xs
xsm
sm
md
lg

ไม่กลัวอยู่แล้ว! ปธ.สภาสหรัฐฯ ยันเดินหน้าพบ ปธน.ไต้หวัน แม้โดนจีนขู่ 'กำลังเล่นกับไฟ'

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จากรีพับลิกัน ยืนยันว่าเขาจะพบปะกับประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ของไต้หวัน ในแคลิฟอร์เนีย ในวันพุธ (5 เม.ย.) เพิกเฉยต่อเสียงเตือนน่ากลัวจากจีน ที่ขู่ว่าเขา "กำลังเล่นกับไฟ"

ไช่ มีแผนแวะพักในสหรัฐฯ ระหว่างขากลับจากอเมริกากลาง ดินแดนที่เธอได้พบปะกับพวกผู้นำของกัวเตมาลา และเดินทางเยือนเบลีซ ก่อนพบปะกับแมคคาร์ธี

ทำเนียบประธานาธิบดีไต้หวันระบุในวันจันทร์ (3 เม.ย.) ว่าการพบปะระหว่าง 2 คน จะมีขึ้นที่ห้องสมุดประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน แถบชานเมืองลอสแองเจลิส

แผนเบื้องต้นของ แมคคาร์ธี ซึ่งเป็นการเจริญรอยตาม แนนซี เพโลซี อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จากเดโมแครต ที่เดินทางเยือนไต้หวันเมื่อเดือนสิงหาคมปีก่อน กระตุ้นให้จีนทำการซ้อมรบทางทหารครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมารอบเกาะไต้หวัน ดินแดนประชาธิปไตยปกครองตนเองที่ปักกิ่งกล่าวอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดน

การตัดสินใจ แมคคาร์ธี ในการพบปะกับ ไช่ ถูกมองว่าเป็นการประนีประนอม โดยจะเป็นการเน้นย้ำแรงสนับสนุนที่มีต่อไต้หวัน แต่อีกด้านหนึ่งก็เพื่อหลีกเลี่ยงโหมกระพือความตึงเครียดกับจีน

อย่างไรก็ตาม ซู เสวียหยวน อุปทูต ณ สถานทูตจีนประจำวอชิงตัน บอกกับผู้สื่อข่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ว่าวอชิงตันก่อความเสี่ยงเผชิญหน้าร้ายแรง โดยไม่สำคัญว่าพวกผู้นำสหรัฐฯ จะเดินทางเยือนไต้หวันหรือไม่ หรือในทางกลับกัน "สหรัฐฯ เอาแต่พูดว่าการแวะพักไม่ใช่การเยือนและเคยมีมาก่อนแล้ว แต่เราจะไม่ใช้ความผิดพลาดในอดีตเป็นข้ออ้างสำหรับการทำมันซ้ำในปัจจุบัน"

เธอเตือนวอชิงตันว่า "อย่าเล่นกับไฟซ้ำๆ ในประเด็นไต้หวัน" โดยพาดพิงถึงความเคลื่อนไหวต่างๆ ของสหรัฐฯ รวมไปถึงการเดินทางเยือนไต้หวันของนางเพโลซีเมื่อปีที่แล้ว

ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ แมคคาร์ธี เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอาวุโสสุด และถือเป็นลำดับที่ 2 ต่อจากรองประธานาธิบดี ในการสืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

หลังจากเดินทางเข้านิวยอร์กเมื่อวันพุธที่แล้ว (29 มี.ค.) ก่อนหน้าออกทัวร์อเมริกากลาง ไช่ ได้รับการตอบรับจากชาวไต้หวันที่พักอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ระหว่างที่เธอเดินทางไปร่วมงานเลี้ยงต้อนรับ

"เราแสดงให้เห็นถึงปณิธานที่แน่วแน่และความมุ่งมั่นในการป้องกันตนเอง และเรามีความสามารถในการจัดการความเสี่ยงต่างๆ ด้วยความสงบและเยือกเย็น และเรามีศักยภาพในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค" เธอกล่าวระหว่างงานดินเนอร์

ลอรา โรเซนเบอร์เกอร์ หัวหน้าสถาบันอเมริกาในไต้หวัน ซึ่งเป็นสถานทูตโดยพฤตินัยของสหรัฐฯ สืบเนื่องจากทั้งสองฝ่ายไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างกัน ได้ให้การต้อนรับ ไช่ ในนิวยอร์ก ในขณะที่กระทรวงการต่างประเทศบอกว่าไม่คาดหมายว่าจะมีเจ้าหน้าที่พบปะพูดคุยกับเธอ

จีน กล่าวอ้างว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนที่ต้องทวงคืนไม่ว่าวันใดวันหนึ่ง และภายใต้หลักการ "จีนเดียว" ไม่มีประเทศใดที่ธำรงไว้ซึ่งความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับทั้งปักกิ่งและไทเป

สหรัฐฯ ยังคงเป็นพันธมิตรสำคัญที่สุดของไต้หวัน และเป็นผู้จัดหาอาวุธรายใหญ่แก่ไทเป แม้เปลี่ยนข้างหันมารับรองทางการทูตปักกิ่งในปี 1979

การแวะพักสหรัฐฯ ครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาสำคัญ จีนกำลังยกระดับกดดันทางด้านการทหาร เศรษฐกิจและการทูตถาโถมใส่ไต้หวันหนักหน่วงที่สุด นับตั้งแต่ ไช่ ก้าวเข้าสู่อำนาจในปี 2016

สื่อมวลชนสหรัฐฯ รายงานว่ามีสมาชิกสภาคองเกรสราว 20 คน มีแผนอยู่ร่วมกับประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ในการพบปะกับ ไช่ ในแคลิฟอร์เนีย

จีน ยกระดับการลงทุนในละตินอเมริกา สมรภูมิการทูตสำคัญระหว่างปักกิ่งกับไต้หวัน นับตั้งแต่ทั้ง 2 ฝ่ายแยกออกจากกันในปี 1949 ตามหลังสงครามกลางเมือง

ไต้หวัน กล่าวหาจีน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 มีนาคม ว่าใช้การบีบบังคับและข่มขู่ ลวงพันธมิตรให้ตีตัวออกห่างจากพวกเขา หลังจาก เอ็นริเก เรนา รัฐมนตรีต่างประเทศฮอนดูรัส และฉิน กัง รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ประกาศสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ฝ่ายอย่างเป็นทางการในปักกิ่ง

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นแนวโน้มต่อเนื่องในแถบละตินอเมริกา หลังจากก่อนหน้านี้ นิการากัว เอลซัลวาดอร์ ปานามา สาธารณรัฐโดมินิกัน และคอสตาริกา เปลี่ยนข้างทางการทูต หันไปรับรองจีนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

นอกเหนือจากกัวเตมาลา และเบลีซแล้ว ไต้หวันยังคงเหลือความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับบางประเทศในละตินอเมริกาและแคริบเบียน ในนั้นรวมถึงปารากวัย และเฮติ

ในวันจันทร์ (3 เม.ย.) ในเบลีซ ไช่ ขอบคุณหนึ่งในพันธมิตรที่เหลืออยู่ไม่กี่ชาติสำหรับแรงสนับสนุนทางการทูต ท่ามกลางการข่มขู่และกดดันอย่างต่อเนื่องจากจีน ระหว่างกล่าวปราศรัยกับสมัชชาแห่งชาติของประเทศเล็กๆ แห่งนี้

(ที่มา : เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น