แผนของรัฐบาลสหราชอาณาจักรที่จะจัดส่งกระสุนปืนใหญ่ยูเรเนียมด้อยสมรรถนะให้แก่ยูเครน สำหรับใช้ในความขัดแย้งกับรัสเซีย แสดงให้เห็นว่าคำกล่าวอ้างของตะวันตกเกี่ยวกับความห่วงใยสันติภาพและอนาคตของยูเครนนั้นเป็นเรื่องโกหก จากความเห็นของโฆษกกระทรวงการต่างประเทศแดนหมีขาว พร้อมย้อนอดีตถึงคำกล่าวหาที่ไม่มีมูลของสหรัฐฯ ที่มีต่อซัดดัม ฮุสเซน ซึ่งถูกใช้เป็นคำกล่าวอ้างสำหรับปฏิบัติการรุกรานอิรักในปี 2003
มาเรีย ชาคาโรวา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ให้สัมภาษณ์กับสถานีวิทยุสปุตนิกในวันพุธ (22 มี.ค.) เน้นย้ำว่าถ้อยแถลงของลอนดอน คือสัญญาณแห่ง "การขาดความยั้งคิด ไร้ความรับผิดชอบ และลอยนวลพ้นผิด" ของสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรในเรื่องของกิจการระหว่างประเทศต่างๆ
เธอเน้นย้ำว่า กระสุนที่มียูเรเนียมด้อยสมรรถนะเป็นส่วนประกอบ ไม่ใช่แค่ทรงพลานุภาพมากกว่าและศักยภาพในการเจาะทะลุทะลวงมากกว่า แต่มันยังก่อการปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีในดิน สร้างความเสียหายระยะยาวแก่สิ่งแวดล้อม และส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวไปอีกหลายชั่วอายุคน
"ทุกอย่างที่เราได้ยินจากประเทศเหล่านี้ (สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร) เกี่ยวกับสันติภาพ ทางออกของความขัดแย้ง อนาคตของยูเครน ความผาสุกของประชาชนชาวยูเครน ทั้งหมดเป็นเรื่องโกหก เป็นเท็จและก่อความสับสนโดยสิ้นเชิงแก่ประชาคมนานาชาติ ในความเป็นจริงมันมีเป้าหมายต่างออกไปโดยสิ้นเชิง" ชาคาโรวา กล่าว
"หลังจากสหราชอาณาจักรแถลงแผนจัดหากระสุนปืนใหญ่ยูเรเนียมด้อยสมรรถนะเจาะเกราะแก่รัฐบาลเคียฟ มันก็ไม่มีข้อสงสัยอีกต่อไปแล้วว่า เรากำลังพูดถึงเจตนาที่ชัดเจนของตะวันตกที่นำโดยสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ในการเห็นยูเครนถูกทำลายโดยสิ้นเชิง"
ระหว่างให้สัมภาษณ์กับในลอนดอนเมื่อวันจันทร์ (20 มี.ค.) แอนนาเบล โกลดี รัฐมนตรีรับผิดชอบงานด้านกลาโหมของสหราชอาณาจักร เปิดเผยว่า กระสุนสำหรับรถถังประจัญบานชาลเลนเจอร์ 2 ที่สหราชอาณาจักรกำลังส่งไปยูเครน ในนั้นรวมถึงกระสุนเจาะยานเกราะซึ่งบรรจุยูเรเนียมด้อยสมรรถนะ พร้อมระบุว่า กระสุนดังกล่าวควรถูกส่งไปให้เคียฟ เพราะว่ามันมีประสิทธิภาพสูงในการเอาชนะรถถังสมัยใหม่และยานเกราะสมัยใหม่
"ถ้อยแถลงของโกลดี เป็นอีกครั้งของการยั่วยุจากสหราชอาณาจักร ซึ่งมีเป้าหมายยกระดับความขัดแย้งในยูเครนให้ลุกลามบานปลายเข้าสู่ระดับใหม่" ชาคาโรวา กล่าว "ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่มันเกิดขึ้นระหว่างที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน เดินทางมามอสโก เพื่อพบปะพูดคุยกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การสร้างเสถียรภาพระหว่างประเทศ และหารือเกี่ยวกับแผนสันติภาพยูเครนของจีน"
โฆษกหญิงรายนี้เน้นย้ำว่า "กระสุนที่มียูเรเนียมด้อยสมรรถนะเป็นส่วนประกอบ แท้จริงแล้วคืออาวุธทำลายล้างที่มีส่วนประกอบของนิวเคลียร์ ประเด็นอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูงเป็นส่วนหนึ่งในตรรกะของพวกแองโกล-แซกซอน ในความพยายามบั่นทอนเสถียรภาพสถานการณ์ระหว่างประเทศ"
เธอยังได้เท้าความถึงคำกล่าวอ้างที่ไร้หลักฐานของสหรัฐฯ ครั้งที่วอชิงตันกล่าวหารัฐบาลของซัดดัม ฮุสเซน มีอาวุธทำลายล้างในครอบครอง สำหรับใช้เป็นข้ออ้างในการยกพลรุกรานอิรักในปี 2003 และเธอเน้นด้วยว่านาโต้เคยใช้กระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะ ระหว่างทิ้งระเบิดถล่มยูโกสลาเวียในปี 1999
"ย้อนกลับไปในตอนนั้น ยูเรเนียมด้อยสมรรถนะ 238 ราว 15 ตัน ถูกหย่อนลงใส่ดินแดนยูโกสลาเวีย และเซอร์เบียยังคงทุกข์ทรมานจากผลกระทบดังกล่าว รายงานพบประชาชนล้มป่วยเป็นมะเร็งในบางรูปแบบสูงสุดเป็นประวัติการณ์" ชาคาโรวา ระบุ
"หลังมีคำแถลงเกี่ยวกับการส่งมอบกระสุนที่มียูเรเนียมด้อยสมรรถนะเป็นส่วนประกอบแก่ยูเครน เราไม่มีข้อสงสัยใดๆ อีกต่อไปว่าโดยหลักการแล้วใครยืนอยู่เบื้องหลังความเคลื่อนไหวนี้ ใครเริ่มความขัดแย้งในยูเครนในทุกระยะ แน่นอนว่ามันคือกลุ่มตะวันตกที่มีนาโต้เป็นศูนย์กลาง นำโดยสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร" เธอกล่าวย้ำ
ปูติน ในวันอังคาร (21 มี.ค.) ประณามสหราชอาณาจักรต่อแผนจัดหากระสุนดังกล่าวให้ยูเครน โดยบอกว่ามอสโกถูกบีบให้ตอบโต้อย่างเหมาะสม เนื่องจากอาวุธดังกล่าวมีส่วนประกอบของนิวเคลียร์
กระทรวงกลาโหมสหราชอาณาจักร ตอบโต้ความเห็นของผู้นำรัสเซีย โดยบอกว่า "สหราชอาณาจักรใช้ยูเรเนียมด้อยสมรรถนะในกระสุนเจาะเกราะของพวกเขามานานหลายทศวรรษแล้ว และยูเรเนียมเป็นส่วนประกอบตามมาตรฐานและไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับอาวุธนิวเคลียร์หรือศักยภาพทางนิวเคลียร์" ในขณะที่ทางโฆษกบอกว่า คำกล่าวหาของมอสโก "เป็นการจงใจพยายามให้ข้อมูลผิดๆ แก่ประชาคมนานาชาติในประเด็นนี้"
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)