xs
xsm
sm
md
lg

วางใจได้! รมว.คลังสหรัฐฯ ยันแบงก์ล้มต่างจากวิกฤตปี 2008 แย้มคุ้มครองเงินฝากทั้งหมดหากปัญหาบานปลาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ กล่าวว่าระบบธนาคารของอเมริกานั้น "ดูดี" เน้นย้ำว่าการพังครืนของสถาบันการเงินสหรัฐฯ เมื่อเร็วๆ นี้ "ต่างกันอย่างมาก" จากวิกฤตการเงินโลกปี 2008

ระหว่างกล่าวกับเวทีประชุมสมาคมธนาคารอเมริกาเมื่อวันอังคาร (21 มี.ค.) เยลเลน กล่าวว่า การเข้าแทรกแซงของรัฐบาลสหรัฐฯ ตามหลังการพังครืนของซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (เอสวีบี) และซิกเนเจอร์ แบงก์ ช่วยสกัดผลกระทบไม่ให้ลุกลามบานปลาย "สถานการณ์กำลังมีเสถียรภาพและระบบธนาคารของสหรัฐฯ ยังคงดีอยู่" รัฐมนตรีคลังอเมริกากล่าว

รัฐบาลสหรัฐฯ เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วตอบสนองต่อวิกฤตครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นการพังครืนของธนาคารครั้งใหญ่ที่สุดลำดับ 2 ในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ ด้วยการเข้ายึดกิจการของทั้ง 2 ธนาคาร และรับประกันเงินฝากทั้งหมด แม้กระทั่งกับเงินฝากที่ไม่มีประกันก็ตาม

เยลเลน บ่งชี้ในวันอังคาร (21 มี.ค.) ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ อาจเดินหน้ารับประกันเงินฝากทั้งหมดในกรณีที่อาจมีธนาคารล้มครืนเพิ่มเติม "มาตรการแบบเดียวกันนี้อาจมีเหตุผลอันควร หากว่าสถาบันการเงินที่มีขนาดเล็กกว่าประสบปัญหาคนแห่ถอนเงิน ที่ก่อความเสี่ยงของการลุกลาม" เธอกล่าว

รัฐมนตรีรายนี้กล่าวต่อว่า วอชิงตันยังช่วยลดความเสี่ยงที่มีต่อระบบธนาคาร ด้วยการจัดตั้งโครงการ “Bank Term Funding Program” เพื่อจัดหาสภาพคล่องเพิ่มเติมให้แก่สถาบันการเงินต่างๆ และช่วยธนาคารทั้งหลายสามารถรองรับความต้องการของผู้ฝากเงินทั้งหมด "ขอให้ฉันพูดให้ชัด ความเคลื่อนไหวของรัฐบาลเมื่อเร็วๆ นี้ แสดงถึงพันธสัญญาที่มุ่งมั่นของเราในการใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อรับประกันเงินฝากของผู้ฝากเงินและระบบธนาคารยังคงปลอดภัย"

คณะผู้ควบคุมกฎระเบียบของสหรัฐฯ สั่งปิดเอสวีบีเมื่อวันที่ 10 มีนาคม หลังประสบภาวะคนแห่ถอนเงิน (bank run) ทั้งนี้ สถาบันการเงินซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในแคลิฟอร์เนียแห่งนี้ ปล่อยกู้อย่างเฉพาะเจาะจงแก่ธุรกิจสตาร์ทอัปเทคโนโลยี และธุรกิจเงินร่วมลงทุนของพวกเขา ซึ่งให้เงินสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัป อย่างไรก็ตาม ทางธนาคารต้องขาดทุนเงินมหาศาลจากการเข้าถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งมูลค่าตกลงไป ท่ามกลางการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)

ต่อมา ซิกเนเจอร์ แบงก์ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในนิวยอร์ก ก็เป็นอีกธนาคารที่พังครืนเช่นกัน

เยลเลน และเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ รายอื่นๆ พยายามปกป้องแนวทางการเข้าแทรกแซงของรัฐบาล ท่ามกลางความกังวลและความผิดหวังของประชาชนที่มีต่อการตัดสินใจดังกล่าว ซึ่งเท่ากับเป็นการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สถาบันการเงินหนึ่งที่พวกวิพากษ์วิจารณ์มองว่าประสบกับภาวะพังครืน สืบเนื่องจากการบริหารจัดการผิดพลาด

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ยืนยันว่าความเคลื่อนไหวของพวกเขาเมื่อเร็วๆ นี้ ไม่เข้าองค์ประกอบของการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน

เสียงสะท้อนของภาวะยุ่งเหยิงในปัจจุบัน สามารถสัมผัสได้ถึงธนาคารต่างๆ ทั่วโลก โดยเมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้ว บรรดาสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ให้สัญญาอัดฉีดเม็ดเงินในรูปแบบของฝากเงิน 30,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อพยุงธนาคารเฟิร์สท์ รีพับลิก ในความเคลื่อนไหวที่ได้รับเสียงขานรับด้วยความยินดีจากวอชิงตัน

การพังครืนของเอสวีบี และซิกเนเจอร์ แบงก์ และการดิ่งลงของหุ้นกลุ่มธนาคาร ก่อความกังวลเกี่ยวกับการล่มสลายทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวางแบบเดียวกับวิกฤตการเงินปี 2008 แต่ เยลเลน ระบุในวันอังคาร (21 มี.ค.) ว่า 2 สถานการณ์ไม่เหมือนกัน

"เรารู้ว่าสถานการณ์เมื่อเร็วๆ นี้แตกต่างกันอย่างมากกับสถานการณ์ของวิกฤตการเงินโลก" เธอกล่าว "ย้อนกลับไปในตอนนั้น สถาบันการเงินทั้งหลายอยู่ภายใต้แรงกดดันของการถือครองสินทรัพย์ซับไพรม์ เราไม่เห็นสถานการณ์ดังกล่าวในระบบธนาคารในวันนี้ นอกจากนี้ ระบบการเงินของเราก็แข็งแกร่งอย่างมาก มากกว่า 15 ปีที่แล้ว ส่วนใหญ่สืบเนื่องจากการปฏิรูปหลังวิกฤตที่มอบมาตรการเงินทุนที่เข้มแข็งกว่าเดิม เช่นเดียวกับการปรับปรุงด้านอื่นๆ ที่มีความสำคัญ"

2 ปีหลังจากวิกฤตการเงินปี 2008 สมาชิกสภาคองเกรสสหรัฐฯ ผ่านกฎหมายปฏิรูปวอลล์สตรีทอย่างกว้างขวาง แต่กฎระเบียบบางอย่างถูกย้อนกลับไปในช่วงปี 2018 ภายใต้การสนับสนุนจากทั้ง 2 พรรคการเมือง

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ไบเดน เรียกร้องสภาคองเกรสให้ยกระดับความเข้มข้นของกฎระเบียบต่างๆ เพื่อนำตัวบรรดาผู้บริหารสถาบันการเงินที่พังครืนมาลงโทษสำหรับการบริหารจัดการผิดพลาดและแบกรับความเสี่ยงเกินไป ในนั้นรวมถึงห้ามพวกเขาจากการทำงานในภาคอุตสาหกรรมแห่งนี้

(ที่มา : รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น