รัสเซียจะประจำการอาวุธนิวเคลียร์ทางเทคนิคในเบลารุส ประเทศเพื่อนบ้าน จากการเปิดเผยของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ในวันเสาร์ (25 มี.ค.) ซึ่งจะกลายเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1990 ที่มอสโกจะมีฐานอาวุธดังกล่าวนอกประเทศของตนเอง
คำแถลงของปูติน เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับตะวันตกกำลังหนักหนาสาหัสมากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับสงครามยูเครน และมีขึ้นในขณะที่บรรดาผู้สัดทัดกรณีบางส่วนคาดเดาเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการโจมตีทางนิวเคลียร์
สหรัฐฯ อีกมหาอำนาจทางนิวเคลียร์ของโลก แสดงปฏิกิริยาต่อคำสั่งของปูติน ด้วยความระมัดระวัง โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงรายหนึ่งในรัฐบาลเน้นว่า รัสเซียและเบลารุสเคยพูดถึงข้อตกลงหนึ่งในลักษณะดังกล่าวตั้งแต่ปีที่แล้ว และบอกว่ายังไม่พบสัญญาณ มอสโกมีแผนใช้อาวุธนิวเคลียร์
อาวุธนิวเคลียร์ทางเทคนิค เป็นการอ้างถึงอาวุธนิวเคลียร์ที่ใช้โดยเฉพาะเจาะจงในสมรภูมิรบ ไม่ใช่อาวุธนิวเคลียร์ที่มีแสนยานุภาพทำลายล้างเมืองต่างๆ อย่างไรก็ตาม ไม่เป็นที่ชัดเจนว่ารัสเซียมีอาวุธลักษณะนี้มากน้อยแค่ไหน
ผู้เชี่ยวชาญบอกกับรอยเตอร์ว่า พัฒนาการของสถานการณ์นี้มีความสำคัญมาก เนื่องจากจนกระทั่งปัจจุบัน รัสเซียยังไม่เคยประจำการอาวุธนิวเคลียร์นอกเขตชายแดนของตนเอง ต่างจากสหรัฐฯ
ปูติน ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์แห่งรัฐว่า ประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก แห่งเบลารุส หยิบยกประเด็นการประจำการอาวุธนิวเคลียร์ทางเทคนิคในประเทศของเขามาพูดคุยนานแล้ว
"มันไม่ใช่เรื่องผิกปกติใดๆ เลย ลำดับแรก สหรัฐฯ ก็ทำแบบนี้มานานหลายทศวรรษแล้ว พวกเขาประจำการอาวุธนิวเคลียร์ทางเทคนิคของตนเองในดินแดนของพันธมิตรของพวกเขา" ปูตินกล่าว "เราตกลงว่าเราจะทำแบบเดียวกัน โดยไม่ละเมิดพันธสัญญาต่างๆ ของเรา ผมเน้นว่าเราจะทำโดยไม่ละเมิดพันธสัญญาระหว่างประเทศของเรา ในด้านการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์"
เจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลสหรัฐฯ เน้นว่ามอสโก และมินส์ก พูดคุยกันเกี่ยวกับการขนย้ายอาวุธนิวเคลียร์มากสักพังหนึ่งแล้ว "เราไม่เห็นเหตุผลใดๆ ที่จะปรับเปลี่ยนบทบาทนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ของเรา หรือไม่พบสิ่งบ่งชี้ว่ารัสเซียกำลังเตรียมพร้อมสำหรับใช้อาวุธนิวเคลียร์ เรายังคงมีภาระหน้าที่ต่อการป้องกันตนเองร่วมของพันธมิตรนาโต้"
ปูติน ไม่เจาะจงว่าเมื่อไหร่อาวุธนิวเคลียร์จะถูกขนย้ายไปเบลารุส ซึ่งมีชายแดนติดกับ 3 ชาติสมาชิกนาโต้ ได้แก่ โปแลนด์ ลิทัวเนียและลัตเวีย
ในเรื่องนี้ ฮานส์ คริสเทนเซน ผู้อำนวยการโครงการข้อมูลนิวเคลียร์ ณ สหพันธ์นักวิทยาศาสตร์อเมริกัน ให้ความเห็นว่า "นี่เป็นส่วนหนึ่งในเกมของปูติน ในความพยายามข่มขู่นาโต้ เพราะว่าในเบลารุสไม่มีสาธารณูปโภคทางทหารสำหรับดำเนินการในเรื่องนี้ ในขณะที่รัสเซียมีกองกำลังและอาวุธเหล่านี้จำนวนมากภายในรัสเซีย"
กลุ่มรณรงค์ระหว่างประเทศเพื่อการยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์ (International Campaign to Abolish Nuclear Weapons - ICAN) ประณามความเคลื่อนไหวครั้งนี้ ในสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าเป็นการขยายสถานการณ์ให้ลุกลามบานปลายอันตรายอย่างยิ่ง "ในบริบทของสงครามในยูเครน มีความเป็นไปได้สูงมากๆ ของการคำนวณผิดพลาดและตีความผิด การแบ่งปันอาวุธนิวเคลียร์ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงมาก และเสี่ยงก่อผลลัพธ์หายนะแก่มนุษยชาติ"
รัสเซียและเบลารุสมีความสัมพันธ์ทางทหารใกล้ชิดกัน และ มินสก์ อนุญาตให้มอสโกใช้ดินแดนเบลารุสส่งทหารบุกเข้าไปในยูเครนเมื่อปีที่แล้ว และในเดือนมกราคมปีนี้ ทั้ง 2 ชาติได้ยกระดับการซ้อมรบร่วมทางทหาร
เคียฟบอกว่าพวกเขาไม่อาจตัดความเป็นไปได้ของการถูกโจมตีมาจากเบลารุส แต่ยอมรับว่ามีกองกำลังไม่เพียงพอสำหรับการจู่โจมในตอนนี้ อย่างไรก็ตาม ทาง ลูคาเชนโก บอกว่าเขาอยากเห็นทหารของเบลารุสอยู่ห่างจากสงคราม แม้มีแรงกดดันมาจากมอสโก
ส่วนหนึ่งในข้อตกลงที่แถลงโดยปูติน ทางรัสเซียจะก่อสร้างคลังแสงจัดเก็บอาวุธนิวเคลียร์ทางเทคนิคในเบลารุส ให้เสร็จสมบูรณ์ภายในวันที่ 1 กรกฎาคม "เราไม่ได้ส่งมอบอาวุธ และสหรัฐฯ ก็ไม่ได้ส่งมอบอาวุธแก่พันธมิตร โดยพื้นฐานแล้วเราทำในแบบเดียวกับที่พวกเขาทำมานานหลายทศวรรษ" ปูตินกล่าว "พวกเขามีพันธมิตรในบางประเทศ พวกเขาฝึกฝน พวกเขามีบุคลากร เรากำลังดำเนินการแบบเดียวกัน"
ปูติน เผยด้วยว่า ที่ผ่านมา รัสเซียได้ประจำการเครื่องบินศักยภาพติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ทางเทคนิค จำนวน 10 ลำ ในเบลารุส และมอสโกได้ขนย้ายระบบขีปนาวุธทางเทคนิค "อิสกันดาร์" จำนวนหนึ่งไปเบลารุสแล้ว ในขณะที่ระบบดังกล่าวสามารถใช้ยิงอาวุธนิวเคลียร์ได้ด้วย
"มันเป็นความเคลื่อนไหวที่สำคัญมาก" นิโคไล โซโกล ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ปลดอาวุธและไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ ในเวียนนา กล่าว "รัสเซีย ภูมิใจเป็นอย่างมากมาตลอดกับการที่พวกเขาไม่มีอาวุธนิวเคลียร์นอกเขตแดนของตนเอง ดังนั้น ในตอนนี้ ใช่แล้ว พวกเขากำลังเปลี่ยนแปลง และมันเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลวง"
ครั้งที่สหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 1991 มีการประจำการอาวุธนิวเคลียร์ในรัฐเอกราชใหม่ 4 แห่ง ประกอบด้วย รัสเซีย ยูเครน เบลารุส และคาซัคสถาน ต่อมาในเดือนพฤษภาคม 1992 ทั้ง 4 รัฐ เห็นพ้องว่าอาวุธทั้งหมดควรประจำการอยู่ในรัสเซีย และการโอนถ่ายหัวรบจากยูเครน เบลารุส และคาซัคสถานแล้วเสร็จในปี 1996
(ที่มา : รอยเตอร์)