วอลล์สตรีทร่วงหลักในวันพุธ (22 มี.ค.) หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% และส่งสัญญาณของการระงับขึ้นดอกเบี้ย ท่ามกลางการพังครืนของธนาคาร 2 แห่งในสหรัฐฯ ส่วนราคาน้ำมันปิดบวกอย่างต่อเนื่อง ได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ ซึ่งเป็นผลจากการตัดสินใจดังกล่าวของเฟด
เฟดในวันพุธ (22 มี.ค.) ปรับขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.25% และบ่งชี้ว่าอยู่บนเส้นทางของการระงับการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเติม ท่ามกลางความยุ่งเหยิงในตลาดการเงินที่โหมกระพือขึ้นจากการพังครืนของสถาบันการเงิน 2 แห่งของสหรัฐฯ
การตัดสินใจของเฟดมีขึ้นท่ามกลางข้อถกเถียงที่ว่าเฟดควรเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ หลังจากการพังครืนของซิลลิคอน แวลลีย์ แบงก์ (เอสวีบี) มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างกว้างขวางกับต้นทุนการกู้ยืม (การปรับขึ้นดอกเบี้ย) ที่เพิ่มอย่างมากตลอดปีที่ผ่านมา
เอสวีบีล่มสลายลงหลังขาดทุน 1,800 ล้านดอลลาร์ จากการขายหลักทรัพย์ลงทุน ในนั้นรวมถึงพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งมูลค่าดำดิ่ง สืบเนื่องจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในวันพุธ (22 มี.ค.) ปิดลบอย่างหนักหลังเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ตามความคาดหมาย พร้อมส่งสัญญาณใกล้ยุติวงจรปรับขึ้นดอกเบี้ย ท่ามกลางความยุ่งเหยิงในตลาดการเงิน
ดาวโจนส์ ลดลง 530.49 จุด (1.63 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 32,030.11 จุด เอสแอนด์พี ลดลง 65.90 จุด (1.65 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 3,936.97 จุด แนสแดค ลดลง 190.15 จุด (1.60 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 11,669.96 จุด
อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันในวันพุธ (22 มี.ค.) ปรับขึ้นราว 2% แตะระดับสูงสุดในรอบ 1 สัปดาห์ จากดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงต่ำสุดใรอบ 6 สัปดาห์ หลังจากเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยเล็กน้อยตามคาด
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนพฤษภาคม เพิ่มขึ้น 1.23 ดอลลาร์ ปิดที่ 70.90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ด้านเบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนพฤษภาคม เพิ่มขึ้น 1.37 ดอลลาร์ ปิดที่ 76.69 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ส่วนราคาทองคำซึ่งปิดตลาดก่อนเฟดลงมติปรับขึ้นดอกเบี้ยเล็กน้อย เคลื่อนไหวในแดนบวก โดยราคาทองคำโคเม็กซ์งวดส่งมอบเดือนเมษายน เพิ่มขึ้น 8.50 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,949.60 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และดีดตัวขึ้นกว่าเดิมในการซื้อขายทางอิเล็กทรอนิกส์ จากความเคลื่อนไหวดังกล่าวของเฟด
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ขยับขึ้นไปอยู่ในระดับ 4.75% ถึง 5.00% ในขณะที่จากการคาดการณ์ล่าสุด พบว่าบรรดาคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด 10 จาก 18 คน ยังคงคาดการณ์ว่าน่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% อีกครั้งในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งเป็นมุมมองเดิมจากครั้งประมาณการหนก่อนเมื่อเดือนธันวาคม
อย่างไรก็ตาม ในการเปลี่ยนแปลงที่มีแรงขับเคลื่อนหลักจากการพังครืนลงอย่างกะทันหันของธนาคาซิลลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (เอสวีบี) และซิกเนเจอร์ แบงก์ ถ้อยแถลงทางนโยบายล่าสุดของเฟดไม่ได้บอกว่า "การเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นเรื่องเหมาะสม" อีกต่อไป ขณะที่มันเป็นภาษาที่ปรากฏอยู่ในถ้อยแถลงทางนโยบายทุกครั้งมาตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2022 ครั้งที่มีการตัดสินใจเริ่มต้นวัฏจักรการปรับขึ้นดอกเบี้ย
คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด แทนที่ภาษาดังกล่าวด้วยการระบุว่า "นโยบายแน่วแน่เพิ่มเติมบางส่วนอาจเป็นสิ่งที่เหมาะสม" ซึ่งเป็นการเปิดประตูสำหรับโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% อีกหนึ่งครั้ง บางทีอาจเกิดขึ้นในการประชุมเฟดหนต่อไป ซึ่งอย่างน้อยๆ จะเป็นตัวแทนของการหยุดปรับขึ้นดอกเบี้ยในเบื้องต้น
แม้ถ้อยแถลงทางนโยบายระบุว่าระบบธนาคารของสหรัฐฯ "ดูดีและมีความยืดหยุ่น" แต่คณะกรรมการกำหนดนโยบายเน้นว่าความตึงเครียดเมื่อเร็วๆ นี้ในภาคธนาคาร "มีความเป็นไปได้ที่จะก่อภาวะสินเชื่อตึงตัวสำหรับภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ และเป็นตัวถ่วงกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การจ้างงานและเงินเฟ้อ"
ไม่มีเสียงคัดค้านในการตัดสินใจทางนโยบายครั้งนี้
ถ้อยแถลงไม่ได้สันนิษฐานว่าการต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อได้รับชัยชนะแล้ว โดยในคำแถลงใหม่ถอดภาษาที่บอกว่าเงินเฟ้อ "คลี่คลายแล้ว" และแทนที่ด้วยคำประกาศว่าเงินเฟ้อ "ยังคงสูงอยู่" ในขณะที่การจ้างงานมีความแข็งแกร่ง
เจ้าหน้าที่คาดการณ์ว่าอัตราคนว่างงานในช่วงท้ายปีจะอยู่ที่ 4.5% ลดลงเล็กน้อยจากการประมาณการก่อนหน้านี้ในเดือนธันวาคม ที่ 4.6% ส่วนแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจ คาดการณ์ว่าจะขยายตัวลดลงเล็กน้อยจากการประมาณการก่อนหน้า จาก 0.50% เหลือ 0.40% และเวลานี้มองอัตราเงินเฟ้อช่วงท้ายปี อยู่ที่ 3.3% จากเดิมที่คาดการณ์หนล่าสุดที่ 3.1%
ผลลัพธ์ของการประชุมนโยบาย 2 วัน นับเป็นการเปลี่ยนจุดยืนอย่างกะทันหันจากยุทธศาสตร์ของเฟดจากแค่ช่วง 2 สัปดาห์ที่แล้ว โดยหนนั้น เจอโรม พาวเวล ประธานเฟดให้ปากคำต่อสภาคองเกรส ว่า เงินเฟ้อที่ร้อนแรงเกินคาดอาจบีบให้เฟดอาจต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้นและเป็นไปได้ที่ต้องเร็วขึ้นกว่าที่คาดหมาย
การพังครืนของเอสวีบี และตามด้วยซิกเนเจอร์ แบงก์ ตอกย้ำความกังวลอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับสถานะของภาคธนาคาร และเพิ่มความเป็นไปได้ที่การปรับขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเติมใดๆ ของเฟดอาจผลักเศรษฐกิจสหรัฐฯ มุ่งหน้าสู่วิกฤตการเงิน
(ที่มา : รอยเตอร์/เอเจนซี)