(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)
A coming wider war with Crimea in US sights
By STEPHEN BRYEN
04/03/2023
มีความเป็นไปได้อย่างมากที่ “สหรัฐฯ-นาโต้” จะตอบโต้การสูญเสียเมืองบัคมุต ด้วยการเปิดฉากบุกแหลมไครเมีย และนั่นก็จะจุดชนวนให้รัสเซียเข้าโจมตียุโรปตะวันออก
กองกำลังอาวุธของยูเครน กำลังถอนตัวออกจากเมืองบัคมุต (Bakhmut) และศึกชิงเมืองเล็กๆ ในแคว้นโดเนตสก์ (Donetsk) แห่งนี้ก็กำลังใกล้จะยุติลง เมื่อเป็นเช่นนี้สถานการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป
ดูเหมือนว่าการถอนตัวออกจากบัคมุตของยูเครนจะกระทำเป็น 2 ขั้นตอน ขั้นแรกอาจจะเริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อ 1 เดือนก่อน ถึงแม้เรื่องนี้ยังไม่แน่นอนชัดเจน กำลังทหารที่ถอนออกมาแล้วประกอบด้วยพวกนักรบต่างชาติ และกองทหารสวมปลอกแขนเหลือง
ฝ่ายรัสเซียระบุว่า พวกเขาไม่ได้พบเห็นนักรบต่างชาติใดๆ มาเป็นเวลาประมาณเดือนหนึ่งแล้ว โดยที่คนเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วกล่าวกันว่ามาจากประเทศจอร์เจีย และแคว้นอับคาเซีย (Abkhazia เป็นพื้นที่ในประเทศจอร์เจียที่ถูกพวกรัสเซียตัดขาดออกมา และประกาศแยกตัวเป็นเอกราช)
(เรื่องฝ่ายรัสเซียบอกไม่เห็นนักรบต่างชาติ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.rt.com/russia/572391-wagner-fighters-artyomovsk-mercenaries/)
ขณะที่กองทหารปลอกแขนเหลือง คือหน่วยทหาร “ขนาดหนัก” ที่ถือเป็นมืออาชีพและได้รับการฝึกมาอย่างดีของยูเครน ในการป้องกันรักษาเมืองบัคมุต พวกเขาส่วนใหญ่มักถูกใช้ให้ประจำการอยู่ทางด้านปีก เพื่อพยายามหยุดยั้งการเข้าโอบล้อมของฝ่ายรัสเซีย
ภายในบัคมุตเอง เวลานี้มีแต่พวกที่เรียกกันว่ากองทหารปลอกแขนเขียว พวกเขาไม่ได้ผ่านการฝึกมาอย่างดีและส่วนใหญ่แล้วเป็นพวกที่ถูกเกณฑ์มาเมื่อเร็วๆ นี้ กองทหารเหล่านี้ที่สำคัญแล้วจะถืออาวุธขนาดเล็ก คอยยิงออกมาจากพวกอาคารและที่มั่นซึ่งมีการคุ้มกันเป็นอย่างดีแห่งอื่นๆ ทหารเหล่านี้จำนวนมากอายุน้อยกว่าเกณฑ์ที่ควรจะเป็น หรือในทางตรงกันข้าม คืออายุมากกว่าเกณฑ์
ตามคำกล่าวของ เยฟเกนี ปริโกจิน (Yevgeny Prighozin) หัวหน้าองค์การกึ่งทหาร “วากเนอร์ กรุ๊ป” (Wagner Group) ของรัสเซีย พวกทหารปลอกแขนเขียวกำลังเริ่มถอยออกจากบัคมุตแล้วเช่นกัน โดยที่ได้ถอยออกจากส่วนต่างๆ ทางด้านตะวันออกของเมืองแทบทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว รายงานข่าวหลายกระแสระบุว่า พวกเขาถอยออกไปโดยใช้ถนนชนบทสายหนึ่ง หรือไม่ก็เดินตัดทุ่งนาไป
(คำกล่าวของ ปริโกจิน ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://twitter.com/i/status/1631690659131187200)
หากสถานการณ์เป็นอย่างที่ดำรงอยู่ในขณะนี้ การสู้รบคราวนี้น่าจะสิ้นสุดลงในเวลาอีกไม่กี่วันเป็นอย่างมากที่สุด ถึงแม้ฝ่ายยูเครนได้เปิดการรุกตอบโต้ทางด้านตะวันตกและทางด้านใต้ของเมืองเล็กๆ ที่มีชื่อว่า อีวานิฟสเก (Ivanivske) การปฏิบัติการนี้อาจมุ่งหมายที่จะสกัดกั้นพวกรัสเซียไม่ให้พยายามเข้าโอบล้อมกองกำลังฝ่ายยูเครนในวงล้อมที่ใหญ่โตยิ่งขึ้นไปอีก อย่างที่กองทหารแดนหมีขาวดูเหมือนกำลังเปิดฉากเพื่อกระทำ
กองทหารปลอกแขนเหลืองซึ่งกำลังพยายามคลายวงล้อมให้แก่เมืองอีวานิฟสเก ได้รับจัดสรรยานสู้รบทหารราบจำนวนหนึ่งไปใช้งาน แต่สำหรับรถถังแล้ว จวบจนถึงเวลานี้ยังมีอยู่ไม่กี่คัน กองทัพยูเครนจะสามารถสกัดกั้นการปฏิบัติการในวงกว้างขวางใหญ่โตยิ่งขึ้นของฝ่ายรัสเซียได้จริงๆ หรือไม่ ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป
แต่ฝ่ายยูเครนนั้น ทั้งกำลังทหารและพวกเครื่องกระสุนล้วนอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้นจึงไม่เป็นที่ชัดเจนว่าพวกเขาสามารถต้านทานการถูกถล่มโจมตีอย่างหนักหน่วงรุนแรงได้หรือไม่ ถ้าหากนั่นเป็นสิ่งที่ฝ่ายรัสเซียตั้งใจที่จะดำเนินการ
สถานีต่อไป คือ แหลมไครเมีย
สหรัฐฯ และนาโต้ น่าที่จะมองเห็นเค้าลางได้อยู่แล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าหากฝ่ายยูเครนยังคงใช้ความพยายามต่อไปในการรักษาดินแดนต่างๆ ในภูมิภาคดอนบาสเอาไว้
(ดอนบาส Donbas หรือ Donbass ประกอบด้วยแคว้นโดเนตสก์ และแคว้นลูฮันสก์ ดูคำอธิบายเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Donbas)
ขณะที่สหรัฐฯ คิดว่ารัสเซียประสบความล้มเหลวในการบรรลุวัตถุประสงค์แต่ดั้งเดิมของตนทั้งในดอนบาส และในการบังคับให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในกรุงเคียฟ แต่เวลานี้ภาพในระยะยาวกลับดูน่ากังวลมาก ในเมื่อฝ่ายรัสเซียไม่เพียงปรับปรุงยกระดับยุทธวิธีของพวกตนขึ้นมาเท่านั้น แต่ยังดูเหมือนยินดีที่จะจ่ายด้วยราคาแพงลิบลิ่ว และมุ่งบดบี้กองทัพของยูเครนให้ยับเยินไปอย่างช้าๆ
ทำนองเดียวกัน เป็นที่ชัดเจนในตอนนี้แล้วว่า จะต้องใช้เวลาอีกสัก 2-3 ปีทั้งในสหรัฐฯ และในยุโรป กว่าที่จะผลิตและรวบรวมเครื่องกระสุนตลอดยุทโธปกรณ์ต่างๆ ในคลังแสงให้พรักพร้อมขึ้นมาใหม่ แต่ในเวลาเดียวกันนั้น ฝ่ายรัสเซียกลับดูเหมือนได้เดินเครื่องกำลังการผลิตด้านกลาโหมของตนในระดับเต็มที่ทั้งวันทั้งคืนกันแล้ว เพื่อนำเอายุทธสัมภาระต่างๆ ไปส่งแนวหน้า
มีสัญญาณสำคัญมาก 2 ประการซึ่งส่อให้เห็นถึงความเป็นไปได้ ที่สหรัฐฯ-นาโต้กำลังมีการเปลี่ยนแปลงในทางยุทธศาสตร์ เรื่องนี้สามารถรับรู้เข้าใจได้ทีเดียวถ้าหากเรามองว่า นาโต้นั้น อย่างน้อยที่สุดก็จวบจนถึงเวลานี้ยังคงทำตามสิ่งที่สหรัฐฯ บอกว่าพวกเขาจำเป็นต้องกระทำ
สัญญาณประการแรกคือ การส่งเครื่องกระสุนชนิดพิเศษที่มีพิสัยทำการไกลขึ้นไปให้แก่เคียฟ ส่วนสัญญาณประการที่สองได้แก่การเปลี่ยนแปลงท่าทีที่ได้รับการเผยแพร่ป่าวร้องกันอย่างกว้างขวางของ วิกตอเรีย นูแลนด์ (Victoria Nuland) ปลัดกระทรวงการต่างประเทศฝ่ายกิจการการเมือง (Under Secretary of State for Political Affairs) โดยเวลานี้เธอกำลังเรียกร้องให้ปรับโฟกัสสำหรับการเปิดรุกครั้งใหม่ของฝ่ายยูเครน ให้หันมาเป็นการมุ่งยึดแหลมไครเมียกลับคืน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://time.com/6257285/ukraine-war-victory/)
“(เรา) จะสนับสนุนยูเครนไปจนกว่าจะได้ชัยชนะ ยูเครนกำลังสู้รบเพื่อนำเอาดินแดนของตนเองภายในพรมแดนระหว่างประเทศของตนกลับคืนมาทั้งหมด เราก็กำลังสนับสนุนพวกเขา ซึ่งรวมถึงการเตรียมตัวสำหรับการผลักดันอันยากลำบากครั้งต่อไป ในการช่วงชิงดินแดนของพวกเขากลับคืน ... ไครเมียนั้นจะต้อง—อย่างน้อยที่สุด—ต้องกลายเป็นเขตปลอดทหาร” นูแลนด์ กล่าวเช่นนี้
ทัศนะเช่นนี้ของ นูแลนด์ ยังไม่ได้รับความสนับสนุนอย่างเต็มที่จากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ หรือกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) โดยที่สำคัญเนื่องจากความกังวลที่ว่ารัสเซียอาจเลือกตอบโต้แก้เผ็ด ด้วยการเข้าโจมตีเส้นทางส่งกำลังบำรุงที่ฝ่ายตะวันตกนำยุทธสัมภาระต่างๆ ไปช่วยเหลือยูเครน จนนำไปสู่สงครามที่มีขนาดขอบเขตใหญ่โตกว้างขวางยิ่งขึ้นในยุโรปตะวันออก เริ่มต้นจากโปแลนด์ และโรมาเนีย
ทั้งนี้ เราควรต้องนึกย้อนถึงความหลังที่ว่า ทั้งโปแลนด์และโรมาเนียในประวัติศาสตร์ต่างเคยเป็นสถานที่โปรดปรานสำหรับการเตร็ดเตร่ของคนรัสเซีย โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) ตัดสินใจให้ความสนับสนุนข้อตกลงริบเบนทร็อป-โมโลตอฟ (Ribbentrop-Molotov pact) เมื่อเดือนสิงหาคม 1939 ก็เนื่องจากผู้นำโซเวียตผู้นี้เห็นว่า มันจะทำให้เขาได้ดินแดนส่วนหนึ่งของโปแลนด์ และแหล่งน้ำมันของโรมาเนีย
(ข้อตกลงริบเบนทร็อป-โมโลตอฟ เป็นข้อตกลงไม่รุกรานซึ่งกันและกัน ที่ลงนามโดยรัฐมนตรีต่างประเทศของนาซีเยอรมันและของสหภาพโซเวียต โดยที่มีการตกลงแบ่งยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกออกเป็นเขตอิทธิพลของแต่ละฝ่ายด้วย ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.theguardian.com/world/from-the-archive-blog/2019/jul/24/molotov-ribbentrop-pact-germany-russia-1939)
มีเรื่องเล่าชื่อดังที่แพร่หลายมากในช่วงสงครามเย็นเรื่องหนึ่งล่าขานกันเอาไว้ว่า ทหารชาวโปแลนด์คนหนึ่งกำลังเผชิญการรุกรานจากพวกรถถังรัสเซียทางด้านหนึ่ง และพวกรถถังเยอรมันทางอีกด้านหนึ่ง ขณะยืนอยู่ตรงนั้นโดยที่มีอาวุธต่อสู้รถถังอยู่ชิ้นเดียว เขาควรตัดสินใจเลือกทำอย่างไรดี? ตัดสินใจยิงใส่รถถังรัสเซีย เรื่องเล่าดังกล่าวบอกว่าทหารโปแลนด์คนนั้นต้องตอบอย่างนี้ พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า “การงานต้องมาก่อนความสำราญ”
ย้อนกลับอย่างเร็วๆ มาถึงสมัยปัจจุบัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน นั้น เป็นที่ทราบกันว่ามีความกังวลว่าการสู้รบขัดแย้งจะเกิดการขยายใหญ่โตออกไป แต่เขาอาจจะพ่ายแพ้ให้แก่ นูแลนด์ ผู้เสนอแนะคนสำคัญคนหนึ่งให้ทำสงครามยูเครน โดยต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในมอสโกด้วยเป็นขั้นต่ำสุด
หลักฐานที่ว่า นูแลนด์ เพิ่งเป็นฝ่ายชนะในการโต้เถียงกันคราวนี้ ก่อนอื่นเลยคือข้อเท็จจริงที่ว่า ไบเดน เพิ่งประกาศโปรแกรมใหม่เพื่อจัดส่งพวกอาวุธที่มีพิสัยทำการไกลขึ้นไปให้ยูเครน รวมทั้งยังกำลังจัดส่งอุปกรณ์ทำสะพานแบบเคลื่อนย้ายได้คล่องตัวไปให้ โดยอุปกรณ์นี้อาจช่วยกองทัพยูเครนได้มากในการเข้าโจมตีกองกำลังฝ่ายรัสเซีย ระหว่างการรุกเข้าตีไครเมีย
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://abcnews.go.com/Business/wireStory/us-announces-sweeping-new-russia-sanctions-1-year-97442860)
การปฏิบัติการเช่นนี้ในตัวมันเองจะเริ่มต้นโดยการถล่มโจมตีด้วยระเบิดนำวิถีพิสัยทำการไกลๆ เป็นต้นว่า ชุดวัตถุระเบิดเพื่อใช้โจมตีร่วม (joint direct attack munitions หรือ JADAM) ระบบจรวดหลายลำกล้องเคลื่อนที่คล่องตัว HIMAS ที่ใช้ลูกจรวดพิสัยทำการไกลๆ ระเบิดนำวิถีขนาดเล็กยิงจากภาคพื้นดิน (ground-launched, small-diameter bombs หรือ GLDSB) และการโจมตีด้วยปืนใหญ่และอาวุธยิงไกลต่างๆ จากนั้นมันก็จะพัฒนาไปเป็นการรุกภาคพื้นดินเข้าสู่แหลมไครเมีย
(ชุดวัตถุระเบิดเพื่อใช้โจมตีร่วม (joint direct attack munitions ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.af.mil/About-Us/Fact-Sheets/Display/Article/104572/joint-direct-attack-munition-gbu-313238/)
(HIMARS ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.lockheedmartin.com/en-us/products/himars.html)
(ระเบิดนำวิถีขนาดเล็กยิงจากภาคพื้นดิน (ground-launched, small-diameter bombs ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.saab.com/products/ground-launched-small-diameter-bomb-glsdb)
ปัญหาสำหรับการปฏิบัติการแบบนี้ก็คือ ฉากทัศน์เช่นนี้จำเป็นจะต้องมีพวกเครื่องบินขับไล่ซึ่งสามารถบินในระดับความสูงมากๆ ราว 30,000 ฟุต ก่อนที่จะปล่อย JDAMS --ชุดเครื่องมือที่ติดตั้งบนระเบิด “เหล็ก” ธรรมดาๆ เพื่อชี้นำทิศทางพวกมันด้วยระบบ GPS ทว่าระเบิดเช่นนี้ต้องเคลื่อนที่ด้วยการร่อนไปสู่เป้าหมายของมัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปล่อยออกจากเครื่องบินซึ่งกำลังบินอยู่ในเพดานบินสูงๆ
เรื่องนี้เรียกร้องให้ยูเครนต้องใช้เครื่องบิน มิก-29 ที่พวกตนมีอยู่ ทว่าเคียฟเหลือเครื่องบินขับไล่แบบนี้อีกไม่กี่ลำ ด้วยเหตุนี้ การจัดส่งอาวุธระลอกล่าสุดจึงอาจจะต้องมีพวกเครื่องบินเช่นนี้ด้วยในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง บางทีเครื่องบินขับไล่ของฝ่ายตะวันตกนี้อาจจะต้องบินโดยเหล่านักบินนาโต้ด้วยซ้ำ
เรื่องนี้ย่อมหมายถึงการประกาศตัวเข้าสู่สงครามโดยตรง โดยที่ทั้ง บลิงเคน (ผู้คัดค้านเรื่องนี้) และ นูแลนด์ (ผู้สนับสนุนเรื่องนี้) ต่างก็เข้าใจดี การที่จะเปิดฉากการรุกลักษณะนี้ได้อย่างรวดเร็ว อย่างเช่นถ้าจะทำให้ได้อย่างเร็วที่สุดคือในเดือนพฤษภาคมนี้ มันก็ไม่มีทางเลือกอื่นๆ เหลืออยู่นอกเสียจากการใช้เครื่องบินของฝ่ายตะวันตก
ในรัฐสภาสหรัฐฯ นั้นมีเสียงเห็นชอบจากทั้งสองพรรคใหญ่ให้สนับสนุนเครื่องบินขับไล่ เอฟ-16 แก่ยูเครน ถึงแม้ความสนับสนุนเช่นนี้ยังอยู่ในขอบเขตที่ให้ยูเครนบินเครื่องบินเหล่านี้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ภายในระยะเวลา 3 เดือนข้างหน้า
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.washingtonexaminer.com/policy/defense-national-security/bipartisan-lawmakers-biden-ukraine-f-16s)
การคุกคามของ นูแลนด์ ต่อแหลมไครเมีย ทำท่าจะกลายเป็นข้อสรุปที่เสร็จสิ้นเรียบร้อยไปแล้ว มากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ โดยถือเป็นนโยบายของสหรัฐฯ ซึ่งมีผลกระทบถึงการดำรงคงอยู่สำหรับยุโรป และบางทีสำหรับอเมริกาเองด้วย
ประเด็นปัญหานี้ดูเหมือนถูกตัดสินแล้ว ด้วยการจัดส่งอาวุธรอบใหม่ของสหรัฐฯ ให้แก่ยูเครน (จากการประกาศแยกกัน 2 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดคือเมื่อวันที่ 3 มีนาคม ตามเวลาในสหรัฐฯ) ขณะที่ไม่มีการเผยแพร่การตัดสินใจคราวนี้ และ ไบเดน ก็ปิดปากเงียบเชียบ แต่อาวุธยุทโธปกรณ์ที่กำลังถูกจัดส่งเหล่านี้ดูจะตั้งใจเพื่อให้เป็นไปตามความมุ่งหมายสำหรับการรุกโจมตีไครเมียของนูแลนด์เท่านั้น
ถ้าหากมีการประกาศเปิดเผยถึงการตัดสินใจสนับสนุนนูแลนด์แล้ว บลิงเคนก็น่าจะเกิดอาการหัวใจวายทีเดียว กระนั้นก็ตามที สหรัฐฯ ก็กำลังจัดส่งพวกระเบิดและอาวุธยิงไกลที่มีพิสัยทำการไกลขึ้น ตลอดจนพวกเครื่องมืออุปกรณ์สร้างสะพาน ซึ่งจำเป็นสำหรับการเข้าโจมตีไครเมีย ทั้งนี้ถ้าหากไม่ได้มีความคิดที่จะเปิดการโจมตีเช่นนี้แล้ว ฝ่ายยูเครนก็ไม่ต้องการอุปกรณ์เช่นนี้หรอก
เวลาเดียวกันนั้น ดูเหมือนว่ากระแสคัดค้านในสหรัฐฯ ต่อฉากทัศน์ที่กำลังคลี่คลายปรากฏออกมาให้เห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ นี้ ยังคงมีอยู่น้อยนิดเหลือเกิน ถึงแม้มันอาจจะบานปลายอย่างรวดเร็วจนกระทั่งกลายเป็นสงครามสู้รบกันไปทั่วในยุโรปขึ้นมา
สตีเฟน ไบรเอน เป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่ ศูนย์เพื่อนโยบายความมั่นคง (Center for Security Policy) และที่สถาบันยอร์กทาวน์ (Yorktown Institute)