xs
xsm
sm
md
lg

กรณีรัสเซีย ‘สอย’ โดรนมะกันร่วงลงทะเลดำ เป็นลางไม่ดีสำหรับการรุกฤดูสปริงของยูเครน ซึ่งสหรัฐฯ บอกใบ้ว่าจะเกิดขึ้นที่ไครเมีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สตีเฟน ไบรเอน ***


โดรนเอ็มคิว-9 รีเปอร์ ขณะแสดงการบินผาดโผนกลางอากาศ เหนือฐานทัพอากาศครีช รัฐเนวาดา สหรัฐฯ (ภาพเผยแพร่โดยกองทัพอากาศสหรัฐฯ)
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)

Reaper drone takedown augurs ill for Crimea offensive
By STEPHEN BRYEN
16/03/2023

การที่เครื่องบินขับไล่รัสเซีย “สอย” โดรน “รีเปอร์” ของสหรัฐฯ ร่วงลงทะเลดำ อาจเป็นการระดมยิงระลอกแรกของสงครามชิงแหลมไครเมียที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้าไม่นาน ซึ่งจะดึงลากสหรัฐฯ ถลำลึกเข้าสู่สงครามคราวนี้มากขึ้นอีกอย่างมีอันตรายยิ่ง

กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) แถลงว่า การที่นักบินของเครื่องบินขับไล่ ซู-27 (Su-27) ของรัสเซีย ทำให้โดรนเอ็มคิว-9 รีเปอร์ (MQ-9 Reaper) ของสหรัฐฯ ตกลงไปในทะเลดำ เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เป็นพฤติการณ์ที่ “ไม่ปลอดภัยและไม่เป็นมืออาชีพ” ทว่าเพนตากอนไม่ได้อธิบายว่า โดรนลำนี้กำลังทำอะไรอยู่ขณะบินเข้าไปใกล้ๆ แหลมไครเมียเช่นนี้ รวมทั้งไม่ได้บอกกล่าวแก่สาธารณชนเกี่ยวกับสมรรถนะที่พิเศษโดดเด่นของอากาศยานไร้นักบินรุ่นนี้

ฝ่ายรัสเซียโวยว่า โดรนลำนี้เข้าไปอยู่ในพื้นที่ต้องห้าม โดยที่รัสเซียได้แจ้งให้ทุกๆ คนทราบแล้วรวมทั้งสหรัฐฯ ด้วยว่าพื้นที่ดังกล่าวเข้าไม่ได้ ทั้งนี้ ตามที่ปรากฏออกมา ตำแหน่งของโดรนลำนี้อยู่ตรงบริเวณห่างออกไปราวๆ 60 กิโลเมตรทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเซวาสโตโปล (Sevastopol) เมืองท่าสำคัญบนแหลมไครเมีย ทั้งนี้ตามรายงานของฝ่ายรัสเซีย [1]

ด้านสหรัฐฯ พยายามย้ำว่าโดรนรีเปอร์ลำนี้ไม่ได้ติดตั้งอาวุธใดๆ ทั้งนี้ โดรนรุ่นนี้ออกแบบมาให้มีจุดติดตั้งอาวุธได้รวม 8 จุด [2] โดยสามารถติดตั้งอาวุธได้หลากหลายทีเดียว นอกจากนั้น มันยังมีชุดตัวเซ็นเซอร์ที่จับสัญญาณได้อย่างละเอียดประณีตมาก 1 ชุด

เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำกรุงวอชิงตัน ขณะถูกเรียกตัวไปพบ ณ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ บอกว่าโดรนรีเปอร์ลำนี้กำลังเคลื่อนไหวแบบยั่วยุมุ่งหน้าไปยังไครเมีย เขากล่าวอีกว่าช่องรับส่งผ่านสัญญาณ (transponder) ของโดรนถูกปิด ซึ่งทำให้การใช้เรดาร์เพื่อติดตามร่องรอยของมันกระทำได้ด้วยความยากลำบาก

ไครเมียเป็นดินแดนที่มีความอ่อนไหวอย่างยิ่งยวดสำหรับฝ่ายรัสเซีย ทั้งด้วยเหตุผลทางยุทธศาสตร์เนื่องจากท่าเรือเซวาสโตโปล และเนื่องจากมอสโกถือว่าไครเมียคือส่วนหนึ่งของดินแดนรัสเซียมาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระราชินีแคเธอรีนมหาราช (Catherine the Great ครองราชย์ระหว่างปี 1762-1798) แล้ว

ฝ่ายรัสเซียทราบดีว่า ยูเครนกำลังวางแผนเปิดการรุกใหญ่ฤดูใบไม้ผลิขึ้นมา โดยที่มีรายงานว่าฝ่ายเคียฟกำลังรวมกำลังทหารราวๆ 40,000 นายเพื่อการนี้ เป้าหมายนั้นแทบจะแน่นอนแล้วว่าคือไครเมีย ความลับข้อนี้ถูกเปิดเผยออกมาอย่างไม่ตั้งใจโดยปลัดกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ (US Undersecretary of State) วิกตอเรีย นูแลนด์ (Victoria Nuland) ผู้ซึ่งระบุอย่างชัดเจนว่าสหรัฐฯ สนับสนุนการโจมตีไครเมีย และคำประกาศของเธอก็ได้รับการยกย่องสรรเสริญจากพวกหนังสือพิมพ์ของยูเครน [3]

สหรัฐฯ น่าที่จะอยู่เบื้องหลังการวางแผนและการจัดองค์กรสำหรับการรุกใหญ่ของฝ่ายยูเครนตามที่คาดการณ์กันนี้ วัตถุประสงค์ของการรุกคือการยึดไครเมียกลับคืนมาให้ได้โดยรวดเร็ว และเพื่อปลดเปลื้องแรงกดดันออกไปจากกองทัพยูเครนในพื้นที่ภูมิภาคดอนบาส (แคว้นลูฮันสก์ และแคว้นโดเนตสก์ ทางภาคตะวันออกของยูเครน โดยที่เมืองบัคมุต ก็ตั้งอยู่ในแคว้นโดเนตสก์ -ผู้แปล) ซึ่งเวลานี้กำลังสูญเสียพื้นที่ไปเรื่อยๆ โดยน้ำมือของกองทัพรัสเซีย กองกำลังท้องถิ่นในดอนบาส และกลุ่มวากเนอร์ (Wagner Group) ที่เป็นกองกำลังกึ่งทหาร

สงครามช่วงชิงบัคมุต กำลังอยู่ในระยะท้ายๆ ของมันแล้ว และถ้ายูเครนสูญเสียเมืองนี้ก็จะกลายเป็นความพ่ายแพ้ทั้งทางยุทธศาสตร์และทางจิตวิทยาครั้งใหญ่สำหรับประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน

วอชิงตันตระหนักดีเช่นกันถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายยิ่งในยูเครน และภัยคุกคามที่กำลังเผชิญเซเลนสกีและเหล่านายพลของเขา เวลาเดียวกัน พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ยังคงเที่ยวบอกกล่าวสาธารณชนและพวกชาติพันธมิตรนาโต้ว่า ยูเครนกำลังจะชนะสงคราม ขณะที่ความจริงนั้นเป็นตรงกันข้าม

แต่ยูเครนจะต้องเจอกับปัญหาสาหัสยากลำบากทีเดียวถ้าจะเปิดการรุกใหญ่ครั้งใหม่ให้ได้ ถึงแม้พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ (รวมทั้ง นูแลนด์ ด้วย) พยายามผลักดันอย่างหนักเพื่อให้มันเกิดขึ้นมา

กองทัพยูเครนกำลังประสบกับการบาดเจ็บล้มตายอย่างหนักหน่วง เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ดมิโตร คอตซิอูไบโล (Dmytro Kotsiubailo) ผู้ได้รับการยกย่องอย่างเป็นทางการว่าเป็น “ฮีโร่ของยูเครน” โดยเป็นที่รู้จักคุ้นเคยกันมากกว่าในชื่อเรียกขานของเขาว่า “ดา วินชี” (Da Vinci) ถูกสังหารและร่างของเขาถูกฝังเอาไว้ที่สุสานอัสโคลด์ (Askold’s Grave) ซึ่งเป็นสวนสาธารณะมีชื่อเสียงเก่าแก่ทางประวัติศาสตร์ในกรุงเคียฟ

ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน และนายกรัฐมนตรีซันนา มาริน ของฟินแลนด์ เข้าร่วมพิธีฝังศพ ดมิโตร คอตซิอูไบโล ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อจัดตั้งว่า “ดา วินชี” ผู้ถูกสังหารในการสู้รบกับกองทหารรัสเซียที่เมืองบัคมุต  พิธีศพจัดขึ้นที่กรุงเคียฟเมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา
ร่างของเขาถูกฝังพร้อมๆ กับทหารอีก 2 คน ที่เป็นคุณพ่อและลูกชายซึ่งเสียชีวิตไปพร้อม คอตซิอูไบโล ที่เมืองบัคมุต เซเลนสกีเข้าร่วมพิธีศพ พร้อมกับนายกรัฐมนตรี ซันนา มาริน (Sanna Marin) ของฟินแลนด์ ผู้ซึ่งกำลังนำประเทศของเธอเข้าเป็นสมาชิกของนาโต้ –ด้วยเหตุผลที่ว่าเพื่อปกป้องฟินแลนด์ให้ปลอดภัยจากรัสเซีย

คอตซิอูไบโล เป็นหัวหน้าของกองกำลังอาวุธ “อาสาสมัคร” ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า หน่วยหมาป่า (the Wolves) เขาสู้รบกับพวกกองกำลังฝ่ายโปรรัสเซียมาตั้งแต่เริ่มต้นเมื่อปี 2014 จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้พวกนั้นเกลียดชังเขาและกองกำลังของเขา

พวกนักวิพากษ์วิจารณ์เปรียบเทียบกลุ่มนี้กับกลุ่มกองกำลังอาซอฟ (Azov Brigade) โดยชี้ว่าทั้ง 2 กลุ่มต่างเริ่มต้นขึ้นมาแบบเป็นนักชาตินิยมแนวทางแข็งกร้าว ในการให้สัมภาษณ์เมื่อราวปีเศษๆ มาแล้ว ดา วินชี ยืนกราน [4] ว่า 2 กลุ่มนี้มีความแตกต่างกันมาก โดยที่ตัวเขาและคณะผู้นำของกลุ่มของเขาใช้ความพยายามอย่างแข็งขันในการกลั่นกรองคัดออกพวกที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกซึ่งปกปิดซ่อนเร้นทัศนะความคิดเห็นแบบนาซี ฟาสซิสต์ หรือนักเหยียดผิวของพวกตน

วอชิงตันโพสต์ ที่คอยทำตัวเป็นพลตีกลองปลุกเร้าสนับสนุนการทำสงครามในยูเครนและการกระหน่ำเล่นงานฝ่ายรัสเซียมาอย่างยาวนาน (โดยไม่ได้แสดงความกังวลใดๆ ว่าสงครามนี้อาจจะเกิดบานปลายกลายเป็นสงครามขนาดใหญ่โตยิ่งขึ้น หรือมีการใช้อาวุธนิวเคลียร์) เมื่อกลางเดือนมีนาคม ได้รายงานอ้างอิงคำพูดของผู้บังคับการกองพันผู้หนึ่งซึ่งกล่าวว่า ทหารยูเครนที่ผ่านการฝึกมาอย่างดีที่สุด เวลานี้ตายไปเกือบหมดแล้ว ถ้าหากว่ายังไม่ถึงกับตายไปทั้งหมด [5]

ยูเครนตอนนี้กำลังนำเอาวิธีบังคับเกณฑ์ทหารมาใช้ เพื่อพยายามหาร่างกายใหม่ๆ มาเติมเต็มกำลังพลที่ร่อยหรอลงไป

ถ้ารายงานของวอชิงตันโพสต์ถูกต้อง (และมันสะท้อนข้อมูลข่าวสารซึ่งป้อนให้หนังสือพิมพ์ฉบับนี้โดยเพนตากอน) มันก็หมายความว่ายูเครนกำลังชุมนุมกำลังพลเพื่อการรุกของตน โดยใช้ทหารเกณฑ์ใหม่ๆ และขาดไร้ประสบการณ์เป็นส่วนใหญ่จำนวนมากเป็นพวกซึ่งลังเลไม่ต้องการถูกเกณฑ์เข้าสู่สงครามครั้งนี้ด้วยซ้ำ

รายงานชิ้นเดียวกันนี้ของวอชิงตันโพสต์อ้างว่า “สถานการณ์สำหรับรัสเซียอาจจะเลวร้ายยิ่งกว่านี้เสียอีก” ทว่าเสนอหลักฐานเพื่อสนับสนุนการคาดเดานี้ ซึ่งฟังดูโน้มน้าวใจได้น้อยกว่า โดยบอกว่า “ระหว่างการประชุมครั้งหนึ่งของนาโต้เมื่อเดือนที่แล้ว รัฐมนตรีกลาโหม เบน วอลเลซ (Ben Wallace) ของสหราชอาณาจักรกล่าวว่า 97% ของกองทัพบกรัสเซียได้ถูกนำเข้าประจำการในยูเครนแล้ว และมอสโกกำลังลำบากเดือดร้อนกับ ‘การรบพร่ากำลังที่อยู่ในระดับเดียวกันกับเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง’”

ตัวเซเลนสกี ยังกำลังร้องทุกข์ว่ายูเครนขาดแคลนเครื่องกระสุนตลอดจนยุทธสัมภาระที่จำเป็นยิ่งยวดอย่างอื่นๆ อีกด้วย ในทางตรงกันข้าม เวลาเดียวกันนี้เอง ฝ่ายรัสเซียดูเหมือนสามารถเอาชนะปัญหาเรื่องเครื่องกระสุนใดๆ ไปได้เป็นส่วนใหญ่แล้ว และกำลังดำเนินปฏิบัติการรอบๆ เมืองใหญ่น้อยต่างๆ ของยูเครนในภูมิภาคดอนบาสอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ฝ่ายรัสเซียยังคงไม่ได้ทำให้ฝ่ายยูเครนประสบความพ่ายแพ้ปราชัย แต่ยุทธวิธีหลักของพวกเขาคือการโอบล้อมทำให้พวกนักรบยูเครนติดกับอยู่ภายในพื้นที่เขตชุมชนเมืองทั้งหลาย จากนั้นกำจัดพวกเขาโดยใช้ปืนใหญ่และอาวุธทำการไกล ตลอดจนการโจมตีทางอากาศ ฝ่ายรัสเซียโดยภาพรวมแล้วกำลังประสบความสำเร็จในการสร้างสิ่งที่พวกเขาชอบเรียกว่า “กาต้มน้ำ” (cauldrons) ขึ้นมา ด้วยการปิดกั้นถนนหนทางตลอดจนเส้นทางหลบหนีอื่นๆ ทำให้ฝ่ายยูเครนซึ่งถูกล้อมเอาไว้ไปไหนไม่ได้

การเปิดการรุกขึ้นมาในไครเมีย จะบังคับให้รัสเซียต้องปรับกำลังโยกย้ายเอาทหารของพวกเขาบางส่วนออกมาป้องกันปีกดังกล่าว อย่างไรก็ตาม รัสเซียยังคงมีกำลังทหารสำรองที่ยังไม่ได้เข้าพื้นที่สู้รบใดๆ อยู่อีกราวๆ 200,000-300,000 นาย [6]

กำลังสำรองเหล่านี้ในขณะนี้ประจำการอยู่ในรัสเซียใกล้ๆ พรมแดนยูเครน ส่วนใหญ่อยู่ทางด้านตะวันออก และอีกจำนวนหนึ่งซึ่งน้อยกว่าอยู่ในเบลารุส พวกเขาได้รับการฝึกมาเป็นเวลาราวๆ 5 เดือนแล้ว

ถ้ารัสเซียเคลื่อนย้ายกองทหารเหล่านี้ด้วยวิธีการที่เหมาะเจาะกับเวลาไปยังพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเตรียมเอาไว้ใกล้ๆ ไครเมีย พวกเขาก็สามารถใช้ยุทธวิธีปิดล้อมสร้างกาต้มน้ำทำนองเดียวกับที่ฝ่ายรัสเซียกำลังใช้อยู่ในดอนบาสขณะนี้ (แต่ด้วยกำลังอาวุธขนาดใหญ่โตกว่ามาก)

พวกมือปฏิบัติการของสหรัฐฯ ต้องตระหนักดีว่าการรุกของยูเครนอาจประสบความล้มเหลว หนึ่งในเหตุผลที่น่าจะเป็นไปได้ของการส่งโดรนรีเปอร์ลำดังกล่าวไปปฏิบัติการในพื้นที่นอกชายฝั่งแหลมไครเมีย อาจจะเพื่อให้ทราบเป้าหมายที่เป็นพวกทรัพย์สินทางทหารต่างๆ ของรัสเซียในบริเวณนั้นอย่างละเอียดถี่ถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกปืนใหญ่และอาวุธทำการไกล ตลอดจนการป้องกันทางอากาศ และไม่ใช่แค่นั้น แต่ยังรวมทั้งพวกศูนย์สั่งการบังคับบัญชาและการติดต่อสื่อสารอีกด้วย

โดรนรีเปอร์เป็นแพลตฟอร์มที่ทรงพลัง และกองทัพอากาศสหรัฐฯ มีโดรนแบบนี้ประจำการอยู่ในโปแลนด์และโรมาเนีย รวมทั้งอีกหลายๆ แห่งในยุโรป รีเปอร์สามารถบรรทุกระเบิดขนาดหนักที่ติดเครื่องนำวิถี JDAM [7] รวมทั้งมีความสามารถในการหลบหลีกถ้าหากฝ่ายรัสเซียใช้ตัวรบกวนสัญญาณ (jammers) ทั้งนี้ ต้องขอบคุณพวกตัวเซ็นเซอร์ advanced electro-optical and infrared (EO-IR) targeting sensors [8] (รีเปอร์ติดตั้งตัวเซ็นเซอร์ MTS-B EO-IR ที่ผลิตโดยบริษัทเรีย์ธีออน Raytheon)

ด้วยการทำให้โดรนรีเปอร์ลำดังกล่าวตกลงทะเลดำเมื่อวันที่ 14 มีนาคม ฝ่ายรัสเซียก็กำลังทำให้เป็นที่แจ่มแจ้งชัดเจนว่า พวกทรัพย์สินที่สามารถเล็งเป้าหมายและเข้าโจมตีได้เหล่านี้จะถูกถือเป็นเป้าและถูกทำลายโดยกองทัพอากาศรัสเซียอย่างแน่นอน

ยูเครนจะยอมเสี่ยงทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างในการเข้าโจมตีแหลมไครเมียหรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่ยังไม่มีความแน่นอน ถึงแม้วอชิงตันกำลังพยายามผลักดันให้ทำและกำลังเตรียมการสำหรับการนี้ สหรัฐฯ จะถึงขนาดเข้าแทรกแซงหรือไม่ด้วยการช่วยเหลือฝ่ายยูเครนในด้านแสนยานุภาพทางอากาศหรือด้วยกองกำลังส่งทางอากาศ ถ้าหากว่าการรุกที่ว่านี้เริ่มมีทีท่าจะประสบความล้มเหลว?

เห็นได้ชัดว่าตัวไบเดน และพวกที่ปรึกษาของเขามีความตื่นตระหนกเกี่ยวกับผลกระทบทางการเมืองที่จะติดตามมา ถ้าหากเงินทองงบประมาณหลายหมื่นล้านดอลลาร์ที่ทุ่มออกไปผูกพันช่วยเหลือยูเครน กลับไม่สามารถบรรลุชัยชนะตามที่ให้คำมั่นสัญญาเอาไว้ได้

เสียงของฝ่ายรีพับลิกันกำลังเริ่มดังขึ้นมาในทางคัดค้านสงครามคราวนี้ อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ บอกว่าสงครามคราวนี้ควรเป็นสิ่งที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และ รอน ดีแซนทิส (Ron DeSantis) ผู้ว่าการรัฐฟลอริดา (ซึ่งถูกจับตามองว่าจะลงแข่งขันเป็นผู้สมัครของพรรครีพับลิกันในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีปี 2024 โดยน่าจะกลายเป็นคู่แข่งคนสำคัญของทรัมป์ทีเดียว -ผู้แปล) บอกว่ายูเครนไม่ได้เป็นผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ และกล่าวอีกว่าสหรัฐฯ ไม่ควรเลือกข้างในกรณีพิพาทระหว่างฝ่ายรัสเซียกับฝ่ายยูเครน

ฉันทมติสนับสนุนสงครามในวอชิงตันเวลานี้กำลังโคลงเคลง ยิ่งหลังจากการสู้รบที่บัคมุตยุติลง ฉันทมตินี้อาจจะแห้งเหือดหายวับไปเลยก็ได้

ด้วยเหตุนี้ กรณีรีเปอร์จึงมีอะไรมากมายกว่าเป็นเพียงการตกลงทะเลอย่างผิดพลาดของอากาศยานที่ปฏิบัติการอย่าง “บริสุทธิ์” และไม่ติดอาวุธลำหนึ่งเท่านั้น มันเป็นชั่วขณะที่มีอันตรายมากๆ สำหรับทุกๆ ฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ และนาโต้ และไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าวอชิงตันจะทำความสะเพร่างุ่มง่ามมากน้อยแค่ไหนภายใต้ภาวการณ์ที่เกิดขึ้นมาคราวนี้

สตีเฟน ไบรเอน เป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่ ศูนย์เพื่อนโยบายความมั่นคง (Center for Security Policy) และที่สถาบันยอร์กทาวน์ (Yorktown Institute)

เชิงอรรถ
[1] https://www.rt.com/russia/572982-black-sea-drone-details/
[2] https://en.wikipedia.org/wiki/Hardpoint
[3] https://kyivindependent.com/news-feed/nuland-us-supports-ukraine-striking-targets-in-crimea
[4] https://www.independent.co.uk/news/world/europe/ukraine-russia-pravy-sektor-extremism-b2011598.html
[5] https://www.washingtonpost.com/world/2023/03/13/ukraine-casualties-pessimism-ammunition-shortage/
[6] https://www.reuters.com/world/europe/russias-partial-mobilisation-will-see-300000-drafted-defence-minister-2022-09-21/
[7] https://www.military.com/equipment/joint-direct-attack-munition-jdam
[8] https://bemil.chosun.com/nbrd/data/10040/upfile/200907/20090718001213.pdf
กำลังโหลดความคิดเห็น