xs
xsm
sm
md
lg

เจ๋งแล้วว่างั้น! สหรัฐฯ โวไม่จำเป็นต้องครอบครอง ‘อาวุธนิวเคลียร์’ เพิ่มขึ้นเพื่อต่อกร ‘จีน-รัสเซีย’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว ระบุวานนี้ (2 มิ.ย.) ว่าสหรัฐฯ ไม่จำเป็นต้องครอบครองอาวุธนิวเคลียร์เพิ่มเพื่อป้องปรามกองกำลังร่วมระหว่างจีนและรัสเซีย เนื่องจากศักยภาพด้านการทหารของอเมริกานั้น “ก้าวหน้า” อยู่แล้ว

ซัลลิแวน ยืนยันว่า สหรัฐฯ จะเคารพข้อจำกัดด้านอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ที่ระบุไว้ในสนธิสัญญา New START ปี 2010 จนกว่าสนธิสัญญาจะหมดอายุลงในปี 2026 โดยมีเงื่อนไขว่ารัสเซียต้องทำแบบเดียวกัน

ทั้งนี้ สหรัฐฯ ยังหวังที่จะเปิดเจรจาว่าด้วยการควบคุมอาวุธทั้งกับมอสโกและปักกิ่งด้วย

คำปราศรัยของ ซัลลิแวน ต่อสมาคมควบคุมอาวุธ (Arms Control Association) เป็นอีกหนึ่งความพยายามของสหรัฐฯ ที่จะเชิญชวน 2 มหาอำนาจคู่แข่งทางภูมิรัฐศาสตร์ให้เข้ามาร่วมกัน “อุดรอยรั่วขนาดใหญ่” ของสนธิสัญญาควบคุมอาวุธซึ่งมุ่งป้องกันการเกิดสงครามนิวเคลียร์

อย่างไรก็ดี ทั้งรัสเซียและจีนยังคงแสดงท่าทีเพิกเฉยต่อการทาบทามของสหรัฐฯ

จีนซึ่งมีข้อบาดหมางกับสหรัฐฯ ในประเด็นไต้หวันและอื่นๆ ยังคงขยายคลังแสงนิวเคลียร์ของตนอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีทีท่าว่าจะสนใจเข้าร่วมเจรจาลดความเสี่ยงกับวอชิงตัน และในสัปดาห์นี้ก็ยังปฏิเสธการหารือทวิภาคีระหว่างรัฐมนตรีกลาโหมของทั้ง 2 ชาติที่สิงคโปร์ด้วย

กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ประเมินว่า จีนจะมีหัวรบนิวเคลียร์มากถึง 1,500 หัวรบ หรือเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัวภายในปี 2035

ทางด้านรัสเซียซึ่งขู่จะนำอาวุธนิวเคลียร์ออกมาใช้ในสงครามยูเครน ก็ประกาศระงับการมีส่วนร่วมกับข้อตกลง New START เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ในความเคลื่อนไหวที่สหรัฐฯ วิจารณ์ว่า “ไม่รับผิดชอบและผิดกฎหมาย”

สนธิสัญญาฉบับนี้กำหนดให้สหรัฐฯ และรัสเซียประจำการหัวรบนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ได้ฝ่ายละไม่เกิน 1,550 หัวรบ และยังจำกัดจำนวนขีปนาวุธภาคพื้นดิน ขีปนาวุธที่ติดตั้งบนเรือดำน้ำ หรือเครื่องบินทิ้งระเบิดที่จะใช้ส่งหัวรบนิวเคลียร์เหล่านี้เอาไว้ไม่เกิน 700 หน่วย

ซัลลิแวน ระบุว่า สหรัฐฯ กำลังดำเนิน “ยุทธศาสตร์ใหม่” เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัย ซึ่งรวมถึงการยกระดับกองกำลังนิวเคลียร์และพัฒนาอาวุธล้ำสมัยอย่างขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก “ซึ่งจะช่วยให้กองทัพของเรายืนหยัดต่อไปได้อีกหลายสิบปี”

การที่จีนมุ่งขยายคลังแสงนิวเคลียร์อย่างต่อเนื่องอาจทำให้สหรัฐฯ ต้องเตรียมพร้อมรับมือความขัดแย้งกับมหาอำนาจนิวเคลียร์ถึง 2 รายพร้อมกัน จากเดิมที่ต้องเฝ้าระวังแค่เพียงรัสเซีย

กระนั้นก็ตาม ซัลลิแวน เชื่อว่าศักยภาพทางการทหารของสหรัฐฯ และกลุ่มพันธมิตรที่แข็งแกร่งของอเมริกา จะสามารถป้องปรามความขัดแย้งกับทั้ง 2 ชาติได้

“สหรัฐฯ ไม่จำเป็นต้องขยายขนาดกองกำลังนิวเคลียร์ให้เหนือกว่าของคู่แข่งทั้ง 2 รวมกันเพื่อที่จะป้องปรามพวกเขาให้สำเร็จ อีกทั้งเราก็ไม่จำเป็นต้องประจำการอาวุธนิวเคลียร์ที่อานุภาพร้ายแรงกว่านี้เพื่อจะข่มขวัญพวกเขา เพราะการป้องปรามนั้นหมายถึงการใช้แนวทางที่ดีขึ้น (better) ไม่ใช่มากขึ้น (more)” ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของทำเนียบขาวกล่าว

ซัลลิแวน ยืนยันว่า สหรัฐฯ พร้อมที่จะเปิดเจรจาลดความเสี่ยงเผชิญหน้ากับจีน “โดยไม่มีเงื่อนไขเบื้องต้น” และมุ่งมั่นที่จะหารือกับรัสเซียเพื่อทำข้อตกลงควบคุมอาวุธฉบับใหม่แทนที่ New START ที่กำลังจะหมดอายุลงในเดือน ก.พ. ปี 2026 โดยข้อตกลงที่ว่านี้จะต้องนำเอาคลังแสงนิวเคลียร์จีนมาเป็นปัจจัยพิจารณาร่วมด้วย

ที่มา : รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น