นิกกี ฮาลีย์ อดีตผู้ว่าการรัฐเซาท์แคโรไลนา ผู้สมัครเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันลงชิงเก้าอี้ทำเนียบขาว บอกกับผู้ฟังในศาลากลางเมืองไอโอวาในวันอาทิตย์ (4 มิ.ย.) ว่า การปล่อยให้ยูเครนพ่ายแพ้แก่รัสเซียในสมรภูมิรบ จะทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 การป้อนอาวุธแก่เคียฟ ทั้งหมดทั้งมวลเป็นการส่งสารถึงบรรดาคู่อริของสหรัฐฯ เพื่อป้องกันสงคราม
"ครั้งที่ยูเครนได้รับชัยชนะ มันจะเป็นการส่งสารถึงจีนในประเด็นไต้หวัน มันจะเป็นการส่งสารถึงอิหร่านที่ต้องการสร้างระเบิดปรมาณู มันเป็นการส่งสารถึงเกาหลีเหนือ ที่กำลังทดสอบขีปนาวุธ มันเป็นการส่งสารถึงรัสเซียว่าพวกเขาจบสิ้นลงแล้ว" เธอกล่าว "มันเป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับอเมริกา มันเป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับความมั่นคงแห่งชาติของเรา หากยูเครนได้รับชัยชนะ เราจำเป็นต้องเข้าใจเรื่องนี้อย่างทะลุปรุโปร่ง เราจำเป็นต้องจบมัน"
ในแง่ของคำอธิบายว่าสงครามนี้จะลงเอยเช่นกัน นิกกีกล่าวว่า "มันจะจบลงภายในหนึ่งวันหากรัสเซียถอนกำลังออกมา" เธอบ่งชี้ "หากยูเครนเป็นฝ่ายถอนกำลัง เมื่อนั้นเราทั้งหมดกำลังมองเห็นสงครามโลก เพื่อป้องกันสิ่งนี้ เคียฟจำเป็นต้องได้รับอาวุธ อาวุธจำนวนมาก" นิกกีระบุ "ชัยชนะของยูเครนคือชัยชนะสำหรับเราทุกคน เพราะว่าทรราชย์จะเผยให้เห็นในสิ่งที่พวกเขาจะทำ รัสเซียอาจบอกว่าโปแลนด์และบรรดาชาติแถบบอลติกคือลำดับต่อไป หากยูเครนพังครืน และหากมันเกิดขึ้น เรากำลังมองเห็นสงครามโลก"
ในขณะที่มีคำกล่าวอ้างอย่างมากเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่รัสเซียจะเปิดฉากรุกรานโปแลนด์และบรรดาประเทศแถบบอลติก แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญสหรัฐฯ เกือบทั้งหมดมองว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวไม่น่าเป็นไปได้ เนื่องจากการรุกรานชาติเหล่านี้อาจกระตุ้นให้นาโตประกาศใช้มาตรา 5 เปลี่ยนความขัดแย้งหนึ่งที่ถูกให้คำจำกัดความว่าเป็นสงครามตัวแทนระหว่างมอสโกกับบรัสเซลส์ เป็นสงครามโดยครงระหว่างมหาอำนาจนิวเคลียร์
ฮาลีย์ ปลีกตัวเองออกห่างจากนโยบายต่างประเทศของ โดนัลด์ ทรัมป์ ตัวเต็งที่จะได้รับเลือกเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันลงชิงเก้าอี้ประธานาธิบดี ซึ่งเคยพูดเหน็บแนมเมื่อช่วงต้นปีว่า มันควรเป็นสหรัฐฯ ไม่ใช่รัสเซีย ที่จำเป็นเปลี่ยนรัฐบาล หากต้องการยุติความขัดแย้ง
ระหว่างปราศรัยในศาลากลางเมือง ฮาลีย์ เน้นย้ำว่า "นี่คือสงครามเกี่ยวกับเสรีภาพ และมันเป็นสงครามที่เราจำเป็นต้องชนะ"
แม้ ฮาลีย์ ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ ในสมัยที่ ทรัมป์ นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดี แต่เธอไม่ปกปิดท่าทีใดๆ ที่อยากให้ใช้นโยบายเข้าแทรกแซง โดยครั้งหนึ่งถึงขั้นแถลงมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียที่ไม่ได้คาดหมายไว้ จนทางทำเนียบขาวต้องถอนถ้อยแถลงดังกล่าวในเวลานั้น
นอกจากนี้ เธอยังเรียกร้องให้รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน มอบเครื่องบินขับไล่ F-16 แก่ยูเครน หลังจากประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ร้องขอมานานหลายเดือน และอยากให้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติม โดยชี้ว่าวอชิงตันอ่อนข้อให้กับมอสโกมากเกินไป
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)