สหรัฐฯ สั่งปิดกิจการ Silicon Valley Bank (SVB) ซึ่งเป็นธนาคารที่เน้นให้บริการเงินกู้ให้แก่บริษัทสตาร์ทอัป หลังเผชิญปัญหาสภาพคล่องรุนแรงจนลูกค้าแห่ถอนเงิน นับเป็นการล่มสลายของสถาบันการเงินใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกเมื่อปี 2008
หน่วยงานกำกับการเงินแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียได้แต่งตั้งให้ Federal Deposit Insurance Corporation (FDIC) เป็นสถาบันของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ให้ประกันเงินฝากจากความล้มเหลวของธนาคารเข้ามาเป็นผู้ดูแลสินทรัพย์ของ SVB โดย FDIC จะทำการขายสินทรัพย์ (liquidate) ของธนาคารเพื่อจ่ายเงินคืนให้แก่ผู้ฝากเงิน และบรรดาเจ้าหนี้ธนาคาร
สำนักงานใหญ่ และสาขาต่างๆ ของ SVB จะกลับมาเปิดให้บริการในวันที่ 13 มี.ค. โดยผู้ฝากเงินที่มีประกันจะสามารถเข้าถึงเงินฝากส่วนที่ได้รับความคุ้มครอง 250,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 บัญชี ไม่เกินเช้าวันจันทร์ (13) และจะจ่ายดอกเบี้ยล่วงหน้าให้แก่ผู้ฝากเงินที่ไม่มีประกันภายในสัปดาห์หน้า
สัญญาณการล่มสลายของ SVB เริ่มปรากฏชัดขึ้นในวันพุธ (8) หลังจากที่ธนาคารเทขายพันธบัตรและสินทรัพย์ในราคาขาดทุน 1,800 ล้านดอลลาร์ และประกาศขายหุ้นเพิ่มทุน 2,225 ล้านดอลลาร์เพื่อเสริมสภาพคล่อง ซึ่งทำให้บรรดาลูกค้าเกิดความตื่นตระหนกจนแห่ถอนเงินออกอย่างรวดเร็ว
SVB ถือเป็นสถาบันการเงินหลักที่ปล่อยเงินกู้ให้แก่ธุรกิจสตาร์ทอัปมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 และกลายมาเป็นสถาบันการเงินใหญ่อันดับที่ 16 ของสหรัฐอเมริกา โดยข้อมูลในช่วงสิ้นปี 2022 พบว่าธนาคารมีมูลค่าสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 209,000 ล้านดอลลาร์ ในจำนวนนี้แบ่งเป็นเงินฝาก 175,400 ล้านดอลลาร์
การสั่งปิดธนาคารแห่งนี้ไม่เพียงถือเป็นการล่มสลายของสถาบันการเงินใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ นับตั้งแต่กรณีธนาคาร Washington Mutual ล้มเมื่อปี 2008 แต่ยังถือเป็นธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย (retail bank) ใหญ่อันดับ 2 ของอเมริกาที่ต้องปิดตัวลง
เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้เรียกประชุมหน่วยงานกำกับดูแลด้านธนาคารของสหรัฐฯ เป็นการด่วน โดยทางกระทรวงฯ แถลงว่า “รัฐมนตรี เยลเลน เชื่อมั่นว่าผู้กำกับดูแลกิจการธนาคารของสหรัฐฯ จะมีมาตรการตอบสนองอย่างเหมาะสม และย้ำว่าระบบการเงินของสหรัฐฯ ยังคงยืดหยุ่น และมีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการรับมือสถานการณ์เช่นนี้”
การล่มสลายของ SVB ยังทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าจะส่งผลกระทบเป็นโดมิโนไปยังสถาบันการเงินอื่นๆ ซึ่งกำลังเผชิญปัญหาสภาพคล่องเช่นกัน สืบเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่พุ่งสูง
ที่มา : เอเอฟพี, CNN