xs
xsm
sm
md
lg

“ดร.ณัฎฐ์”มือกฎหมายมหาชนคนดัง ชี้ช่องเชือด 'พิธา' เซ่นพิษหุ้นสื่อ ฟันธงออกช่องไหนก็ไม่รอด!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (10 มิ.ย.)  สืบเนื่องจาก กกต.มีมติไม่รับ 3 คำร้อง “พิธา” ถือหุ้นไอทีวี เหตุยื่นเกินเวลา แต่รับเรื่องไว้พิจารณา ม.151 เหตุรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิ์สมัค แต่ให้รับเรื่องไว้พิจารณาเป็นความปรากฏ โดยเห็นว่าคำร้องที่ได้ยื่นมาของทั้ง 3 คน เป็นคำร้องที่ยื่นเกินระยะเวลาที่จะสั่งรับคำร้องไว้พิจารณา แต่เนื่องจากกรณีคำร้องดังกล่าวมีรายละเอียดเกี่ยวกับข้อเท็จจริงและพฤติการณ์และมีหลักฐานพอสมควร และมีข้อมูลเพียงพอที่จะสืบสวนไต่สวนต่อไปว่านายพิธา เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามแต่ได้สมัครรับเลือกตั้ง อันเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา 42(3) และมาตรา 151 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จึงเห็นควรพิจารณาสั่งให้ดำเนินการไต่สวนเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยหรือความปรากฎ โดยคณะกรรมการสืบสวนไต่สวนที่ได้รับแต่งตั้งจะดำเนินการไต่สวนตามขั้นตอนและระยะเวลาที่กำหนดไว้ในระเบียบต่อไป

ล่าสุด ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์ ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ดร.ณัฎฐ์”มือกฎหมายมหาชนคนดัง โดยได้อธิบายข้อกฎหมายมหาชนและให้ความรู้แก่ประชาชนที่น่าสนใจว่า กระบวนการชั้น กกต.ขั้นตอนรับคำร้องตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส.จะต้อง ก่อนเลือกตั้ง 7 วันก่อนถึงวันเลือกตั้ง เป็นเงื่อนไขทางกฎหมาย หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ร้องทั้งสาม ยื่นคำร้องต่อ กกต.ก่อนการเลือกตั้งเพียงแค่ 2 วัน มติไม่รับคำร้อง ตนเห็นว่าเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ถือเป็นขั้นตอน การตรวจสอบเงื่อนไขก่อนรับคดี อันเป็นกระบวนการสืบสวนหรือไต่สวน ตราบใดที่ กกต.ยังไม่ประกาศรับรอง นาย พิธาฯ ให้เป็น ส.ส. เป็นช่องว่างทางกฎหมาย ที่ กกต.ไม่สามารถดำเนินการอื่นใดได้ หากข้อเท็จจริงมีพยานหลักฐานว่าคดีมีมูลที่รับไว้สืบสวนหรือไต่สวน ความปรากฎแก่ กกต.ไม่ว่าในทางใด กกต.ย่อมรับเรื่อง ตั้งคณะกรรมการสืบสวนหรือไต่สวนได้

คำว่า “ความที่ปรากฎ “ อาจเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฎทั่วไป อาทิ สื่อมวลชน หรือข้อเท็จจริงจากคำร้องเรียน มีพยานหลักฐานเพียงพอ ที่จะไต่สวนได้ ให้อำนาจ กกต.ดำเนินการสืบสวนหรือไต่สวนหรือไม่ก็ได้ หากปรากฎข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพียงพอให้มีมูลเหตุที่เป็นเช่นนี้ พี่น้องประชาชน อาจไม่เข้าใจข้อกฎหมาย พูดภาษาชาวบ้าน ว่า ผู้ร้องทั้ง 3 คนยื่นเกินกำหนดเวลา เป็นเหตุ กกต.ไม่รับคำร้อง แต่ กกต.ใช้อำนาจตามกฎหมาย ข้อเท็จจริงตาม”ความที่ปรากฎ” มีมติเห็นชอบให้ตั้งกรรมการสืบสวนหรือไต่สวนคดีอาญากรณีขาดคุณสมบัติตามกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 42(3) ประกอบมาตรา 151 ได้

ผลของ กกต.ไม่รับคำร้อง เพราะเหตุผู้ร้องยื่นเกินเวลา (ไม่น้อยกว่า 7 วัน) ไม่ตัดสิทธิ ผู้ร้องที่จะยื่นคำร้องเข้าไปใหม่ เพราะ กกต.ยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดในเนื้อหา ว่า ผู้ถูกร้องกระทำผิดหรือไม่ อย่างไร แต่ผู้ร้องจะต้อง “รอเวลา”ให้ กกต.รับรองนายพิธาฯ เป็น ส.ส.ก่อน เพราะช่วงเวลา ก่อนรับรอง ส.ส.เป็นช่องว่างกฎหมาย กกต.ยังไม่มีอำนาจรับวินิจฉัยคุณสมบัติถือหุ้นสื่อ ของนายพิธา ดังนั้น กรณี ผู้สมัคร ส.ส.ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 98 รัฐธรรมนูญ ไม่จำกัดระยะเวลาในการร้องขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติ แตกต่างร้องคัดค้านผลการเลือกตั้ง จะต้องใช้สิทธิร้องคัดค้านภายใน 30 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง หากผู้ร้องยื่นคำร้องเข้าไปใหม่หลังรับรอง ส.ส.ย่อมเป็นเหตุให้ กกต.รับคำร้องและไต่สวนได้ ตราบใดที่นายพิธาดำรงตำแหน่ง ส.ส.เปิดช่องให้ กกต.รับไต่สวนและยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดคุณสมบัติ ส.ส.โดย กกต.อาศัยอำนาจช่องรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคท้าย

อีกประการหนึ่ง ช่องทางเชือดนายพิธาฯ ถือหุ้นสื่อ เป็นช่องทางฝ่ายนิติบัญญัติ เปิดช่องในมาตรา 82 วรรคหนึ่ง โดยเปิดช่องให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก ว่าสมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งแห่งสภานั้นสิ้นสุดลงตามมาตรา 101 (3) (5) (6) (7) (8) (9) (10) หรือ (12) หรือมาตรา 111 (3) (4) (5) หรือ (7) แล้วแต่กรณี และให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับคำร้อง ส่งคำร้องนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกผู้นั้นสิ้นสุดลงหรือไม่

จะเห็นว่า ทั้ง 2 ช่องทาง ประการแรก ไม่ตัดสิทธิ์ผู้ร้องที่จะยื่นคำร้องต่อ กกต. เข้าไปใหม่ แต่ต้องรอเวลา ให้ กกต. รับรอง อีกประการหนึ่ง คือ รวบรวมเสียง ส.ส.หรือ สว.หนึ่งในสิบ ยื่นให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือประธานวุฒิสภา ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีมีเหตุสงสัยในคุณสมบัติถือครองหุ้นสื่อ ให้เทียบเคียงกับ คดีของนายสิระ เจนจาคะ อดีต ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร แต่ขาดคุณสมบัติคนละข้อกันในมาตราเดียวกัน

ส่วนคดีอาญาที่ กกต.รับไต่สวนคุณสมบัติ ส.ส.ของนายพิธาฯ เป็นช่องทางเดียว ที่ กกต.ตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย มีพยานหลักฐานเบื้องต้นว่า มีมูลในเรื่องขาดคุณสมบัติสมัคร ส.ส.มาตรา 42(3) และมีโทษทางอาญาและตัดสิทธิทางการเมือง มาตรา 151 เป็นช่องทางดำเนินคดีอาญาปกติที่ กกต.สามารถดำเนินการได้ ส่วนพนักงานอัยการจะสั่งฟ้องหรือไม่ ถืออีกเรื่องหนึ่ง เพราะความรับผิดทางอาญา เป็นเรื่องของการกระทำโดยเจตนา

แต่ผลวินิจฉัยชี้ขาด กกต.หากขาดคุณสมบัติและถูกดำเนินคดีอาญา จะนำไปสู่ การยื่นถอดถอน ส.ส.ต่อศาลรัฐธรรมนูญ พูดภาษาชาวบ้าน ออกช่องไหน ก็ไม่รอด

ไม่ว่า จะเป็นช่องประธานสภาผู้แทนราษฏร หรือประธานวุฒิสภา หรือ ช่อง กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมนำไปสู่การถอดถอนการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสอง หากนายพิธาฯ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง อาจสั่งให้หยุดปฎิบัติหน้าที่ได้ ให้เทียบเคียงกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งวาระเกิน 8 ปี ไม่แตกต่างกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น