“มูดี้ส์” บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านจัดอันดับความน่าเชื่อถือ เตือนระบบการธนาคารของอเมริกายังมีปัญหารออยู่ หลังลูกค้าแห่ถอนเงินจนซิลิคอน แวลลีย์ แบงก์ล้มเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่เอสแอนด์พี บิ๊กกิจการเครดิตเรตติ้งอีกรายหนึ่งสำทับว่า สถานการณ์ยังไม่นิ่ง และแบงก์บางแห่งส่งสัญญาณตึงเครียดมากกว่าแห่งอื่นๆ ในจำนวนนี้รวมถึงเฟิร์สต์ รีพับลิก แบงก์
มูดี้ส์ หนึ่งในบริษัทเครดิตเรตติ้งชั้นนำของโลก แถลงในวันอังคาร (14 มี.ค.) ปรับลดทิศทางแนวโน้มความน่าเชื่อถือของอุตสาหกรรมการธนาคารของอเมริกาจาก “คงที่” เป็น “ลบ” พร้อมเตือนว่า สภาพแวดล้อมการดำเนินงานของอุตสาหกรรมนี้ในสหรัฐฯ อาจจะเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว
การลดอันดับแนวโน้มเช่นนี้เกิดขึ้นขณะที่ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารในอเมริกาและยุโรปเริ่มกระเตื้องในวันอังคาร หลังเจอเทกระจาดมาหลายวัน
กระนั้น มูดี้ส์เตือนว่า ยังมีธนาคารอื่นๆ บางแห่งเผชิญความเสี่ยงที่ลูกค้าอาจแห่ถอนเงิน และเสริมว่า การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำหรับอุตสาหกรรมแบงก์ เนื่องจากอาจทำให้พวกแบงก์ที่ซื้อสินทรัพย์อย่างพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เอาไว้ตอนที่ดอกเบี้ยถูกจะต้องประสบการขาดทุนหากปล่อยขายออกไปในช่วงนี้
รายงานของมูดี้ส์แจงว่า ทั้งพวกแบงก์ที่ถือหลักทรัพย์ภาครัฐบาลเหล่านี้เอาไว้ ซึ่งยังไม่ได้นำออกมาขายจึงทำให้งบดุลบัญชีของพวกเขายังไม่มีการรับรู้การขาดทุน และทั้งพวกผู้ฝากเงินในอเมริกาที่ไม่ใช่ลูกค้ารายย่อยและปกติแล้วไม่ได้รับการคุ้มครองจากบรรษัทประกันเงินฝากสหรัฐฯ เวลานี้ต่างอยู่ในสภาพอ่อนไหว นอกจากนั้น แบงก์ต่างๆ ยังจะมีการแข่งขันแย่งชิงผู้ฝากเงินกันอีกด้วย
มูดี้ส์คาดว่า ความกดดันยังคงมีอยู่ รวมทั้งอาจรุนแรงขึ้นเมื่อทางการยังคงสานต่อนโยบายคุมเข้มทางการเงิน โดยมีแนวโน้มการคงดอกเบี้ยระดับสูงต่อไปจนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับสู่เป้าหมายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)
ทั้งนี้ ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา พวกหน่วยงานกำกับดูแลภาคการธนาคารของอเมริกาดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อควบคุมผลกระทบหลังจากซิลิคอน แวลลีย์ แบงก์ (เอสวีบี) ธนาคารใหญ่อันดับ 16 ของอเมริกาที่ปล่อยกู้ให้บริษัทเทคโนโลยีเป็นหลักล้มครืนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังลูกค้าแห่ถอนเงินสืบเนื่องจากที่แบงก์แห่งนี้เผยว่าจำเป็นต้องระดมทุนเพิ่ม และถูกบีบให้ขายพอร์ตสินทรัพย์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพันธบัตรรัฐบาล ทั้งที่ต้องประสบการขาดทุน
หน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯ ตัดสินใจเข้ายึดกิจการแบงก์แห่งนี้ และประกาศผ่อนปรนให้ความคุ้มครองแก่เงินฝากทั้งหมด ไม่เพียงแค่เงินฝากของผู้ฝากคนละไม่เกิน 250,000 ดอลลาร์ตามปกติเท่านั้น โดยความคุ้มครองนี้ให้ทั้งสำหรับลูกค้าของเอสวีบี และสำหรับธนาคารซิกเนเจอร์แบงก์แห่งนิวยอร์ก ซึ่งก็ถูกสั่งปิดไปเมื่อวันอาทิตย์ (12)
ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง พวกเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรม และคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ (เอสอีซี) ก็กำลังเปิดสอบสวนกรณีการล้มของเอสวีบี
อย่างไรก็ตาม สื่ออเมริกันรายงานว่า มีสัญญาณบ่งชี้ว่าลูกค้าบางส่วนของพวกแบงก์ขนาดเล็กแห่งอื่นๆ กำลังพยายามย้ายเงินไปฝากกับสถาบันที่ใหญ่กว่า
กระนั้น เอสแอนด์พี บริษัทจัดอันดับความเชื่อถือแถวหน้าอีกแห่งระบุว่า ไม่พบหลักฐานว่า มีการแห่ถอนเงินจากแบงก์แห่งอื่นๆ นอกเหนือจากแบงก์ที่ล้ม และเสริมว่า มาตรการฉุกเฉินต่างๆ ของหน่วยงานกำกับดูแลนำโดยเฟด น่าจะลดความเสี่ยงที่ลูกค้าจะสูญเสียความเชื่อมั่นได้
กระนั้น เอสแอนด์พีสำทับว่า สถานการณ์ยังไม่นิ่ง และแบงก์บางแห่งส่งสัญญาณตึงเครียดมากกว่าแห่งอื่นๆ ในจำนวนนี้รวมถึงเฟิร์สต์ รีพับลิก แบงก์
นักวิเคราะห์คาดว่า ความโกลาหลในระบบการเงินที่ถูกกระตุ้นจากปัญหาแบงก์ล้มจะทำให้เฟดชะลอหรือพักการขึ้นดอกเบี้ยเอาไว้ก่อนในการประชุมนัดต่อไปต้นสัปดาห์หน้า
สำหรับสถานการณ์ในตลาดหุ้นทำท่าจะกระเตื้องขึ้นแล้วในวันอังคาร (14) โดยนับจากตลาดเปิดทำการ ราคาหุ้นของเฟิร์สต์ รีพับลิก แบงก์ ในซานฟรานซิสโกที่รูดลงถึง 62% เมื่อวันจันทร์ (13) ได้ดีดกลับกว่า 50% และปิดการซื้อขายโดยเพิ่มขึ้น 30%
ดัชนีหลักทั้ง 3 ตัวของตลาดหุ้นในอเมริกาคือ ดาวโจนส์ เอสแอนด์พี 500 และแนสแดค ปิดบวกทั่วหน้า
เช่นเดียวกับหุ้นกลุ่มแบงก์ในอังกฤษที่ส่วนใหญ่ดีดขึ้นในช่วงบ่ายวันอังคาร หลังจากดิ่งแรงในวันจันทร์
สต็อกซ์ หุ้นกลุ่มธนาคารของยุโรปลดลงตั้งแต่ตลาดเปิดทำการในวันอังคาร ก่อนฟื้นขึ้นและปิดบวกเกือบ 3%
ทว่า หุ้นเอชเอสบีซีที่เข้าอุ้มธุรกิจในอังกฤษของเอสวีบีด้วยราคา 1 ปอนด์ ปิดลดลง 1% และตลาดญี่ปุ่นยังดิ่งหนัก โดยหุ้นเอ็มยูเอฟจี แบงก์ใหญ่สุดในประเทศตกลงกว่า 8% ขณะที่ดัชนีหุ้นกลุ่มธนาคาร เช่น ดัชนีโทปิกซ์ แบงก์ร่วง 7.4% แม้ธนาคารกลางญี่ปุ่นออกมาให้ความมั่นใจว่า ธนาคารภายในประเทศมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากเอสวีบีเพียงจำกัด เนื่องจากเกี่ยวข้องโดยตรงกับแบงก์แห่งนี้น้อยมากก็ตาม
(ที่มา : บีบีซี, รอยเตอร์, เอเอฟพี)