สหรัฐฯ ในวันพฤหัสบดี (25 พ.ค.) เรียกโครงการขีปนาวุธของอิหร่านว่าเป็น "ภัยคุกคามร้ายแรง" หลังเตหะรานเปิดตัวขีปนาวุธรุ่นใหม่ ซึ่งมีพิสัยทำการไกลที่สุดเท่าที่พวกเขาเคยมีในครอบครอง
"การพัฒนาและแพร่ขยายขีปนาวุธของอิหร่านเสี่ยงเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อความมั่นคงในภูมิภาคและนานาชาติ และยังเป็นความท้าทายสำคัญต่อการไม่แพร่ขยายขีปนาวุธ" แมตธิว มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ บอกกับผู้สื่อข่าว
ขีปนาวุธ Kheibar จะมีพิสัยทำการ 2,000 กิโลเมตร และสามารถบรรทุกหัวรบที่มีน้ำหนักมากกว่า 1 ตัน จากข้อมูลของกระทรวงกลาโหมอิหร่าน
ความเคลื่อนไหวเปิดตัวขีปนาวุธรุ่นใหม่ล่าสุด มีขึ้นตามหลังการเจรจารื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์ ซึ่งอิหร่านสัญญาว่าจะปรับลดกิจกรรมทางนิวเคลียร์ของพวกเขาแลกกับการปลดเปลื้องมาตรการคว่ำบาตรต้องเผชิญกับภาวะทางตัน
ข้อตกลงเมื่อปี 2015 ถูกทิ้งลงถังขยะ หลัง โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ณ ขณะนั้น ถอนอเมริกาออกจากข้อตกลงดังกล่าวในปี 2018 อย่างไรก็ตาม เดิมทีข้อตกลงนี้ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยวอชิงตัน ไม่ได้นับรวมโดยตรงกับโครงการขีปนาวุธของอิหร่านอยู่ก่อนแล้ว
รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ละทิ้งความคิดปลดเปลื้องมาตรการคว่ำบาตรภายใต้ข้อตกลงหนึ่งๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจาก อิหร่านทำการกวาดล้างการประท้วงครั้งใหญ่ต่อต้านพวกผู้นำของประเทศเมื่อปีก่อน
"อิหร่านที่พร้อมด้วยอาวุธนิวเคลียร์หนึ่งดูเหมือนจะมีพฤติกรรมยั่วยุยิ่งขึ้นกว่าเดิม และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราจึงมุ่งมั่นเหลือเกินที่จะขัดขวางอิหร่านจากการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์" มิลเลอร์ ระบุ
(ที่มา : เอเอฟพี)