xs
xsm
sm
md
lg

จีนเล่นใหญ่! ขึ้นบัญชีดำ 2 บริษัทยักษ์สหรัฐฯ 'ล็อคฮีด' และ 'เรย์ธีออน' ตอบโต้ขายอาวุธให้ไต้หวัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จีนในวันพฤหัสบดี (16 ก.พ.) บรรจุล็อคฮีด มาร์ติน และแผนกหนึ่งของเรย์ธีออน เทคโนโลยีส์ลงไปในรายชื่อนิติบุคคลที่ไม่น่าเชื่อถือ (unreliable entities list) ต่อกรณีขายอาวุธแก่ไต้หวัน แบนทั้ง 2 บริษัทจากการนำเข้าและส่งออกที่เกี่ยวข้องกับจีน ในมาตรการคว่ำบาตรล่าสุดที่กำหนดเล่นงานบรรดาบริษัทสัญชาติสหรัฐฯ

มาตรการนี้มีขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดขั้นสูงระหว่าง 2 ชาติ ตามหลังเหตุการณ์กองทัพสหรัฐฯ ยิงตกในสิ่งที่พวกเขาระบุว่าเป็นบอลลูนสอดแนมของจีน และมีขึ้น 1 วัน หลังจากปักกิ่งเตือนว่าจะใช้มาตรการตอบโต้ต่อนิติบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของสหรัฐฯ ที่บ่อนทำลายอำนาจอธิปไตยและความมั่นคงของจีน

กระทรวงพาณิชย์ของจีนระบุในถ้อยแถลงว่า ล็อคฮีด มาร์ติน คอร์ปอเรชัน และเรย์ธีออน มิสไซล์ แอนด์ ดีเฟนส์ คอร์ปอเรชัน บริษัทลูกของเรย์ธีออน เทคโนโลยีส์ คอร์ปอเรชัน ถูกห้ามจากการมีส่วนยุ่งเกี่ยวในกิจกรรมนำเข้าและส่งออกที่เกี่ยวข้องกับจีน

คารีน ฌอง-ปิแอร์ เลขานุการฝ่ายสื่อสารมวลชนของทำเนียบขาว กล่าวกับผู้สื่อข่าวในวันพฤหัสบดี (16 ก.พ.) ว่า "มันเป็นมาตรการเชิงสัญลักษณ์และไม่มีความจำเป็น นี่คือมุมมองของเราที่มีต่อมาตรการดังกล่าว"

บริษัททั้ง 2 ไม่ได้ขายผลิตภัณฑ์กลาโหมให้จีน แต่ทางเรย์ธีออน เทคโนโลยีส์ ขายเครื่องยนต์เครื่องบิน แพรตต์แอนด์วิตนีย์ (Pratt & Whitney) เช่นดียวกับระบบฐานล้อและชุดควบคุม ให้แก่อุตสากรรมการบินพาณิชย์ของจีน ทั้งนี้ เรย์ธีออน ยังไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าว

ส่วน ล็อคฮีด มาร์ติน ซึ่งส่งออกไปประเทศต่างๆ มากกว่า 70 ชาติ ระบุในถ้อยแถลงว่า "การขายทางทหารให้ต่างประเทศ (Foreign Military Sales) เป็นการทำธุรกรรมระหว่างรัฐกับรัฐ และเราทำงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลสหรัฐฯ ในด้านการขายทางทหารใดๆ แก่ลูกค้าระหว่างประเทศ ล็อคฮีด ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ในเรื่องเกี่ยวกับการทำธุรกิจกับรัฐบาลต่างชาติ"

ล็อคฮีด มาร์ติน เป็นผู้ผลิตเครื่องบินขับไล่แรปเตอร์ F-22 ซึ่งปฏิบัติภารกิจสอยร่วงบอลลูนลูกหนึ่ง ซึ่งกล่าวอ้างว่าเป็นบอลลูนสอดแนมจีน นอกชายฝั่งรัฐเซาท์แคไรไลนา โดยใช้ขีปนาวุธ AIM-9X ไซด์ไวเดอร์ ที่ผลิตโดยเรย์ธีออน

ปักกิ่งยังแบนทั้ง 2 บริษัทจากการลงทุนเพิ่มเติมในจีน ห้ามผู้บริหารระดับสูงเดินทางเข้าประเทศ ยกเลิกการอนุญาตเจ้าหน้าที่ของบริษัทพำนักอาศัยในจีน และกำหนดโทษปรับเป็นจำนวน 2 เท่าของมูลค่าอาวุธที่บริษัททั้ง 2 แห่งทำสัญญาขายให้ไต้หวัน

ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าจีนจะทำการปรับเงินบริษัททั้ง 2 แห่งอย่างไร แม้มีการตั้งเงื่อนไขว่า ต้องมีการชำระภายใน 15 วัน

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีก่อน จีนเพิ่งลงโทษทั้ง 2 บริษัทเป็นเงินกว่า 100 ล้านดอลลาร์ ต่อกรณีขายอาวุธแก่ไต้หวัน เกาะปกครองตนเองที่จีนมองว่าเป็นมณฑลหนึ่งของตนเองที่แยกตัวออกไป

ก่อนหน้านี้ จีนเคยดำเนินมาตรการลงโทษ ล็อคฮีด ในปี 2019 และเรย์ธีออน ในปี 2020 โดยไม่ได้ให้เหตุผลและไม่ได้ให้รายละเอียดการลงโทษด้วย

รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ได้จำหน่ายอาวุธให้จีน แต่มีข้อผูกมัดภายใต้กฎหมาย Taiwan Relations Act ปี 1979 ว่าต้องจัดหาสิ่งที่ไต้หวันจะใช้ในการปกป้องตนเอง และการขายอาวุธของอเมริกันให้ไต้หวันนั้น ก่อความขุ่นเคืองแก่ปักกิ่งมาตลอด

(ที่มา : รอยเตอร์/บลูมเบิร์ก)


กำลังโหลดความคิดเห็น