สหรัฐฯ ประกาศส่งอาวุธช่วยยูเครนเพิ่มอีก 2,000 ล้านดอลลาร์เมื่อวานนี้ (24 ก.พ.) พร้อมกำหนดมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียอีกชุดใหญ่เพื่อบั่นทอนศักยภาพของมอสโกในช่วงครบรอบ 1 ปี สงครามยูเครน
มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ถูกเปิดเผย ระหว่างที่ผู้นำกลุ่มชาติอุตสาหกรรมชั้นนำ G7 ได้หารือร่วมกับประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครนเพื่อกำหนดแนวทางช่วยเหลือเพิ่มเติม
หนึ่งในมาตรการสำคัญๆ ได้แก่ การงดออกวีซ่าให้แก่บรรดานายทหารรัสเซีย อายัดทรัพย์สินเหล่าพันธมิตรของประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แบนการนำเข้าอะลูมิเนียมจากรัสเซีย ปิดกั้นธุรกรรมของสถาบันการเงินและอุตสาหกรรมอาวุธของรัสเซีย รวมถึงขึ้นบัญชีดำบริษัท Megafon ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายใหญ่อันดับ 2 ของแดนหมีขาว
รัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน ยังส่งสัญญาณเตือนไปยัง “จีน” และประเทศอื่นๆ ว่าอย่าได้คิดช่วยมอสโกหลบเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตร
“เราจะคว่ำบาตรบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมกลาโหมและเทคโนโลยีของรัสเซียเพิ่มเติมอีก รวมถึงพวกที่ลักลอบนำสินค้าต้องห้ามเข้าไปมอสโก หรือช่วยให้รัสเซียหลบเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตร” ทำเนียบขาวระบุ
อนาโตลี อันโตนอฟ เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำสหรัฐฯ ออกมาแถลงตอบโต้ทันควันว่า บทลงโทษเหล่านี้เป็นเรื่อง “สิ้นคิด” ที่มีเจตนาทำให้รัสเซียต้องเผชิญความยากลำบาก แต่ทว่ามันจะ “ไม่ได้ผล”
“พวกเขาคิดหรือว่าวิธีนี้จะทำให้ประเทศของเรายอมละทิ้งนโยบายรักษาความเป็นอิสระ และล้มเลิกเป้าหมายที่จะสร้างโลกที่มีหลายขั้ว (multipolar world) บนพื้นฐานของความมั่นคงอันแบ่งแยกมิได้ (indivisible security) กฎหมายระหว่างประเทศ และกฎบัตรสหประชาชาติ” อันโตนอฟ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก
ผู้นำ G7 ได้ออกคำแถลงร่วมยืนยัน “จะสนับสนุนยูเครนไปตราบนานเท่านาน” รวมถึงจะพิจารณาคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มด้วย ขณะที่สหภาพยุโรป (อียู) ก็ก้าวข้ามความขัดแย้งภายในจนสามารถกำหนดมาตรการคว่ำบาตร “รอบที่ 10” ต่อมอสโกได้สำเร็จ
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงว่า มาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่นี้จะครอบคลุมถึงคณะรัฐมนตรี ผู้ว่าการแคว้น และผู้นำระดับภูมิภาคของรัสเซียหลายสิบคน ขณะที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่ามีพลเมืองรัสเซีย 22 คน และนิติบุคคล 83 ราย ถูกขึ้นบัญชีดำในคราวนี้ เพิ่มเติมจากจำนวนกว่า 2,500 รายในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา
สหรัฐฯ ยังเตรียมขึ้นภาษีนำเข้าโลหะ แร่ธาตุ และสารเคมีอีกกว่า 100 รายการที่นำเข้าจากรัสเซีย ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 2,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
วอชิงตันยังเตรียมมอบแพกเกจช่วยเหลืออีก 250 ล้านดอลลาร์เพื่อปกป้องโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงานของยูเครนจากการถูกรัสเซียโจมตี ขณะที่ “มอลโดวา” จะได้รับเงินอุดหนุน 300 ล้านดอลลาร์เพื่อสนับสนุนให้เลิกพึ่งพาพลังงานนำเข้าจากมอสโก
ที่มา : รอยเตอร์