นักวิเคราะห์ชี้จีน ไต้หวัน และอเมริกาล้วนมีผลประโยชน์ร่วมกันในการทำให้การแวะเปลี่ยนเครื่องที่แคลิฟอร์เนียของผู้นำไทเปในวันพุธ (4 เม.ย.) ได้รับความสนใจในประเด็นที่แต่ละฝ่ายคิดว่าเหมาะสม แต่ไม่กลายเป็นการจุดชนวนให้เกิดวิกฤตครั้งใหม่ขึ้นมาอีก
ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ของไต้หวันมีกำหนดถึงลอสแองเจลิสในวันพุธ และจะพบปะหารือกับเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นการพบกันครั้งแรกที่เกิดขึ้นในอเมริกา
แน่นอนว่า เหตุการณ์ดังกล่าวสามารถกระตุ้นปฏิกิริยารุนแรงจากจีนที่ถือว่า ไต้หวันเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของตน เช่นเดียวกับเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้วที่กองทัพจีนจัดการซ้อมรบขนาดใหญ่และยิงขีปนาวุธข้ามเกาะไต้หวัน ตลอดจนตัดความสัมพันธ์ทางการทหารกับวอชิงตัน หลังจากแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ คนก่อนหน้านี้เดินทางไปเยือนไทเป
แต่แหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนเชื่อว่า ครั้งนี้จีนคงไม่ตอบโต้รุนแรงเท่าเดิม ขณะที่ทั้งอเมริกาและไต้หวันต่างพยายามทำให้ทริปนี้ลดดีกรีการยั่วยุผู้นำปักกิ่งลง ซึ่งรวมถึงการจัดให้ ไช่ พบกับแมคคาร์ธี ในแคลิฟอร์เนียแทนที่จะเป็นที่อื่นที่ใกล้วอชิงตัน ดี.ซี. หรือที่ไต้หวัน และวางกำหนดการให้ ไช่ ปรากฏตัวต่อสาธารณชนน้อยมาก
ฝ่ายจีนเองมีแรงจูงใจสำคัญในการควบคุมการตอบโต้ของตัวเอง ขณะที่กำลังพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์กับยุโรป นอกจากนี้ ไต้หวันยังกำลังเตรียมจัดเลือกตั้งประธานาธิบดีต้นปีหน้า
สัปดาห์ที่แล้ว ซู เซียหยวน อุปทูตจีนประจำสถานเอกอัครราชทูตในกรุงวอชิงตัน เตือนว่า การพบปะระหว่างแมคคาร์ธี กับ ไช่ อาจนำไปสู่การเผชิญหน้ารุนแรงอีกครั้งระหว่างจีนกับอเมริกา ต่อมาในวันอังคาร (4) กระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงว่า จะจับตาเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและปกป้องอธิปไตยของจีนอย่างเด็ดเดี่ยว
โฆษกสถานเอกอัครราชทูตจีนในกรุงวอชิงตัน ยังสำทับว่า ไม่ว่าจะดำเนินการอย่างไร การพบกับแมคคาร์ธีก็ถือเป็นการละเมิดอธิปไตยของจีนอย่างรุนแรงและบ่อนทำลายรากฐานทางการเมืองของสัมพันธภาพปักกิ่ง-วอชิงตัน
กระนั้น จาค็อบ สโตคส์ จากกลุ่มคลังสมอง “นิว อเมริกัน ซิเคียวริตี” มองว่า เห็นได้ชัดว่า ทั้งไทเป วอชิงตัน และปักกิ่งพยายามจัดการเนื้อหาและภาพที่ปรากฏของการแวะเปลี่ยนเครื่องของ ไช่ อย่างระมัดระวัง
วอชิงตันไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทเป แต่มีกฎหมายกำหนดให้สนับสนุนให้ไต้หวันป้องกันตนเอง ขณะที่ปักกิ่งไม่เคยปฏิเสธความเป็นไปได้ในการใช้กำลังเข้าควบคุมไต้หวัน และเจ้าหน้าที่ตะวันตกกังวลว่า ความขัดแย้งในประเด็นไต้หวันมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น
การแวะเปลี่ยนเครื่องที่แอลเอของ ไช่ เกิดขึ้นหลังจากที่ผู้นำเกาะไต้หวันผู้นี้แวะนิวยอร์กนาน 48 ชั่วโมงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อมุ่งหน้าสู่อเมริกากลาง และเยือนพันธมิตรทางการทูตที่เหลืออยู่แค่ไม่กี่ประเทศของตน
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ คนหนึ่งเผยว่า กระทรวงการต่างประเทศอเมริกันเจรจาอย่างระมัดระวัง เพื่อให้การแวะนิวยอร์กของ ไช่ ไม่กลายเป็นข่าวครึกโครมและยั่วยุปักกิ่งน้อยที่สุด ขณะที่ ไช่ และพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าของเธอกังวลเช่นกันเกี่ยวกับผลกระทบต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีหน้า
ทั้งนี้ ก๊กมินตั๋ง (เคเอ็มที) พรรคฝ่ายค้านสำคัญในไต้หวัน สนับสนุนความสัมพันธ์ที่มั่นคงกับจีน และนักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า หากสถานการณ์ระหว่างไทเปกับปักกิ่งตึงเครียดมากขึ้นจะส่งผลดีต่อเคเอ็มที
กิจกรรมของ ไช่ ในนิวยอร์กส่วนใหญ่จึงไม่ได้เปิดเผยกับสื่อ และเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ย้ำระหว่างแถลงข่าวว่า การแวะเปลี่ยนเครื่องของ ไช่ เป็นเหตุการณ์ปกติ
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ชี้แจงว่า การแวะเปลี่ยนเครื่องของไช่เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติดั้งเดิมของอเมริกาและลักษณะความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการกับไต้หวัน และย้ำว่า จีนไม่ควรใช้เหตุการณ์นี้เป็นข้ออ้างในการตอบโต้เกินจริง
ด้านพรรคคอมมิวนิสต์จีนเองก็มีเรื่องที่ต้องคำนึงถึงซึ่งอาจทำให้ต้องลดระดับการตอบโต้ลง โดยในส่วนการเลือกตั้งในไต้หวันนั้น ปักกิ่งเดินหมากด้วยการเชิญหม่า อิงจิ่ว อดีตประธานาธิบดีไต้หวันจากพรรคเคเอ็มที เยือนจีนระหว่างที่ ไช่ แวะเปลี่ยนเครื่องในอเมริกา
สัปดาห์นี้ปักกิ่งยังให้การต้อนรับประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส และอัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ขณะที่จีนพยายามปรับปรุงความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดกับยุโรป
เจ้าหน้าที่ยุโรปคนหนึ่งกล่าวว่า การเยือนดังกล่าวอาจช่วยลดระดับการตอบโต้ของจีนต่อกรณีไช่ เนื่องจากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กำลังพยายามเสนอภาพจีนในฐานะผู้รักษาสันติภาพในยูเครน ดังนั้น หากจีนซ้อมรบรอบไต้หวัน ภาพสีในสายตายุโรปคงแย่มาก
นักการทูตเอเชียในไทเปคนหนึ่งขานรับว่า ปักกิ่งคงไม่อยากทำให้หม่าลำบากใจด้วยการซ้อมรบขู่ขวัญไต้หวัน
ดักลาส พาล อดีตผู้แทนของอเมริกาในไต้หวัน มองว่า งานยากสำหรับจีนคือการหาวิธีส่งสัญญาณว่า ไม่พอใจที่ ไช่ พบกับแมคคาร์ธี โดยที่ต้องไม่แสดงปฏิกิริยารุนแรงเหมือนตอนที่เพโลซีเป็นประธานสภาล่างของอเมริกาคนแรกที่เยือนไทเป
อีแวน คานาพาธี อดีตเจ้าหน้าที่สภาความมั่นคงแห่งชาติด้านเอเชียของอเมริกา ชี้ว่า ปักกิ่งหวังให้การเยือนของ หม่า โน้มน้าวคนไต้หวันว่า การมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนจะนำมาซึ่งเสถียรภาพและความมั่งคั่ง และยังหวังฟื้นการลงทุนต่างประเทศของยุโรปในจีน
(ที่มา : รอยเตอร์)