อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ประธานาธิบดีเบลารุส อ้างว่าประเทศต่างๆ ที่มีความตั้งใจเข้าร่วมกับสหพันธรัฐรัสเซีย และเบลารุส จะได้รับมอบอาวุธนิวเคลียร์ ไม่กี่วันหลังจากยืนยันว่าการเคลื่อนย้ายอาวุธนิวเคลียร์ทางเทคนิคบางส่วนจากมอสโกมายังมินสก์ได้เริ่มขึ้นแล้ว
ลูคาเชนโก พันธมิตรใกล้ชิดของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แสดงความคิดเห็นระหว่างให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรัสเซีย 1 ชาแนล ที่เผยแพร่เมื่อวันอาทิตย์ (28 พ.ค.)
ระหว่างการสัมภาษณ์ ลูคาเชนโก กล่าวว่า "ไม่มีใครใส่ใจคาซัคสถานและประเทศอื่นๆ ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดแบบเดียวกับที่เรามีกับสหพันธรัฐรัสเซีย มันง่ายมากๆ เข้าร่วมกับรัฐสหภาพรัสเซียและเบลารุส ทั้งหมดทั้งมวลจะมีอาวุธนิวเคลียร์สำหรับทุกคน"
ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งรัฐสหภาพรัสเซีย-เบลารุส ซึ่งลงนามในปี 1999 ได้ตั้งข้อกำหนดพื้นฐานทางกฎหมายสำหรับพันธมิตรในหลายด้าน ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ ข้อมูล เทคโนโลยี การเกษตร และความมั่นคงพื้นที่ชายแดน เช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ ระหว่าง 2 ชาติ" อ้างอิงจากเว็บไซต์รัฐบาลเบลารุส
ไม่เป็นที่ชัดเจนว่า คำเชิญของลูคาเชนโกให้เข้าร่วมรัฐสหภาพรัสเซีย-เบลารุส ครอบคลุมออกไปไกลแค่ไหน และเขาเองไม่ได้ให้รายละเอียดอื่นใดเกี่ยวกับเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม ความคิดเห็นของเขาในการส่งมอบอาวุธนิวเคลียร์แก่บรรดาพันธมิตรที่มีแนวคิดคล้ายๆ กัน ดูเหมือนจะก่อความกังวลระดับสูงในช่วงเวลาที่มีการแพร่ขยายทางนิวเคลียร์เพิ่มมากขึ้นทั่วโลก และมีขึ้นในขณะที่มอสโกข่มขู่โลกด้วยคลังแสงปรมาณูของพวกเขา หลังสงครามของรัสเซียในยูเครนสะดุดลง
เมื่อวันพฤหัสบดี (25 พ.ค.) ประธานาธิบดีเบลารุส เปิดเผยว่า การขนย้ายอาวุธนิวเคลียร์ทางเทคนิคบางส่วนจากรัสเซียมายังเบลารุส ได้เริ่มขึ้นแล้ว หลังจากมีข้อตกลงหนึ่งที่ลงนามโดยมอสโกและมินสก์
"มันจำเป็นที่ต้องจัดเตรียมสถานที่จัดเก็บ และอื่นๆ ซึ่งเราทำทั้งหมดนี้แล้ว เพราะฉะนั้น ความเคลื่อนไหวของอาวุธนิวเคลียร์ได้เริ่มขึ้นแล้ว" ลูคาเชนโกกล่าวกับเบลตา สื่อมวลชนแห่งรัฐ นอกจากนี้ เขายังรับปากเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาวุธเหล่านี้ โดยบอกว่า "เรื่องนี้ไม่แม้แต่จะต้องพูดคุยกัน อย่ากังวลเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์ เราคือผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้ นี่คือประเด็นร้ายแรง ทุกๆ อย่างจะไม่เป็นไร"
ปูติน กล่าวว่า รัสเซียจะยังคงการควบคุมเหนืออาวุธนิวเคลียร์ทางเทคนิคใดๆ ที่ประจำการในเบลารุส และโยงความเคลื่อนไหวครั้งนี้กับแนงทางปฏิบัติของสหรัฐฯ ที่ประจำการอาวุธนิวเคลียร์ในยุโรป เพื่อช่วยให้บรรดาประเทศเจ้าบ้านทั้งหลาย ในนั้นรวมถึงเยอรมนี ไม่ละเมิดคำมั่นสัญญาที่ว่าจะไม่เป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์
เบลารุส ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ในดินแดนของตนเองมาตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1990 ไม่นานหลังจากได้รับเอกราชตามหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต พวกเขาเห็นพ้องโอนย้ายอาวุธทำลายล้างสมัยโซเวียตทั้งหมดไปรัสเซีย
นับตั้งแต่รุกรานยูเครนเมื่อ 1 ปีก่อน ปูติน ยกระดับโวหารหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ ในบางครั้งบางคราว เตือนถึงความเสี่ยงสงครามนิวเคลียร์ และบ่งชี้ว่ามอสโกอาจละทิ้งนโยบายที่ระบุว่าจะไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์เป็นฝ่ายแรก
เมื่อเดือนมีนาคม ปูติน กล่าวว่ามอสโกจะแล้วเสร็จโครงการก่อสร้างโรงจัดเก็บพิเศษสำหรับอาวุธนิวเคลียร์ทางเทคนิคในเบลารุสในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม และเผยว่ารัสเซียได้เคลื่อนย้ายระบบขีปนาวุธพิสัยใกล้ "อิสกันเดอร์" ไปเบลารุสแล้ว ในขณะที่มันสามารถติดตั้งได้ทั้งหัวรบนิวเคลียร์หรือหัวรบทั่วไป
อาวุธนิวเคลียร์ทางเทคนิคมีขนาดเล็กกว่าอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ ซึ่งสามารถทำลายล้างทั้งเมือง มันถูกออกแบบมาสำหรับใช้ในสนามรบอย่างจำกัด อย่างไรก็ตาม แรงระเบิดของมันอาจยังคงเพียงพอก่อการทำลายล้างครั้งใหญ่ เช่นเดียวกับการปนเปื้อมกัมมันตภาพรังสี
สหรัฐฯ สหภาพยุโรป เช่นเดียวกับพวกผู้นำฝ่ายค้านในเบลารุส ต่างออกมาประณามความเคลื่อนไหวของรัสเซียในการประจำการอาวุธนิวเคลียร์ทางเทคนิคในเบลารุสครั้งนี้
(ที่มา : ซีเอ็นเอ็น)