ฉิน กัง รัฐมนตรีต่างประเทศจีนเตือนว่าความเสี่ยงที่แท้จริงที่ยุโรปกำลังเผชิญนั้น มาจาก "บางประเทศ" ที่กำลังก่อ "สงครามเย็นใหม่" กำหนดมาตรการคว่ำบาตรแต่เพียงฝ่ายเดียว และส่งออกปัญหาทางการเงินของตนเองไปยังชาติอื่นๆ
ทั้งนี้ ฉิน ไม่ได้เอ่ยชื่อสหรัฐฯ โดยตรง แต่กล่าวหาประเทศดังกล่าว ว่า ปลุกปั่นการเผชิญหน้าทางอุดมการณ์และมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเผชิญหน้าแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ตอนที่ถูกถามเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ลดความเสี่ยงของอียู ในเบอร์ลิน เมื่อวันอังคาร (9 พ.ค.)
ระหว่างแถลงข่าวร่วมกับ อันนาเลนา แบร์บ็อค รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี ทาง ฉิน กล่าวหาประเทศที่ไม่ได้เอ่ยชื่อนี้ผูกขาดสถานะค่าเงินของตนเอง โอนถ่ายวิกฤตการเงินและวิกฤตเงินเฟ้อภายในประเทศ ส่งผ่านผลกระทบร้ายแรงไปยังชาติอื่นๆ
"นี่คือความเสี่ยงแท้จริงที่จำเป็นต้องจัดการอย่างจริงจัง ถ้ามีสงครามเย็นใหม่ มันจะไม่ก่อความเสียหายเฉพาะกับผลประโยชน์ของจีน แต่ยุโรปจะต้องสังเวยผลประโยชน์ของตนเองเช่นกัน นี่คือความเสี่ยงที่แท้จริงที่ต้องกังวล" ฉิน กล่าว หลังพบปะพูดคุยกับ แบร์บ็อค เป็นครั้งที่ 2 ในรอบเดือน
ฉิน สนับสนุนคำพูดของตนเอง ด้วยรายงานฉบับหนึ่งที่เผยแพร่โดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจและกองทุนเพื่อธุรกิจครอบครัวของออสเตรีย เมื่อช่วงต้นเดือน ซึ่งประเมินว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของเยอรมนีจะหดตัว 2% หากว่าพวกเขาปลีกตัวเองออกห่างจีน
ยุทธศาสตร์ลดความเสี่ยงถูกนำเสนอโดย เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เมื่อเดือนมีนาคม ที่เน้นว่าเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติและไม่เป็นประโยชน์กับยุโรปในการตัดขาดจากจีน ขณะที่ โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีก็ปฏิเสธซ้ำๆ เกี่ยวกับการปลีกตัวออกห่างจากปักกิ่ง
รัฐมนตรีต่างประเทศจีนบอกว่าเขาชื่นชมท่าทีของเบอร์ลิน และบรัสเซลส์ แต่หยิบยกความกังวลของปักกิ่งว่ายุทธศาสตร์ดังกล่าวอาจกลายเป็นความพยายามลดการแผ่ขยายอำนาจและอิทธิพลของจีนของทวีปยุโรป ซึ่งอาจเป็นการลดโอกาสความร่วมมือ เสถียรภาพและการพัฒนา
ฉิน อยู่ในเมืองหลวงเยอรมนี ในช่วงต้นของโปรแกรมเดินทางเยือน 3 ประเทศ ที่จะสิ้นสุดลงในวันศุกร์ (12 พ.ค.) ในนั้นรวมถึงเดินทางเยือนปารีสและออสโล ทั้งนี้ การเยือนของเขามีขึ้นในขณะที่ปักกิ่งเพิ่งขอเลื่อนการประชุมระหว่างรัฐมนตรีคลังระหว่าง 2 ชาติ
มีการคาดเดากันอย่างกว้างขวางว่าการเลื่อนการประชุมดังกล่าวอาจเกี่ยวข้องกับการเดินทางเยือนไทเปครั้งประวัติศาสตร์ในเดือนมีนาคม ของ เบตตินา สตาร์ค-วัตซินเจอร์ รัฐมนตรีศึกษาธิการของเยอรมนี ซึ่งโหมกระพือเสียงประท้วงจากปักกิ่ง
ฉิน พาดพิงถึงไต้หวันระหว่างแถลงข่าวกับสื่อมวลชน แต่บอกว่าการเลื่อนการประชุมอย่างกะทันหัน สืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงกำหนดการเร่งด่วนของรัฐมนตรีคลังจีน และไม่ควรถูกตีความเลยเถิดเกินไป "ใครก็ตามที่หวังเห็นเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน และมุ่งมั่นจริงๆ ที่จะรักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศ ควรยึดถือนโยบายจีนเดียว และยืนกรานคัดค้านพฤติกรรมแยกตัวเป็นเอกราชใดๆ ในไต้หวัน"
ในขณะที่จีนกำลังเตรียมตัวส่งผู้แทนพิเศษไปเป็นคนกลางสันติภาพในยูเครน ฉิน และรัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี ได้หารือกันเกี่ยวกับสงครามนี้เช่นกัน โดยปักกิ่งเรียกร้องเบอร์ลินให้รับบทเป็นผู้นำในการสร้างกรอบด้านความมั่นคงของยุโรปที่สมดุล มีประสิทธิภาพและยั่งยืน
นอกจากนี้ ฉิน ยังได้คัดค้านความเป็นไปได้ที่อียูจะกำหนดมาตรการคว่ำบาตร 8 บริษัทจีน เกี่ยวกับการติดต่อค้าขายกับรัสเซีย โดยเน้นย้ำว่ามันคือการแลกเปลี่ยนและเป็นความร่วมมือตามปกติระหว่างบริษัทจีนกับบริษัทรัสเซีย
เขาบอกว่าจีนจะใช้มาตรการตอบโต้ที่จำเป็นเพื่อปกป้องอย่างหนักแน่นต่อผลประโยชน์ที่ชอบธรรมของบริษัทจีน หากมีการกำหนดมาตรการคว่ำบาตรลงโทษดังกล่าว
ทั้งนี้ ฉิน ได้กล่าวปิดท้ายเน้นย้ำว่าตามกฎหมายของประเทศ ได้ห้ามจีนจากการส่งมอบอาวุธไปยังภูมิภาคต่างๆ ที่อยู่ในความขัดแย้ง และพวกเขามีกฎระเบียบต่างๆ ที่ดูแลการส่งออกสินค้าที่สามารถนำไปใช้ได้ในทั้งการพาณิชย์และการทหาร
(ที่มา : เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์)