แม้ยอดผู้เสียชีวิตจากธรณีวิปโยคในตุรกีและซีเรียเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนสูงกว่า 37,000 คนแล้วในวันจันทร์ (13 ก.พ.) แต่ยังมีปาฏิหาริย์ที่หน่วยกู้ภัยค้นพบและช่วยเหลือผู้รอดชีวิตออกมาได้อีกหลายคน ซึ่งติดอยู่ใต้ซากปรักหักพังเป็นเวลานานถึงหนึ่งสัปดาห์
ขณะที่ความหวังพบผู้รอดชีวิตในกองซากปรักหักพังเพิ่มมากขึ้นอีกหลายๆ คน กำลังริบหรี่ลงทุกที ยอดผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการจากแผ่นดินไหวขนาดความรุนแรง 7.8 เมื่อวันจันทร์ (6) ที่แล้วคราวนี้ ทั้งในตุรกีและซีเรียรวมกัน พุ่งขึ้นมาอยู่ที่เกือบๆ 36,000 คน และทำท่าว่าจะยังคงเพิ่มสูงขึ้นไปอีก
ธรณีพิโรธซึ่งถือเป็นครั้งที่รุนแรงที่สุดในตุรกีนับจากปี 1939 คราวนี้ คร่าชีวิตผู้คนในประเทศนี้ไปแล้ว 31,643 คน สำนักงานบริหารวิบัติภัยและเหตุฉุกเฉินของตุรกีระบุในวันจันทร์ ขณะที่หน่วยงานสหประชาชาติบอกว่าจนถึงวันอาทิตย์ (12) ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรีย พบผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 4,300 คน และบาดเจ็บอีก 7,600 คน เมื่อบวกกับยอดผู้เสียชีวิตซึ่งรายงานจากพื้นที่ส่วนต่างๆ ที่อยู่ในการควบคุมของรัฐบาล ก็ทำให้จำนวนคนตายในซีเรียเท่าที่มีรายงานกันอยู่ที่กว่า 5,714 คน
กระนั้น ราวๆ 176 ชั่วโมงภายหลังเกิดแผ่นดินไหวครั้งแรกสุด หญิงผู้หนึ่งชื่อ เซรัป ดอนเมซ ก็ถูกดึงตัวออกมาในสภาพที่ยังมีชีวิตอยู่เมื่อวันจันทร์ (13) จากกองหักพังของกลุ่มอาคารอพาร์ตเมนต์ซึ่งพังลงมาในเมืองอันทัลยา โดยทีมค้นหาและกู้ภัยจากตุรกีและโอมาน ตามรายงานของบริษัทวิทยุโทรทัศน์ทีอาร์ที ของทางการตุรกี
ขณะที่โทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นภาคภาษาตุรกี (ซีเอ็นเอ็น เติร์ก) รายงานก่อนหน้านั้นในวันเดียวกันว่า ซีเบล คายา หญิงวัย 40 ปี ได้รับความช่วยเหลือนำตัวออกมาจากใต้ซากอาคารในจังหวัดกาซีอันเท็พ แล้วยังมีคนอายุ 35 ปีผู้หนึ่งได้รับการช่วยชีวิตจากใต้อาคารในเมืองอาดือยามัน เจ้าหน้าที่หลายรายเผย
ซีเอ็นเอ็น เติร์ก ยังรายงานว่า เจ้าหน้าที่กู้ภัยในเมืองคาห์รามันมารัชในตุรกีพบและสื่อสารกับผู้รอดชีวิต 3 คนที่เชื่อว่า เป็นแม่ ลูกสาว และทารก ใต้ซากอาคาร และเจ้าหน้าที่กู้ภัยกำลังร่วมกับทหารและคนงานเหมืองแร่ในประเทศ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงโปรตุเกส ช่วยเหลือผู้รอดชีวิตทั้ง 3 คนนี้
ด้านกระทรวงสถานการณ์ฉุกเฉินของรัสเซียแถลงว่า ทีมกู้ภัยของรัสเซีย คาซัคสถาน และเบลารุส ช่วยกันนำชายคนหนึ่งออกจากใต้อาคารที่ถล่มในตุรกีเมื่อวันอาทิตย์ หรือหลังแผ่นดินไหวราว 160 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม มีรายงานด้วยว่า เมืองอันทัลยา หนึ่งในเมืองของตุรกีที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด เจ้าของธุรกิจหลายคนพากันขนสินค้าออกจากร้านเพื่อป้องกันถูกปล้น ขณะที่ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์จากเมืองอื่นๆ ระบุว่า สถานการณ์ความปลอดภัยในเมืองดังกล่าวย่ำแย่ลง โดยมีการเข้าปล้นห้างร้านต่างๆ ตลอดจนถึงบ้านที่พังถล่มลงมา
ประธานาธิบดีไตยิป แอร์โดอัน ของตุรกี กล่าวว่า รัฐบาลจะจัดการขั้นเด็ดขาดกับพวกปล้นฉกชิงทรัพย์ โดยที่ตัวเขาเองก็กำลังถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับการรับมือแผ่นดินไหวได้อย่างย่ำแย่ ขณะที่ตุรกีกำลังจะมีการเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน ซึ่งคาดว่าเขาต้องเผชิญการแข่งขันหนักหนาสาหัสที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษของการครองอำนาจ
แผ่นดินไหวครั้งนี้ถือเป็นภัยพิบัติธรรมชาติที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดอันดับ 6 ในรอบศตวรรษนี้ รองจากแผ่นดินไหวในปี 2005ในปากีสถาน ที่มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 73,000 คน
ในซีเรียนั้น ธรณีพิโรธคราวนี้ส่งผลรุนแรงที่สุดในพื้นที่ยึดครองของกบฏทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ แต่ก็เป็นพื้นที่ที่ได้รับความช่วยเหลือเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับพื้นที่ในการควบคุมของรัฐบาล
มาร์ติน กริฟฟิธส์ ผู้ช่วยเลขาธิการยูเอ็นด้านการบรรเทาทุกข์ ทวีตว่า ไม่สามารถเข้าถึงประชาชนทางตะวันตกเฉียงเหนือของซีเรีย แต่กำลังเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหานี้
เขายังคาดว่า จำนวนผู้เสียชีวิตในซีเรียอาจเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวหรือมากกว่านั้นอีก เนื่องจากโอกาสในการพบผู้รอดชีวิตยิ่งน้อยลงทุกที
ด้านสหรัฐฯ เรียกร้องให้รัฐบาลซีเรียและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเปิดช่องทางเข้าถึงด้านมนุษยธรรมให้แก่ผู้ประสบภัยที่ต้องการความช่วยเหลือทั้งหมด
ทั้งนี้ แหล่งข่าวภายในกลุ่มกบฏ ฮายัต ตอห์รีร์ อัล-ชาม (เอชทีเอส) ที่ควบคุมพื้นที่กว้างขวางทางตะวันตกเฉียงเหนือของซีเรีย เผยว่า เอชทีเอสไม่อนุญาตให้นำสิ่งของบรรเทาทุกข์จากพื้นที่ในการควบคุมของรัฐบาลซีเรียเข้าสู่ดินแดนยึดครองของตนเอง แต่จะอนุญาตหากส่งจากตุรกี
เจนส์ เลร์กี้ โฆษกยูเอ็น แถลงว่า ยูเอ็นหวังเร่งรัดการดำเนินการข้ามแดนด้วยการเปิดจุดผ่านแดนระหว่างตุรกีกับพื้นที่ยึดครองของกบฏในซีเรียเพิ่มอีก 2 จุด
(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี, เอพี)