กระทรวงกลาโหมรัสเซียเปิดเผยเมื่อวันที่ 29 มี.ค.ว่า รัสเซียได้เริ่มทำการซ้อมรบด้วยระบบขีปนาวุธข้ามทวีป "ยาร์ส" และทหารหลายพันนาย ซึ่งถูกมองว่าเป็นความพยายามอีกครั้งของมอสโกในการโชว์ความเข้มแข็งทางนิวเคลียร์ หลังจากประกาศแผนประจำการอาวุธนิวเคลียร์ในเบลารุส
ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย มีเป้าหมายให้ระบบขีปนาวุธยาร์ส ซึ่งเข้ามาแทนที่ระบบโทโพล เป็นส่วนหนึ่งของ "อาวุธที่ไม่อาจเอาชนะได้" ของรัสเซีย และเป็นกำลังสำคัญในคลังแสงนิวเคลียร์ของพวกเขา
"รวมแล้วบุคลากรทางทหารมากกว่า 300 นาย และยุทโธปกรณ์ต่างๆ ราว 300 ชิ้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับการซ้อมรบครั้งนี้" กระทรวงกลาโหมรัสเซียระบุในถ้อยแถลงที่เผยแพร่บนเทเลแกรม
การซ้อมรบครั้งนี้เกี่ยวข้องกับการที่กองกำลังขีปนาวุธทางยุทธศาสตร์จะทำการตรวจสอบควบคุมอย่างครอบคลุมรูปแบบขีปนาวุธออมสค์ (Omsk) พร้อมด้วยการฝึกซ้อมการบัญชาการและเจ้าหน้าที่ที่ควบคุมรูปแบบขีปนาวุธโนโวซีบีรสค์ ที่มีความจำเป็นสำหรับระบบขีปนาวุธข้ามทวีป "ยาร์ส"
ระหว่างการซ้อมรบ ระบบเคลื่อนที่ "ยาร์ส" จะทำการฝึกฝนใน 3 ภูมิภาคของรัสเซีย แต่ไม่ได้มีการเปิดเผยชื่อภูมิภาคเหล่านั้น
ที่ผ่านมา ทางการของรัสเซียเปิดเผยข้อมูลทางเทคนิคและลักษณะทางเทคนิคเพียงน้อยนิดในเรื่องเกี่ยวกับระบบขีปนาวุธข้ามทวีปเคลื่อนที่ยาร์ส ซึ่งมีข่าวว่ามีพิสัยทำการถึง 12,000 กิโลเมตร
แต่บรรดาบล็อกเกอร์ทางทหาร ระบุว่า ระบบดังกล่าวสามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ได้หลายหัวรบพร้อมกัน และแต่ละหัวรบยังสามารถยิงโจมตีเป้าหมายต่างกันได้อย่างอิสระต่อกัน รวมถึงสามารถติดตั้งบนรถบรรทุกหรือประจำการในไซโล
นับตั้งแต่เปิดฉากรุกรานยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ปีก่อน รัสเซียทำการซ้อมรบทางทหารมาแล้วหลายต่อหลายรอบ ทั้งในแผ่นดินของตนเองและร่วมกับประเทศอื่นๆ เช่น จีน หรือแอฟริกาใต้
นอกจากนี้ พวกเขายังยกระดับการซ้อมรบทางทหารกับเบลารุส ซึ่งมีชายแดนติดกับทั้งรัสเซียและยูเครน โดยได้ทำการซ้อมรบอย่างครอบคลุมหลายครั้งในช่วงขวบปีที่ผ่านมา
เบลารุส บอกว่าพวกเขาตัดสินใจอนุญาตให้รัสเซียประจำการอาวุธนิวเคลียร์ทางเทคนิค เพื่อตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรของตะวันตก และการยกระดับกองทัพของรัฐสมาชิกนาโต้ ที่มีชายแดนใกล้กับพวกเขา
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ บอกว่าเขามีความกังวลเกี่ยวกับการตัดสินใจดังกล่าว แม้อีกด้านหนึ่งจะบอกว่าอเมริกายังไม่พบเห็นความเคลื่อนไหวใดๆ ที่บ่งชี้ว่า รัสเซีย ใกล้ใช้อาวุธนิวเคลียร์ทางเทคนิคในยูเครนแล้ว
(ที่มา : รอยเตอร์)