xs
xsm
sm
md
lg

แล้วไง UK ลุย US หนุน! เชื่อวิกฤตไม่ลามเดินหน้าจัดกระสุนยูเรเนียมให้เคียฟ เมินคำเตือนรัสเซียเสี่ยงปะทุ 'สงครามนิวเคลียร์'

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เจมส์ เคลเวอร์ลี รัฐมนตรีต่างประเทศสหราชอาณาจักรในวันพุธ (22 มี.ค.) เชื่อไม่มีสถานการณ์ลุกลามบานปลายทางนิวเคลียร์ในสงครามยูเครน ส่วนสหรัฐฯ ก็ปกป้องสุดตัวจากกรณีที่สหราชอาณาจักร เตรียมจัดหากระสุนรถถังที่มียูเรเนียมด้อยสมรรถนะเป็นส่วนประกอบแก่กองกำลังยูเครน เมินเสียงประณามจากประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน และคำเตือนเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัสเซีย ที่บอกว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวเสี่ยงก่อให้เกิดการปะทะทางนิวเคลียร์

เมื่อวันจันทร์ (20 มี.ค.) สหราชอาณาจักรยืนยันว่าพวกเขากำลังจัดหากระสุนที่มียูเรเนียมด้อยสมรรถนะเป็นส่วนประกอบแก่ยูเครน โดยยูเรเนียมด้อยสมรรถนะถูกใช้ในอาวุธ เพราะว่ามันสามารถทะลวงรถถังและยานเกราะได้ง่ายกว่า สืบเนื่องจากความหนาแน่นของมัน และลักษณะทางกายภาพอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม ปูติน ในวันอังคาร (21 มี.ค.) ประณามสหราชอาณาจักรต่อแผนจัดหากระสุนดังกล่าวให้ยูเครน โดยบอกว่ามอสโกถูกบีบให้ตอบโต้อย่างเหมาะสม เนื่องจากอาวุธดังกล่าวมีส่วนประกอบของนิวเคลียร์

ในเรื่องนี้ เคลเวอร์ลี ตอบโต้ว่า รัสเซียเป็นเพียงประเทศเดียวที่พูดถึงความเสี่ยงทางนิวเคลียร์ที่เพิ่มขึ้น และบอกว่ากระสุนดังกล่าวเป็นกระสุนทั่วไป "ไม่มีสถานการณ์ลุกลามบานปลายทางนิวเคลียร์ มีเพียงประเทศเดียวในโลกที่กำลังพูดถึงประเด็นนิวเคลียร์ นั่นคือรัสเซีย ไม่มีภัยคุกคามกับรัสเซีย นี่เป็นเพียงแค่การให้ความช่วยเหลือยูเครนปกป้องตนเองล้วนๆ" เขากล่าว "ทุกคนควรได้เข้าใจว่า แค่เพราะว่ามีคำว่ายูเรเนียมปรากฏในชื่อของกระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะ มันไม่ได้เป็นกระสุนนิวเคลียร์ มันเป็นประสุนทั่วไปจริงๆ"

รอยเตอร์กล่าวอ้างว่า สหราชอาณาจักรใช้ยูเรเนียมด้อยสมรรถนะในกระสุนเจาะเกราะของพวกเขามานานหลายทศวรรษ และไม่ได้พิจารณาว่ากระสุนเหล่านี้มีศักยภาพทางนิวเคลียร์ ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่ารัสเซียก็มีกระสุนที่มียูเรเนียมด้อยสมรรถนะเป็นส่วนประกอบเช่นกัน

กระสุนที่มียูเรเนียมด้อยสมรรถนะเป็นส่วนประกอบ ก่อความเสี่ยงทางสุขภาพโดยเฉพาะกับพื้นที่จุดตกของมัน บริเวณที่มันสามารถฟุ้งกระจายเข้าสู่ปอดและอวัยวะสำคัญของผู้คน

ในส่วนของสหรัฐฯ ในวันพุธ (22 มี.ค.) ก็ออกมาปฏิเสธเสียงคร่ำครวญของรัสเซียที่มีต่อถ้อยแถลงของสหราชอาณาจักร เกี่ยวกับการจัดหากระสุนที่มียูเรเนียมด้อยสมรรถนะเป็นส่วนประกอบแก่ยูเครน โดยทาง จอห์น เคอร์บี โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบชาว เรียกเสียงโวยวายของมอสโกว่าเป็นความพยายามเบี่ยงประเด็น

เคอร์บี กล่าวว่า กระสุนซึ่งเสริมศักยภาพในการเอาชนะการป้องกันตัวของรถถังไม่ใช่กัมมันตภาพรังสี และมันไม่ใกล้เคียงกับการเป็นวงวานของอาวุธนิวเคลียร์ "มันคือรูปแบบกระสุนธรรมดาที่ใช้โดยเฉพาะสำหรับศักยภาพเจาะเกราะ ดังนั้นขอพูดอีกครั้งว่า หากรัสเซียมีความกังวลเกี่ยวกับสวัสดิภาพของรถถังและพลทหารรถถังของพวกเขา พวกเขาก็แค่พารถถังและกำลังพลเหล่านั้น ข้ามพรมแดนกลับไปยังรัสเซีย" เขากล่าว "ผมคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ที่นั่นคือ รัสเซียไม่ต้องการให้ยูเครนเดินหน้ากำจัดรถถังของพวกเขา"

เซียร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย ระบุว่า สหราชอาณาจักรกำลังทำให้ความขัดแย้งลุกลามบานปลายสู่ขั้นใหม่ที่มีความร้ายแรงอย่างมาก ในขณะที่ผู้แทนทูตรัสเซียประจำเจนีวา กล่าวหาลอนดอนพยายามลากยาวสงครามที่ยืดเยื้อออกไป และปิดโอกาสสำหรับการหาทางออกทางการเมืองและการทูตในวิกฤตยูเครน

อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ประธานาธิบดีเบลารุส พันธมิตรใกล้ชิดของปูติน เดินเข้าสู่ข้อถกเถียงนี้เช่นกันในวันพุธ (22 มี.ค.) โดยเชื่อว่า รัสเซียจะแก้เผ็ดการตัดสินใจของสหราชอาณาจักร ด้วยการจัดหากระสุนบรรจุยูเรเนียมแท้แก่เบลารุส "เราจำเป็นต้องถอยห่างจากเรื่องบ้าๆ นี้ ทันทีที่กระสุนนี้ระเบิดใส่ฐานที่มั่นต่างๆ ของทหารรัสเซีย คุณจะเห็นการตอบโต้อันน่าหวั่นกลัว มันจะเป็นบทเรียนสำหรับทั่วทั้งโลก"

"รัสเซียไม่ได้มีแค่ยูเรเนียมด้อยสมรรถนะเท่านั้น เราจำเป็นต้องลดระดับแนวโน้มของสถานการณ์ที่ลุกลามบานปลายในความขัดแย้งนี้ และมุ่งหน้าหาทางออกด้วยสันติวิธี" เขากล่าว

คำเตือนของ ลูคาเชนโก มีขึ้นในขณะที่ เซอร์เก รยาบคอฟ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซีย กล่าวในวันเดียวกัน ว่าความเสี่ยงของการปะทะทางนิวเคลียร์อยู่ในระดับสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ พร้อมเตือนว่ามอสโกอยู่ในความขัดแย้งอย่างเปิดเผยโดยพฤตินัยกับสหรัฐฯ แล้ว เกี่ยวกับสงครามในยูเครน

ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและสหรัฐฯ ที่ตึงเครียดมาช้านาน ได้ดำดิ่งเลวร้ายยิ่งขึ้น นับตั้งแต่มอสโกเปิดฉากรุกรานยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีก่อน จากนั้นรัสเซียก็ถอนตัวจากสนธิสัญญาลดอาวุธนิวเคลียร์ New START ที่ทำไว้กับสหรัฐฯ

ระหว่างพูดที่เวทีสัมมนาหนึ่ง ในหัวข้อ "เมื่อโลกปราศจาก START แล้วจะเกิดอะไรขึ้นจากนี้ไป" รยาบคอฟ บอกว่าเวลานี้คงไม่มีคำถามเกี่ยวกับการคืนสู่สนธิสัญญาของรัสเซียอีกต่อไป พร้อมกับวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่เขาเรียกว่าวิถีทางที่เป็นปรปักษ์ของวอชิงตันที่มีต่อมอสโก "ผมไม่ต้องการดิ่งเข้าสู่การพูดคุยว่าในวันนี้ ความเป็นไปได้ของความขัดแย้งทางนิวเคลียร์อยู่ในระดับสูงใช่หรือไม่ แต่มันสูงกว่าทุกช่วงเวลาที่เราเคยมีในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา"

รยาบคอฟ บอกว่ารัสเซียมีความมุ่งมั่นรักษาไว้ซึ่งโลกที่มีความปลอดภัยและเป็นอิสระจากภัยคุกคามสงครามนิวเคลียร์ แต่บอกว่าด้วยสถานการณ์ไม่สามารถเดินหน้าไปตามปกติ ดังนั้น เวลานี้มอสโกจึงอยู่ในสถานะขัดแย้งอย่างเปิดเผยโดยพฤตินัยกับสหรัฐฯ"

กว่า 1 ปี นับตั้งแต่เปิดฉากรุกรานยูเครน ทางเครมลินเน้นย้ำคำกล่าวหาที่ว่า วอชิงตัน มีส่วนร่วมโดยตรงกับความขัดแย้งด้วยการจัดหาอาวุธป้อนแก่เคียฟ พร้อมกับให้คำจำกัดความสงคราม ว่าเป็นการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของรัสเซีย

ทั้งสหรัฐฯ และรัสเซีย ซึ่งต่างเป็นมหาอำนาจทางนิวเคลียร์รายใหญ่ที่สุดของโลก บอกว่าไม่มีใครสามารถเป็นผู้ชนะในสงครามนิวเคลียร์ และต้องไม่เกิดการสู้รบทางนิวเคลียร์ อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งในยูเครน เพิ่มความกังวลเกี่ยวกับการเผชิญหน้าโดยตรงระหว่างรัสเซียกับตะวันตก

(ที่มา : รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น