สหรัฐฯ ในวันพุธ (8 ก.พ.) สงสัยว่าบอลลูนสอดแนมของจีนที่ถูกอเมริกายิงตกนั้น อาจเป็นส่วนหนึ่งของ "กองทัพบอลลูน" ที่กระจายอยู่ 5 ทวีปทั่วโลก ความเห็นสอดคล้องกับนาโต้ ที่ส่งเสียงแสดงความกังวลเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวดังกล่าวของปักกิ่งเช่นกัน
แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ บ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ที่เหตุการณ์ในอเมริกา อาจเกิดขึ้นกับทวีปต่างๆ ทั่วโลกเช่นกัน พร้อมบอกว่าสหรัฐฯ ได้มอบข้อมูลให้แก่พันธมิตร ระหว่างที่กำลังประเมินเศษซากต่างๆ ที่เก็บกู้มาได้
"เราได้แชร์ข้อมูลกับหลายสิบประเทศทั่วโลก ทั้งจากวอชิงตันและผ่านสถานทูตของเรา" บลิงเคนกล่าว "เราทำเช่นนี้ เพราะว่าสหรัฐฯ ไม่ได้เป็นแค่เป้าหมายเดียวของโครงการอันกว้างขวางนี้ ซึ่งละเมิดอำนาจอธิปไตยของประเทศต่างๆ ทั่วทั้ง 5 ทวีป" เขากล่าวระหว่างแถลงข่าวร่วมกับ เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโต้ ที่เดินทางเยือนวอชิงตัน
คารีน ฌอง ปิแอร์ เลขานุการฝ่ายสื่อสารมวลชนของทำเนียบขาว ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวบนเครื่องบินแอร์ฟอร์ซวัน ให้คำจำกัดความบอลลูนวาเป็นส่วนหนึ่งของ "กองทัพบอลลูน" และบอกว่าพวกมันเคยถูกพบเห็นทั่วโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
บอลลูนสีขาวขนาดใหญ่บรรทุกอุปกรณ์ล้ำสมัย ลอยข้ามสหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ก่อนประธานาธิบดีโจ ไบเดน ออกคำสั่งให้ทหารยิงตกนอกชายฝั่งทางตะวันออกในมหาสมุทรแอตแลนติก
จีนยืนยันว่าบอลลูนแค่กำลังทำการวิจัยสภาพอากาศเฉยๆ แต่เพตากอนบอกว่ามันกำลังปฏิบัติการสอดแนมด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง โดยบอลลูนนี้ลอยอยู่ในระดับความสูงที่สูงกว่าเครื่องบินเกือบทั้งหมด และลอยข้ามตรงเหนือฐานที่ตั้งทางทหารที่อ่อนไหวของสหรัฐฯ อย่างน้อยๆ 1 แห่ง
สโตลเทนเบิร์ก ซึ่งเดินทางเยือนวอชิงตันตามหลังญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ บอกว่าเหตุการณ์บอลลูน แสดงให้เห็นว่าประเทศสมาชิกของพันธมิตรทหารแห่งนี้มีความจำเป็นที่ต้องปกป้องตนเอง
"บอลลูนจีนเหนือสหรัฐฯ เป็นการยืนยันรูปแบบพฤติกรรมของจีน ในสิ่งที่เราเห็นมาตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ที่พวกเขาได้ลงทุนอย่างมหาศาลในด้านศักยภาพด้านการทหาร" สโตลเทนเบิร์ก กล่าว "เรายังพบเห็นความเคลื่อนไหวด้านข่าวกรองของจีนในยุโรปด้วยเช่นกัน พวกเขาใช้ดาวเทียม ใช้ไซเบอร์ และแบบเดียวกับที่เราเห็นเหนือสหรัฐฯ พวกเขาใช้บอลลูน ดังนั้นเราจำเป็นต้องเฝ้าระวัง"
นอกจากนี้ สโตลเทนเบิร์ก ยังได้ออกคำเตือนรอบใหม่ว่าจีนกำลังเรียนรู้บทเรียนจากสงครามในยูเครน ซึ่งบรรดาชาติสมาชิกนาโต้ได้ให้การสนับสนุนเคียฟ ในการต่อสู้สกัดการรุกรานของรัสเซีย "สิ่งที่เกิดขึ้นในยุโรปในวันนี้ อาจเกิดขึ้นในเอเชียในอนาคต" เขากล่าว อ้างถึงแรงกดดันของจีนที่มีต่อไต้หวัน เกาะปกครองตนเองตามระบอบประชาธิไตย ที่จีนกล่าวอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดน
หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ อ้างเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ รายงานว่าโปรแกรมบอลลูนสอดแนมของจีน เป็นโครงการที่บางส่วนควบคุมจากเกาะไหหลำ ทางภาคใต้ของประเทศ มันเป็นการอัปเดตจากเทคโนโยลีเก่า และเคยถูกใช้ในการสอดส่องสินทรัพย์ทางทหารของชาติคู่อริที่อยู่ใกล้กันอย่างเช่น ญี่ปุ่น อินเดียและไต้หวัน
ระหว่างแถลงนโยบายประจำปีในวันอังคาร (7 ก.พ.) ไบเดน กล่าวว่าคำสั่งสอยบอลลูนให้ร่วงของเขา แสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ ไม่รีรอที่จะลงมือหากว่ามีความจำเป็น อย่างไรก็ตามเขาเน้นว่าอเมริกาไม่ต้องการขัดแย้งกับจีน แม้เหตุการณ์นี้ทำให้ บลิงเคน ตัดสินใจเลื่อนโปรแกรมเยือนปักกิ่งออกไป ทั้งที่ก่อนหน้านี้เขาหวังใช้โอกาสนี้หาทางคลี่คลายความตึงเครียดระหว่าง 2 ชาติ
จากนั้นในวันพุธ (8 ก.พ.) ไบเดน ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์พีบีเอส เน้นย้ำอีกรอบว่าสหรัฐฯ ไม่ได้กำลังมองหาความขัดแย้งกับจีน "เราจะแข่งขันกับจีนอย่างเต็มกำลัง แต่เราไม่ได้มองหาความขัดแย้ง และมันเป็นเช่นนี้มาตลอดจนกระทั่งตอนนี้"
เมื่อถูกถามว่าเหตุการณ์นี้จะก่อความเสียหายครั้งใหญ่ในความสัมพันธ์กับปักกิ่งหรือไม่ ไบเดน ตอบว่า "ไม่"
จีน เบื้องต้นส่งเสียงแสดงความเสียใจต่อการล่วงละเมิดทางอากาศ แต่ต่อมาตำหนิการตัดสินใจยิงตกของสหรัฐฯ และล่าสุดได้ตอบโต้กลับ ไบเดน ว่าพวกเขาจะปกป้องอย่างหนักแน่นต่อผลประโยชน์ของตนเอง
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุว่าที่ต้องตัดสินใจรอให้บอลลูนลอยไปถึงเขตน่านน้ำเสียก่อน ก็เพราะมันเป็นหนทางเดียวที่สามารถรับประกันความปลอดภัยแก่ประชาชนที่อยู่บนภาคพื้น ขณะที่พรรครีพับลิกัน คู่ปรับของ ไบเดน แนะนำประธานาธิบดีรายนี้ควรออกคำสั่งทำลายบอลลูนเร็วที่สุด ทันทีที่ทำการระบุเอกลักษณ์เสร็จสิ้นแล้ว
(ที่มา : เอเอฟพี)