา แต่ตนคิดว่าความชอบธรรมที่ทหารจะออกมามันไม่มีเลย วันนี้ต่างชาติโดยเฉพาะชาติที่เป็นอียู สหรัฐอเมริกา หรือชาติเป็นประชาธิปไตย ไม่โอเคกับการรัฐประหาร แล้วคนที่จะออกมาครั้งนี้มันจะไม่เหมือนที่ผ่านมาอย่างแน่นอน”

ภาพ นายสมชาย แสวงการ จากแฟ้ม
ขณะเดียวกัน สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว สมชาย แสวงการ ระบุว่า

“#ปริศนาธรรมการเมืองเรื่องหุ้น ITV

เมื่อคณะกรรมการเลือกตั้ง หรือ กกต.ไม่รับคำร้องหุ้นสื่อ ITV ของ 3 ผู้ร้องแล้วแต่รับไว้เองในฐานะความปรากฏ ต่อ กกต. เพื่อดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 151 แล้ว

ขอเสนอความเห็นเพื่อ กกต.พิจารณาดำเนินการตามที่เห็นสมควรในขั้นตอนต่างๆ ดังนี้

1) รับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.ของนายพิธา โดยเร็วหรือภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไม่เกิน 60 วันนับแต่วันเลือกตั้ง

2) หลังการรับรอง ส.ส.แล้ว กกต.ต้องเป็นผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเองในฐานะความปรากฏแก่ กกต. โดยใช้ตามมาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า

2.1 นายพิธา ขาดคุณสมบัติและขัดรัฐธรรมนูญตามลักษณะต้องห้ามการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(3)

2.2 ขาดคุณสมบัติแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 88 มาตรา 89 และมาตรา 160

กรณีนี้จึงไม่จำเป็นต้องให้ส.ส.เข้าชื่อ 1 ใน 10 ร้องต่อประธานสภา

เพื่อขอให้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 อีก

เพราะความปรากฏตามที่ กกต.รับไว้เอง และ กกต.ต้องสอบสวนจนมีพยานหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า นายพิธา น่ามีลักษณะต้องห้ามอันเป็นการขาดคุณสมบัติ ส.ส.และแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีแล้ว จึงร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย

3) กกต.ร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญให้นายพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ เช่นเดียวกับคดีอื่นๆที่ผ่านมา เช่น คดีที่ กกต ร้องคดีนายธนาธร หรือ คดีที่ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านเข้าชื่อร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญคดีวาระ 8 ปี ของ พลเอก ประยุทธ์ ฯลฯ

โดยขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคําสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลจะมีคําวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง

และขอให้มีคําสั่งกําหนดมาตรการหรือวิธีการใดๆ เป็นการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 71

4) กกต.ยื่นดำเนินคดีอาญาต่อเจ้าพนักงาน ตำรวจ อัยการ ในความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 151 ประกอบมาตรา 42(3)

ในข้อหารู้อยู่แล้วว่า ตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อของตนเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ กรณีถือหุ้นสื่อ ITV

: คดีนี้มีบทลงโทษจำคุก 1-10 ปี โทษปรับ 20,000-200,000 บาท

และตัดสิทธิการเมือง 20 ปี

5) อัยการพิจารณาคำสั่งฟ้องตามความผิดฐานดังกล่าวต่อนายพิธาหรือไม่

เรื่องนี้เป็นกรณีที่กกต.ควรต้องสอบสวนและมีพยานหลักฐานให้หนักแน่นชัดเจนอย่างยิ่ง

เพราะอัยการสูงสุดเคยมีคำสั่งชี้ขาดไม่ฟ้องนาย ธนาธร มาแล้ว

โดยคดีดังกล่าว อัยการระบุว่า พยานหลักฐานไม่เพียงพอที่จะสั่งฟ้อง

และดูเจตนาจากพยานหลักฐานแล้ว น่าจะไม่มีความผิดกฎหมายอาญา

ถึงแม้ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเรื่องคุณสมบัติการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของนายธนาธร ให้พ้นสมาชิกภาพความเป็น ส.ส.ไปแล้วก็ตาม แต่อัยการสูงสุดก็ยืนยันมีคำสั่งชี้ขาดไม่ฟ้องนายธนาธรมาแล้ว

โดยถือว่าเป็นการพิจารณากฎหมายคนละฉบับกัน”


กำลังโหลดความคิดเห็น