สหรัฐฯ กำลังหยั่งเสียงบรรดาพันธมิตรใกล้ชิดเกี่ยวความเป็นไปได้ในการกำหนดมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่เล่นงานจีน หากว่าปักกิ่งมอบแรงสนับสนุนด้านการทหารแก่รัสเซียในสงครามยูเครน สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานในวันพุธ (1 มี.ค.) โดยอ้างแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่อเมริกา 4 คนและอื่นๆ
การพูดคุยหารือซึ่งยังอยู่ในขั้นต้น มีเจตนาระดมเสียงสนับสนุนจากประเทศต่างๆ โดยเฉพาะจากกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ชาติ (จี7) เพื่อขอแรงสนับสนุนร่วมกันสำหรับความเป็นไปได้ในการกำหนดข้อจำกัดต่างๆ
ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าวอชิงตันจะเสนอมาตรการคว่ำบาตรใดอย่างเฉพาะเจาะจง และไม่เคยมีการเปิดเผยมาก่อนว่ามีการพูดคุยหารือกันในเรื่องนี้
กระทรวงการคลังสหรัฐฯ หน่วยงานซึ่งจะเป็นแกนนำสำหรับกำหนดมาตรการคว่ำบาตร ปฏิเสธแสดงความคิดเห็นต่อรายงานข่าวดังกล่าว
เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา วอชิงตันและพันธมิตรกล่าวอ้างว่า จีนกำลังพิจารณามอบอาวุธแก่รัสเซีย คำกล่าวหาที่ทางปักกิ่งปฏิเสธ ในขณะที่บรรดาผู้ช่วยของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็ไม่ได้มอบหลักฐานใดๆ อย่างเปิดเผยสนับสนุนคำกล่าวหานี้
พวกเขายังเคยเตือนจีนตรงๆ เกี่ยวกับการกระทำดังกล่าว ในนั้นรวมถึงในการประชุมระหว่างไบเดน กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน เช่นเดียวกับระหว่างการพบปะแบบเจอหน้าระหว่าง แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ และหวัง อี้ นักการทูตระดับสูงของจีน รอบนอกที่ประชุมด้านความมั่นคงโลกในเมืองมิวนิก
รอยเตอร์อ้างแหล่งข่าวใกล้ชิดกับประเด็นนี้ ระบุว่ามาตรการเบื้องต้นที่รัฐบาลของไบเดนจะใช้ตอบโต้ความเคลื่อนไหวของจีนในการสนับสนุนรัสเซีย คือยกระดับความเคลื่อนไหวอย่างไม่เป็นทางการในระดับเจ้าหน้าที่และการทูต ในนั้นรวมถึงกระทรวงการคลัง
แหล่งข่าวบอกว่าพวกเจ้าหน้าที่กำลังวางกรอบการทำงานสำหรับความเป็นไปได้ที่จะดำเนินการกับปักกิ่ง ร่วมกับกลุ่มแกนประเทศต่างๆ ที่ให้การสนับสนุนมาตรการคว่ำบาตรเล่นงานรัสเซียมากที่สุด ตามหลังมอสโกรุกรานยูเครนเมื่อ 1 ปีก่อน
เมื่อสอบถามเกี่ยวกับการพูดคุยหารือกัน โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ รายหนึ่งระบุว่า สงครามของรัสเซียสร้างความยุ่งยากแก่ปักกิ่งในด้านความสัมพันธ์กับยุโรปและอื่นๆ "มันทำให้จีนไขว้เขว และเป็นไปได้ที่อาจก่อความเสียหายแก่ความสัมพันธ์ระดับนานาชาติของพวกเขา ไม่ว่าพวกเขาจะต้องการหรือไม่ก็ตาม"
เจ้าหน้าที่รายหนึ่งจากประเทศหนึ่งที่ได้พูดคุยหารือกับวอชิงตัน ระบุพวกเขามองว่าข้อมูลข่าวกรองยังไม่เพียงพอสำหรับสนับสนุนคำกล่าวหาที่ว่าจีนกำลังพิจารณามอบความช่วยเหลือด้านการทหารแก่รัสเซีย อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่อเมริการายหนึ่งบอกว่าพวกเขากำลังมอบรายละเอียดข้อมูลข่าวกรองแก่พันธมิตร
บทบาทของจีนในสงครามรัสเซีย-ยูเครน ได้รับคาดหมายว่าจะเป็นหนึ่งในหัวข้อพูดคุยกัน ครั้งที่ ไบเดน จะเปิดทำเนียบขาวต้อนรับ โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนีในวันศุกร์ (3 มี.ค.) แต่ก่อนหน้านี้ในนิวเดลี ในวันพุธ (1 มี.ค.) และวันพฤหัสบดี (2 มี.ค.) ประเด็นสงครามจะถูกหยิบยกมาพูดคุยในที่ประชุมของรัฐมนตรีต่างประเทศหลายสิบชาติ ในนั้นรวมถึงรัสเซีย จีน และสหรัฐฯ
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จีนเผยแพร่เอกสารแผนสันติภาพ 12 ข้อ เรียกร้องสำหรับการหยุดยิงอย่างครอบคลุม แต่มันเผชิญเสียงตอบรับด้วยความเคลือบแคลงสงสัยจากตะวันตก
การทาบทามเบื้องต้นของวอชิงตันในเรื่องมาตรการคว่ำบาตร ยังไม่นำไปสู่การตกลงอย่างกว้างๆ ของมาตรการหนึ่งใดอย่างเฉพาะเจาะจง แหล่งข่าวบอกกับรอยเตอร์ ส่วนแหล่งข่าวอีกคนเสริมว่ารัฐบาลต้องการหยิบยกแนวคิดเกี่ยวกับมาตรการคว่ำบาตรร่วมกันขึ้นมาหารือก่อน และทำการสรุปถึงเจตนาในกรณีตรวจพบจีนส่งมอบอาวุธใดๆ แก่รัสเซีย ซึ่งทั้ง 2 ชาติประกาศ "มิตรภาพไร้ขีดจำกัด" ไม่นานก่อนมอสโกเปิดฉากรุกรานยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ปีก่อน
"ในด้านจี7 ผมคิดว่ามีการรับรู้ในเรื่องนี้แล้ว" แหล่งข่าวระบุ แต่บอกว่ายังไม่มีการกำหนดรายละเอียดมาตรการต่างๆ ที่เพ่งเล็งเล่นงานจีน
ด้วยกระสุนของรัสเซียกำลังลดน้อยลง ยูเครนและพวกผู้สนับสนุนเกรงว่าเสบียงอาวุธจากจีนอาจเบี่ยงความขัดแย้งไปสู่ความได้เปรียบของรัสเซีย
ส่วนหนึ่งในความพยายามผลักดันทางการทูต วอชิงตันได้รับชัยชนะในความเคลื่อนไหวกดดันให้กลุ่มจี ใช้ภาษาหนักแน่นขึ้นในถ้อยแถลงที่เผยแพร่ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ วาระครบรอบ 1 ปีของสงคราม เรียกร้อง "ประเทศที่ 3" หยุดให้การสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมแก่สงครามยูเครน ไม่อย่างนั้นจะต้องชดใช้อย่างรุนแรง
แม้ถ้อยแถลงไม่ได้พาดพิงจีนตรงๆ แต่สหรัฐฯ กำหนดมาตรการลงโทษรอบใหม่เล่นงานบุคคลและนิติบุคคลที่กล่าวหาว่าช่วยรัสเซียหลีกเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตร โดยในมาตรการดังกล่าว ในนั้นรวมถึงกำหนดข้อจำกัดด้านการส่งออกบริษัทต่างๆ ในจีนและที่อื่นๆ ซึ่งจะขัดขวางพวกเขาจากการซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ อย่างเช่นเซมิคอนดักเตอร์
"เราพยายามส่งสัญญาณอย่างชัดเจน ทั้งอย่างลับๆ ในมิวนิก และอย่างเปิดเผยหลังจากนั้น เกี่ยวกับความกังวลต่างๆ ของเรา" ดาเนียล คริเทนบรินค์ ผู้แทนทูตสหรัฐฯ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกกล่าวกับสภาคองเกรสในสัปดาห์นี้ "เราพูดถึงความหมายโดยนัยและผลกระทบต่างๆ หากพวกเขาทำเช่นนั้น และเรารู้ว่าบรรดาพันธมิตรที่มีความคิดแบบเดียวกับเราก็แบ่งปันความกังวลเช่นกัน"
หนึ่งในปัญหาท้าทายที่สหรัฐฯ จะต้องเผชิญในความพยายามกำหนดมาตรการคว่ำบาตรจีน ชาติเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของโลก คือการบูรณาการอย่างสมบูรณ์ในบรรดาชาติเศรษฐกิจหลักของยุโรปและเอเชีย ทั้งนี้ การพูดคุยหารืออาจต้องเจอกับเรื่องราวซับซ้อน เนื่องจากพันธมิตรหลายชาติของสหรัฐฯ ไล่ตั้งแต่เยอรมนีไปจนถึงเกาหลีใต้ มีท่าทีระมัดระวังไม่ต้องการบาดหมางกับจีน
(ที่มา : รอยเตอร์)