xs
xsm
sm
md
lg

กล้าก็เข้ามา! เบลารุสฮึกเหิมหลังได้อาวุธนิวเคลียร์รัสเซีย เตือนตะวันตกอย่าคิดล้ำเส้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บรรดาชาติตะวันตกบีบให้เบลารุสไม่มีทางเลือกอื่น ยกเว้นแต่ประจำการอาวุธนิวเคลียร์ทางเทคนิคของรัสเซีย และเตือนว่าคงจะดีกว่าถ้าไม่ข้ามเส้นตายที่ขีดไว้ในประเด็นทางยุทธศาสตร์สำคัญๆ จากความเห็นของเจ้าหน้าที่ระดับสูงรายหนึ่งของเบลารุสเมื่อวันอาทิตย์ (28 พ.ค.)

อเล็กซานเดอร์ โวลโฟวิช เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเบลารุส บอกว่ามันสมเหตุสมผลครั้งที่อาวุธนิวเคลียร์ถูกถอนออกไปตามหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตปี 1991 ในขณะที่สหรัฐฯ ให้คำรับประกันด้านความมั่นคงและไม่กำหนดมาตรการคว่ำบาตร

อย่างไรก็ตาม "ทุกวันนี้ ทุกๆ อย่างถูกฉีกทิ้งไปหมดแล้ว ทุกคำสัญญาทั้งหมดได้หายไปตลอดกาล" สำนักข่าวเบตา อ้างคำกล่าวของ โวลโฟวิช ระหว่างให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์แห่งรัฐ

เบลารุส ซึ่งอยู่ภายใต้การนำของประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก มาตั้งแต่ปี 1994 เป็นพันธมิตรตัวยงที่สุดของรัสเซียในบรรดาชาติอดีตสหภาพโซเวียตทั้งหลาย และเปิดทางให้มอสโกใช้ดินแดนของพวกเขาในการเปิดปฏิบัติการรุกรานยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ 2022

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัสเซียเดินหน้าทำตามการตัดสินใจประจำการอาวุธนิวเคลียร์ทางเทคนิคในดินแดนของเบลารุส โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรลุเป้าหมายรุกคืบในสมรภูมิ

รัสเซียอ้างว่าปฏิบัติการพิเศษด้านการทหารของพวกเขาในยูเครน มีเป้าหมายเพื่อตอบโต้สิ่งที่พวกเขาเรียกว่าการทำสงครามตัวแทนที่ขับเคลื่อนโดย "ตะวันตกร่วม" ซึ่งมีเป้าหมายลงโทษมอบความพ่ายแพ้แก่มอสโก

"เพราะฉะนั้นการประจำการอาวุธนิวเคลียร์ทางเทคนิคในดินแดนของเบลารุส จึงเป็นหนึ่งในก้าวย่างของการป้องปรามทางยุทธศาสตร์ ถ้าพวกนักการเมืองตะวันตกยังคงมีเหตุผลใดๆ หลงเหลืออยู่ในหัวของพวกเขา พวกเขาจะไม่ข้ามเส้นตายนี้" โวลโฟวิชกล่าว พร้อมระบุว่าทางเลือกใดๆ ของการใช้กระทั่งแค่อาวุธนิวเคลียร์ทางเทคนิค จะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ไม่อาจย้อนกลับได้

ในสัปดาห์ที่แล้ว ลูคาเชนโก เผยว่าอาวุธนิวเคลียร์อยู่ระหว่างการเคลื่อนย้าย แต่ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าเมื่อไหร่มันจะถูกส่งเข้าประจำการ

สหรัฐฯ ประณามแนวโน้มประจำการอาวุธนิวเคลียร์ในเบลารุส แต่ยืนยันว่ายุทธศาสตร์การใช้อาวุธดังกล่าวของพวกเขายังคงไม่เปลี่ยนแปลง

ตะวันตกกำหนดมาตรการคว่ำบาตรเบลารุสมานานแล้วตั้งแต่ก่อนรัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครน ในเรื่องเกี่ยวกับการปราบปรามสิทธิมนุษยชนของลูคาเชนโก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปราบปรามการประท้วงใหญ่ต่อต้านเขา ท่ามกลางคำกล่าวหาของฝ่ายค้านที่ว่าประธานาธิบดีรายนี้โกงการเลือกตั้ง ในศึกเลือกตั้งปี 2020

หลังจากแยกตัวเป็นเอกราชจากสหภาพโซเวียต ทางเบลารุส ยูเครน และคาซัคสถาน ตกลงที่จะเคลื่อนย้ายอาวุธนิวเคลียร์จากประเทศของเขาไปยังรัสเซีย ส่วนหนึ่งในความพยายามนานาชาติในการควบคุมการแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์

(ที่มา : รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น