xs
xsm
sm
md
lg

ทหารยิวบุกอาคารยิงปาเลสไตน์ 11 ศพ โลกอาหรับรุมประณามสังหารหมู่นองเลือด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - ทั่วโลกเรียกร้องให้ทุกฝ่ายอยู่ในความสงบ หลังทหารอิสราเอลสังหารชาวปาเลสไตน์ 11 คน นอกจากนี้ ยังมีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 80 คน ระหว่างการจู่โจมอพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งในเมืองนาบลัส เมื่อวันพุธ (22 ก.พ.) ซึ่งกองทัพยิวระบุว่า เป็นปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย แต่ปาเลสไตน์ และกลุ่มสันนิบาตอาหรับประณามว่าเป็นการสังหารหมู่ และถือเป็นเหตุการณ์นองเลือดที่สุดที่เกิดขึ้นในเวสต์แบงก์ นับจากปี 2005

ฮุสเซน อัล ชีค เจ้าหน้าที่ระดับสูงของปาเลสไตน์ ประณามว่า การจู่โจมดังกล่าวเป็น “การสังหารหมู่” และเรียกร้องนานาชาติปกป้องพลเรือนปาเลสไตน์

ด้านกองทัพอิสราเอลอ้างว่า ปฏิบัติการจู่โจมมีเป้าหมายที่ผู้ต้องสงสัยก่อเหตุกราดยิงในเวสต์แบงก์ที่ซ่อนตัวอยู่ในอพาร์ตเมนต์แห่งนั้น โดยผู้ต้องสงสัยคนหนึ่งที่หนีออกจากตึกถูกสังหารพร้อมกับอีก 2 คนที่เปิดฉากยิงออกจากสถานที่ดังกล่าว

ริชาร์ด เฮกต์ โฆษกกองทัพอิสราเอลเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า มีการยิงตอบโต้ระหว่างผู้ต้องสงสัยกับทหารอิสราเอล นอกจากนี้ กองทัพอิสราเองยังยิงจรวดใส่อาคารหลังนั้น ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามขว้างปาก้อนหิน ระเบิด และระเบิดขวดใส่ทหารอิสราเอล

กระทรวงสาธารณสุขปาเลสไตน์แถลงว่า ผู้เสียชีวิตจาก “ความก้าวร้าวของผู้ยึดครองในนาบลัส” อายุระหว่าง 16-72 ปี และหลังการจู่โจมหลายชั่วโมง ชายวัย 66 ปี อีกคนเสียชีวิตจากการสูดดมแก๊สน้ำตา นอกจากนี้ ยังมีผู้ถูกนำส่งโรงพยาบาล 82 คน จากบาดแผลถูกยิง

แอนโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กล่าวกับคณะกรรมการยูเอ็นว่าด้วยการใช้สิทธิที่ไม่อาจถูกพรากหรือยกให้กันได้ของประชาชนปาเลสไตน์ว่า สถานการณ์ในดินแดนยึดครองในปาเลสไตน์ขณะนี้ล่อแหลมที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา ขณะที่กระบวนการสันติภาพหยุดชะงัก และเสริมว่า สิ่งสำคัญอันดับแรกคือการป้องกันไม่ให้สถานการณ์ลุกลาม ลดความตึงเครียด และฟื้นความสงบ

จำนวนผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนี้มากกว่าตอนที่กองทัพอิสราเอลจู่โจมเจนินเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตในเวสต์แบงก์มากที่สุดนับจากการลุกฮือครั้งที่ 2 ของชาวปาเลสไตน์ระหว่างปี 2000-2005

ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า ก่อนรุ่งเช้าวันพฤหัสบดี (23 ก.พ.) จรวดหลายลูกถูกยิงจากฝั่งปาเลสไตน์เข้าสู่อิสราเอล ซึ่งกองทัพอิสราเอลระบุว่า 6 ลูก และผู้เห็นเหตุการณ์ทางฝั่งปาเลสไตน์บอกว่า 8 ลูก

กองทัพอิสราเอลเสริมว่า สามารถสกัดจรวด 5 จาก 6 ลูก แต่ลูกสุดท้ายไปตกในบริเวณที่ไม่มีผู้อยู่อาศัย

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากซิอัด อัล-นาคาลา ผู้นำกลุ่มติดอาวุธญิฮาดอิสลามปาเลสไตน์ในกาซา ประณามการจู่โจมของกองทัพอิสราเอลว่าเป็น อาชญากรรมครั้งใหญ่ที่จำเป็นต้องตอบโต้ และเผยว่า มีผู้บัญชาการกองกำลังของตนคนหนึ่งเสียชีวิต “ในการต่อสู้เยี่ยงวีรบุรุษ”

ไลอ้อนส์ เดน กลุ่มติดอาวุธในนาบลัส ระบุว่า ผู้เสียชีวิต 6 คนเป็นสมาชิกกลุ่มต่างๆ ในปาเลสไตน์

ผู้สื่อข่าวของเอเอฟพีระบุว่า กองทัพอิสราเอลถอนออกจากเมืองนาบลัสหลังจากผ่านพ้นไป 3 ชั่วโมง

โยแอฟ กัลลันต์ รัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอล ทวีตยกย่องกองทัพว่า กล้าหาญและมีประสิทธิภาพที่จะทำให้สามารถเข้าถึงผู้ก่อการร้ายทั้งหมด

กลุ่มสันนิบาตอาหรับประณามว่า การจู่โจมของกองทัพอิสราเอลเป็นอาชญากรรมชั่วร้าย ซึ่งรัฐบาลขวาจัดของอิสราเอลต้องรับผิดชอบการสังหารหมู่ครั้งนี้

เน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า วอชิงตันกังวลอย่างยิ่งกับระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้น รวมทั้งตระหนักถึงความกังวลด้านความมั่นคงที่อิสราเอลต้องเผชิญ แต่ขณะเดียวกัน ก็กังวลมากกับจำนวนพลเรือนที่บาดเจ็บล้มตาย

โจเซฟ บอร์เรลล์ ประธานด้านนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) กังวลกับเหตุการณ์รุนแรงในเวสต์แบงก์เช่นเดียวกัน และเรียกร้องทุกฝ่ายร่วมกันฟื้นความสงบและหลีกเลี่ยงการสูญเสียมากกว่านี้

กระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศสประณามการก่อความรุนแรงต่อพลเรือน และย้ำพันธะหน้าที่ของอิสราเอลในการเคารพกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและใช้กำลังอย่างเหมาะสม รวมทั้งเรียกร้องให้ทุกฝ่ายอดกลั้นเพื่อไม่ให้เหตุการณ์ลุกลาม

นับจากต้นปี ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ทำให้ชาวปาเลสไตน์ทั้งนักรบและพลเรือนเสียชีวิต 60 คน และ 9 คนสำหรับอิสราเอล ซึ่งรวมถึงเด็ก 3 คน ตำรวจ 1 นาย และพลเรือนยูเครน 1 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น