เคียฟไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับแผนระเบิดท่อลำเลียงก๊าซนอร์ดสตรีม จากคำชี้แจงของประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ในวันพุธ (7 มิ.ย.) ท่ามกลางข่าวลือที่หนาหูขึ้นเรื่อยๆ ว่ายูเครนอยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดดังกล่าว
เซเลนสกี ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์บิลด์ของเยอรมนี ว่าแม้ในฐานะประธานาธิบดี เขามีอำนาจในการสั่งการ แต่ "ผมไม่ได้อะไรแบบนั้น และผมจะไม่ทำเช่นนั้นด้วย" เขากล่าวผ่านล่ามชาวเยอรมนี
"ผมเชื่อว่ากองทัพของเราและหน่วยข่าวกรองของเราไม่ได้ทำอะไรแบบนั้น" พร้อมระบุว่าเขาอยากเห็นข้อพิสูจน์คำกล่าวหาดังกล่าว "เราไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับมัน 100% เลย" เซเลนสกี ระบุ
ก่อนหน้านี้ หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ของสหรัฐฯ รายงานเมื่อวันอังคาร (6 มิ.ย.) ว่าหน่วยงานข่าวกรองแห่งหนึ่งของยุโรปได้แจ้งกับซีไอเอ ว่า พวกเขารู้มาว่าทีมปฏิบัติการพิเศษของยูเครนมีแผนระเบิดท่อลำเลียงก๊าซนอร์ดสตรีม การแจ้งข่าวดังกล่าวมีขึ้น 3 เดือนก่อนเกิดเหตุระเบิดที่ก่อความเสียหายแก่ท่อลำเลียงที่ลอดใต้ทะเลแห่งนี้เมื่อปีที่แล้ว
หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ เป็นสื่อเจ้าแรกที่ตีแผ่รายงานข่าวกรองดังกล่าว โดยอ้างอิงเอกสารฉบับหนึ่งจากบรรดาเอกสารชั้นความลับที่ถูก แจ็ค เทเซรา (Jack Teixeira) อดีตเจ้าหน้าที่เทคนิคคอมพิวเตอร์แห่งกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิทางอากาศของสหรัฐฯ (US Air National Guard) นำออกมาเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์
เอกสารหลุดดังกล่าวบ่งชี้ว่ามีหน่วยข่าวกรองแห่งหนึ่งของยุโรปซึ่งไม่เปิดเผยชื่อ ได้แจ้งกับซีไอเอ ในเดือนมิถุยายน 2022 หรือ 4 เดือนหลังจากรัสเซียรุกรานยูเครน ว่าทีมประดาน้ำของกองทัพยูเครนได้รายงานโดยตรงไปยังผู้บัญชาการทหารสูงสุดของประเทศเกี่ยวกับแผนการโจมตี
ข่าวกรองฉบับนี้อ้างแหล่งข่าวในยูเครนที่ระบุว่า พันธมิตรตะวันตก "มีมูลเหตุที่จะเชื่อว่าเคียฟอยู่เบื้องหลังเหตุวินาศกรรมท่อก๊าซ" มานานเกือบ 1 ปีแล้ว และกลุ่มบุคคลที่กระทำการนี้ได้รายงานตรงต่อ วาเลรี ซาลุซนี ผู้บัญชาการกองทัพยูเครน "ซึ่งได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบเรื่องนี้ เพื่อที่ประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี จะได้ไม่มาร่วมรับรู้ด้วย" ตามรายงานของวอชิงตันโพสต์
วอชิงตันโพสต์ระบุว่า เจ้าหน้าที่ยูเครนพยายามกันไม่ให้ เซเลนสกี เข้ามาเกี่ยวข้องโดยตรงกับแผนระเบิดทำลายท่อก๊าซ เพื่อให้ผู้นำยูเครน "มีเหตุผลที่น่าฟังในการปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับเหตุวินาศกรรมอันอุกอาจต่อโครงสร้างพื้นฐานพลเรือน" เพราะไม่เช่นนั้นอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ที่ให้การสนับสนุนยูเครนในการทำสงครามต่อต้านรัสเซียได้
ท่อลำเลียงนอร์ดสตรีม 1 และ 2 ซึ่งสร้างมาเพื่อลำเลียงก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียไปเยอรมนี ได้รับความเสียหายจากเหตุระเบิดใต้น้ำเมื่อวันที่ 26 กันยายนปีก่อน ส่งผลให้พวกมันใช้งานไม่ได้และตัดแหล่งก่อรายได้หลายพันล้านดอลลาร์ของรัสเซีย
อย่างไรก็ตาม ขณะเดียวกันเหตุการณ์ที่เชื่อว่าเป็นการลอบก่อวินาศกรรมครั้งนี้ได้ก่อสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วภูมิภาค เนื่องจากมันเป็นการตัดอุปทานพลังงานที่สำคัญยิ่งสำหรับยุโรป ในขณะที่สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ได้ผลักราคาน้ำมันพุ่งทะยานอยู่ก่อนแล้ว
ก่อนหน้านี้ มีคำกล่าวหากล่าวโทษหลายประเทศ ในนั้นรวมถึงรัสเซีย สหรัฐฯ และยูเครน แต่ทั้งหมดล้วนแต่ปฏิเสธว่าไม่ได้อยู่เบื้องหลัง
(ที่มา : เอเอฟพี/เอเจนซี)