ฟู่ ชง (Fu Cong) เอกอัครราชทูตจีนประจำสหภาพยุโรป ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าเป็นการ “ไม่แฟร์” และไม่สมเหตุสมผลที่นักการเมืองยุโรปจะนำสงครามในยูเครนมาผูกโยงกับความสัมพันธ์จีน-อียู พร้อมเตือนว่าปักกิ่งอาจต้องตอบโต้หากบริษัทของจีนตกเป็นเป้าหมายคว่ำบาตรภายใต้มาตรการแซงก์ชันรัสเซีย
เว็บไซต์คณะทูตจีนประจำอียูได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ของ ฟู่ ชง ต่อนิตยสาร New Statesman ของอังกฤษเมื่อวันอาทิตย์ (28 พ.ค.) โดย ฟู่ ระบุว่า การคาดหวังให้จีนต้องแสดงจุดยืนเหมือนกับอียูทุกประการนั้น “ไม่สามารถเป็นไปได้จริง”
โจเซป บอร์เรลล์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของอียู กล่าวไว้เมื่อต้นเดือนนี้ว่า ความสัมพันธ์จีน-อียู “จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง” หากปักกิ่งไม่พยายามกดดันรัสเซียให้ถอนทหารออกจากยูเครน
“เราเข้าใจว่าอียูให้ความสำคัญเพียงใดต่อวิกฤตการณ์ในยูเครน แต่ขอพูดตรงๆ ว่า ผมไม่เห็นว่ามันจะสมเหตุสมผลตรงไหนที่จะโยงจุดยืนของจีนต่อปัญหายูเครนเข้ากับความสัมพันธ์จีน-อียู และผมคิดว่ามันไม่ยุติธรรมต่อจีน”
“จีนไม่ใช่ยุโรป ผลประโยชน์ของจีนก็แตกต่างจากของยุโรป และที่ผ่านมาจีนพยายามรักษาความสัมพันธ์ที่ดีทั้งกับรัสเซียและยูเครน จุดยืนของจีนย่อมเป็นที่เข้าใจได้”
บทสัมภาษณ์ของ ฟู่ มีขึ้นในขณะที่อียูเตรียมออกมาตรการคว่ำบาตรชุดใหม่ต่อรัสเซีย ซึ่งจะพุ่งเป้าเล่นงานบริษัทจีนด้วยเป็นครั้งแรก ในขณะที่ความพยายามส่งเสริมสันติภาพของจีนด้วยการส่งหลี่ ฮุย (Li Hui) ไปเป็นทูตพิเศษเจรจากับทั้งยูเครน รัสเซีย และยุโรป ถูกชาติตะวันตกปรามาสว่าเป็นการเดินสายเพื่อ “หนุนหลังรัสเซีย”
มาตรการคว่ำบาตรซึ่งอียูจะประกาศอย่างเร็วที่สุดในต้นสัปดาห์หน้าคาดว่าจะครอบคลุมถึงการจำกัดขายสินค้าให้บริษัทจีนอย่างน้อย 7 แห่ง หลังอียูกล่าวหาว่าบริษัทจีนเหล่านี้นำสินค้าที่ใช้ประโยชน์ได้ 2 ทาง (dual-use items) ซึ่งนำเข้าจากยุโรปไปขายต่อให้รัสเซีย
ใน 7 บริษัทนี้มีอยู่ 4 แห่งที่ถูกสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำไปแล้วก่อนหน้า ได้แก่ 3HC Semiconductors, King-Pai Technology, Sinno Electronics และ Sigma Technology ส่วนอีก 3 บริษัท ได้แก่ Asia Pacific Links, Tordan Industry และ Alpha Trading Investments ตามข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์ส
ฟู่ ประณามการคว่ำบาตรบริษัทจีนว่าไร้ซึ่งหลักฐานรองรับ และเตือนว่าปักกิ่งอาจใช้ “มาตรการตอบโต้ขั้นรุนแรง” หากอียูยังเดินหน้าต่อไป
“เรายินดีแก้ปัญหาในลักษณะของการทำงานร่วมกัน ที่ผ่านมาเราเจรจากับอียู และขอให้แสดงหลักฐานยืนยัน แต่ฝ่ายอียูเองก็ยอมรับว่าไม่มีหลักฐานที่จะพิสูจน์ยืนยันได้แน่ชัดว่าบริษัทเหล่านี้ส่งออกสินค้าที่นำเข้าจากอียูไปยังรัสเซีย”
นักการทูตระดับสูงผู้นี้ยังปกป้องจุดยืน “เป็นกลาง” ของจีนต่อปัญหายูเครน และเน้นย้ำบทบาทของจีนในฐานะผู้สร้างสันติภาพ
“จีนมีสไตล์การทูตของเราเอง และผมเชื่อว่าในขณะนี้การออกมาประณามไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา มันอาจจะยิ่งทำให้พื้นที่สำหรับการทูตลดน้อยลงด้วยซ้ำ หากทุกประเทศต่างพากันเลือกข้างหมด แล้วใครล่ะที่จะเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยให้เกิดสันติภาพ? แต่นี่ก็ไม่ได้หมายความว่าจีนเห็นดีเห็นงามกับการกระทำใดๆ ในความขัดแย้งนี้” ฟู่ กล่าว
เมื่อถามว่าใครเป็นผู้เริ่มสงครามในยูเครน? ฟู่ ตอบว่า “นักประวัติศาสตร์” เท่านั้นที่จะตัดสินได้ เขายังเลี่ยงที่จะตอบตรงๆ เมื่อถูกถามว่าคาบสมุทรไครเมียเคยเป็นของยูเครนใช่หรือไม่ โดยกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า “จีนเคารพอธิปไตยของทุกประเทศ และหวังว่าปัญหาทุกอย่างจะคลี่คลายได้ด้วยกระบวนการเจรจา”
ฟู่ ยังวิจารณ์กลุ่มชาติยุโรปที่ปากก็เรียกร้องสันติภาพ และก็ยังรอให้สถานการณ์ “สุกงอม” กว่านี้ โดยตัวเขาเองนั้นมองว่าควรสนับสนุนให้ทั้ง 2 ฝ่ายหยุดยิงทันทีเพื่อปูทางสู่การเจรจา ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับที่ หลี่ ฮุย พยายามเสนอระหว่างเดินสายทัวร์ยุโรป
ภารกิจของ หลี่ เริ่มต้นจากการไปเยือนยูเครน โปแลนด์ ฝรั่งเศส บรัสเซลส์ และเยอรมนี ก่อนจะปิดท้ายด้วยรัสเซีย เพื่อโปรโมตแผนสันติภาพ 12 ประการที่ปักกิ่งเสนอ ทว่าความพยายามของเขาดูเหมือนจะเผชิญแรงต้านอย่างหนักในยุโรป โดยหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัลรายงานว่า เจ้าหน้าที่ยุโรปบางคนบอกกับ หลี่ ว่าการถอนทหารรัสเซียออกจากดินแดนยูเครนถือเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นที่ “ต่อรองไม่ได้” ในขณะที่ หลี่ เสนอแนวทางตรงกันข้ามคือให้หยุดยิงทันที ซึ่งเท่ากับเป็นการปล่อยให้รัสเซียครอบครอง “ดินแดนใหม่ๆ” ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ดมิโตร คูเลบา รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศยูเครน ได้ออกมาโต้แย้งรายงานของวอลล์สตรีทเจอร์นัลเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (26) โดยบอกว่าตนได้ติดต่อไปยังเจ้าหน้าที่ยุโรปทุกประเทศที่ หลี่ ไปเยือน และ “ไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหน” ยืนยันว่า หลี่ เสนอให้ยอมรับพื้นที่ยึดครองว่าเป็นดินแดนรัสเซีย
ท่ามกลางกระแสเรียกร้องในหมู่ชาติตะวันตกให้ “ลดความเสี่ยง” (de-risk) ในด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีน หลี่ ฮุย บอกกับเจ้าหน้าที่ยุโรปให้รักษา “อำนาจปกครองตนเองในทางยุทธศาสตร์” (strategic autonomy) ไว้ และขอให้มองจีนเป็น “อีกหนึ่งทางเลือกทางเศรษฐกิจ” นอกเหนือจากสหรัฐฯ ในขณะที่ ฟู่ ชง เรียกร้องให้ยุโรปออกมาชี้แจงว่าแนวทางลดความเสี่ยงนั้นหมายถึงอะไรแน่? และย้ำว่าจีนย่อมต้องคัดค้าน หากมันหมายถึงการกีดกันแดนมังกรออกจากห่วงโซ่อุปทานเทคโนโลยีที่สำคัญๆ ของโลก
ที่มา : SCMP