ยูบีเอส กรุ๊ป แบงก์บิ๊กอันดับหนึ่งของสวิตเซอร์แลนด์ ตกลงเข้าเทกโอเวอร์ เครดิตสวิส ยักษ์ใหญ่อันดับสอง ภายหลังการเจรจาเครียดโดยมีทางการเป็นคนกลางตลอดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยความมุ่งหมายที่จะป้องกันไม่ให้วิกฤตการธนาคารลุกลามข้ามพรมแดน กระนั้น ตลาดเอเชียยังดำดิ่งตั้งแต่เปิดทำการวันแรกของสัปดาห์จากความกังวลเกี่ยวกับภาคอุตสาหกรรมนี้
ทั้งนี้ หลังจากเจรจาอย่างตึงเครียดที่กระทรวงการคลังในกรุงเบิร์น เมืองหลวงของสวิตเซอร์แลนด์ ในที่สุดเมื่อวันอาทิตย์ (19) ได้มีการแถลงข่าวการเทกโอเวอร์ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมได้แก่ ประธานาธิบดีอลาน เบอร์เซ็ต, คอล์ม เคลเลเฮอร์ ประธานกรรมการยูบีเอส, แอ็กเซล เลห์มานน์ ประธานกรรมการเครดิตสวิส ตลอดจนถึงรัฐมนตรีคลัง ประธานธนาคารกลาง (เอสเอ็นบี) และประธานหน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงิน “ฟินมา”
สวิตเซอร์แลนด์มีชื่อเสียงโดดเด่นในด้านการธนาคาร และเบอร์เซ็ตกล่าวว่า การเทกโอเวอร์เป็นทางออกที่ดีที่สุดในการฟื้นความเชื่อมั่นที่ขาดหายไปจากตลาดการเงินในช่วงก่อนหน้านี้ พร้อมกับเสริมว่า ถ้าปล่อยให้เครดิตสวิสล้ม จะส่งผลกระทบที่ไม่อาจคำนวณได้สำหรับสวิตเซอร์แลนด์และเสถียรภาพการเงินระหว่างประเทศ
ด้านเครดิตสวิสแถลงว่า ยูบีเอสจะเข้าผนวกด้วยวงเงิน 3,000 ล้านฟรังก์สวิส (3,250 ล้านดอลลาร์) และยอมรับการขาดทุนของเครดิตสวิสเป็นวงเงินไม่เกิน 5,400 ล้านดอลลาร์
เลห์มานน์ ระบุว่า การขายยูบีเอสถือเป็นจุดเปลี่ยนอย่างชัดเจน และเสริมว่า จุดที่ต้องสนใจกันต่อไปคืออนาคตของพนักงาน 50,000 คนของยูบีเอส โดยมี 17,000 คนอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์
ทั้งนี้ราคาหุ้นเครดิตสวิสปิดการซื้อขายในวันศุกร์ (17) ที่ 1.86 ฟรังก์สวิสต่อหุ้น และทำให้มูลค่าตามราคาตลาดหุ้นของแบงก์ลงมาอยู่ที่แค่กว่า 8,700 ล้านดอลลาร์ หลังจากราคาหรูดหนักในสัปดาห์ที่ผ่านมา
คาริน เคลเลอร์-ซัตเตอร์ รัฐมนตรีคลังสวิส สำทับว่า หากยอมปล่อยให้เครดิตสวิสล้มละลาย อาจทำให้เกิดความเสียหายขนานใหญ่โดยไม่ตั้งใจ และเสริมว่า จากความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบลุกลามไปยังแบงก์อื่นๆ ซึ่งรวมถึงยูบีเอสเอง การเทกโอเวอร์เช่นนี้จึงเป็นการวางรากฐานเพื่อเสถียรภาพที่มั่นคงขึ้นในสวิตเซอร์แลนด์และทั่วโลก
เคลเลอร์-ซัตเตอร์ยังยืนยันว่า ข้อตกลงนี้เป็นวิธีแก้ปัญหาทางธุรกิจ ไม่ใช่การเข้าอุ้มเครดิตสวิส
ทางฝ่ายแบงก์ชาติสวิตเซอร์แลนด์ประกาศเตรียมงบประมาณอัดฉีดสภาพคล่อง 100,000 ล้านฟรังก์สวิสสำหรับการผนวกกิจการระหว่างยูบีเอสกับเครดิตสวิส
ทั้งนี้ เครดิตสวิสถือเป็น 1 ใน 30 ธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบระดับโลก ซึ่งหมายถึงการเป็นแบงก์ที่ใหญ่เกินกว่าจะปล่อยให้ล้ม ทว่า ความกังวลว่า การล้มของแบงก์ระดับภูมิภาคในอเมริกา 2 แห่งเมื่อสัปดาห์ก่อนจะส่งผลลุกลาม ทำให้ราคาหุ้นเครดิตสวิสร่วงลงกว่า 30% เมื่อวันพุธที่แล้ว (15) และตลาดมองว่า แบงก์แห่งนี้เป็นจุดอ่อนในระบบการเงินโลก
ข้อตกลงการผนวกกิจการระหว่างยูบีเอสกับเครดิตสวิสได้รับการตอบรับอย่างอบอุ่นจากนานาชาติ เช่น คริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) กล่าวว่า การตัดสินใจของเบิร์นจะช่วยฟื้นสถานการณ์ในตลาดอย่างเป็นระเบียบและรับประกันเสถียรภาพทางการเงิน
เจอโรม พาวเวลล์ และเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลาง (เฟด) และรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ตามลำดับ ออกคำแถลงร่วมแสดงความยินดี โดยบอกว่าเป็นการสนับสนุนเสถียรภาพการเงินของทางการสวิส
นอกจากนั้น เฟด ตลอดจนธนาคารกลางของชาติตะวันตกอย่าง แคนาดา อังกฤษ ญี่ปุ่น อีซีบี และสวิตเซอร์แลนด์ ยังเตรียมออกมาตรการร่วมเพื่อฟื้นเสถียรภาพการเงินในวันจันทร์ ซึ่งรวมถึงการเปิดโอกาสให้ธนาคารกลางของประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช่สหรัฐฯ กู้ยืมเงินดอลลาร์หากมีความจำเป็น โดยที่เรื่องนี้เป็นแนวทางปฏิบัติที่ใช้อย่างกว้างขวางระหว่างวิกฤตการเงินปี 2008
อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความเคลื่อนไหวในการฟื้นความเชื่อมั่นและเสถียรภาพระบบการเงินเหล่านี้ ตลาดหุ้นเอเชียทั้งฮ่องกง โตเกียว ซิดนีย์ โซล และสิงคโปร์ ยังคงหล่นลงมาในช่วงเช้าวันจันทร์
(ที่มา: เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอพี)