xs
xsm
sm
md
lg

หิวโหยและหนาวเหน็บ! ปธน.ตุรกีรับบกพร่องช่วยผู้ประสบภัย ยอดตายแผ่นดินไหวพุ่งพรวดเกิน 1.2 หมื่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประธานาธิบดีเรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน ของตุรกี เมื่อวันพุธ (8 ก.พ.) ยอมรับมีข้อบกพร่องต่างๆ หลังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของเขาในแนวทางตอบสนองต่อเหตุแผ่นดินไหวครั้งเลวร้าย ซึ่งยอดผู้เสียชีวิตล่าสุดทั้งในตุรกีและซีเรีย พุ่งเกิน 12,000 รายเข้าให้แล้ว

ปฏิบัติการกู้ภัยมีงานล้นมือ อันเนื่องจากขอบเขตอันกว้างของของหายนะที่พังอาคารหลายพันหลังราบเป็นหน้ากลอง ทำผู้คนไม่ทราบจำนวนติดอยู่ใต้ซากปรักหักพัง นอกจากนี้ สภาพอากาศอันหนาวจัดยังเป็นอุปสรรคต่อความพยายามช่วยเหลือและบรรเทาภัยอีกด้วย

พวกผู้รอดชีวิตถูกปล่อยทิ้งให้ยื้อแย่งอาหารประทังชีวิตและที่พักพิง และในบางกรณีผู้ประสบภัยบางส่วนที่ติดอยู่ใต้ซากปรักหักพังก็ถูกเฝ้ามองโดยไม่อาจช่วยอะไรได้ แม้บรรดาญาติๆ จะโทรศัพท์ร้องขอความช่วยเหลือ แต่ท้ายที่สุดแล้วเสียงของคนเหล่านั้นก็เงียบหายไปภายใต้ซากปรักหักพัง

เซมีร์ โคบาน ครูโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่งในเมืองฮาเตย์ของตุรกี เล่าว่า "หลานของฉัน น้องสะใภ้ของฉัน น้องสาวของน้องสะใภ้ของฉัน อยู่ในซากปรักหักพัง พวกเธอติดอยู่ใต้ซากและไม่มีสัญญาณชีวิต" เธอกล่าว "เราพยายามพูดคุยกับพวกเธอ ไม่พวกเธอไม่ขานกลับ เรากำลังรอความช่วยเหลือ แต่ตอนนี้มันนานกว่า 48 ชั่วโมงแล้ว"

อย่างไรก็ตาม ในที่อื่นๆ ทีมค้นหายังสามารถดึงร่างผู้ประสบภัยออกมาจากซากปรักพักพักต่างๆ 3 วันหลังเกิดแผ่นดินไหวระดับ 7.8 ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในแผ่นดินไหวที่เข่นฆ่าชีวิตผู้คนมากที่สุดในศตวรรษนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แม้ยอดผู้เสีชีวิตยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง บนสื่อสังคมออนไลน์ แอร์โดอัน เดินทางเยือนหนึ่งในจุดที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วงที่สุด นั่นคือเมืองคาห์รามันมาราส และยอมรับว่าการตอบสนองภัยพิบัติครั้งนี้มีปัญหาต่างๆ "แน่นอนว่ามีข้อบกพร่อง สถานการณ์ต่างๆ สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน แต่มันเป็นไปไม่ได้ที่จะพร้อมสำหรับหายนะเช่นนี้"

โอกาสที่ทีมกู้ภัยจะพบผู้รอดชีวิตลดน้อยลงเรื่อยๆ ในขณะที่ความพยายามดังกล่าวใกล้ผ่านพ้น 72 ชั่วโมง ซึ่งพวกผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติระบุว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความเป็นไปได้ในการปกป้องชีวิต

แต่กระนั้นในวันพุธ (8 ก.พ.) ทีมกู้ภัยสามารถดึงเด็กๆ ออกมาจากอาคารที่พังถล่มลงมาหลังหนึ่ง ในจังหวัดฮาเตย์ พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วงในตุรกี ซึ่งพบเห็นเมืองต่างๆ ทั่วทั้งจังหวัดพังราบเป็นหน้ากลอง

"เราได้ยินเสียงดังชึ้นอย่างทันทีทันใด ต้องขอบคุณรถขุด โดยทันทีทันใดเราได้ยินเสียงคน 3 คนในเวลาเดียวกัน" เจ้าหน้าที่กู้ภัยรายหนึ่งกล่าว "เราคาดหมายว่าจะมีคนมากกว่านั้น โอกาสที่จะช่วยผู้ประสบภัยออกมาจากตรงนั้นมีสูงมากๆ"

เจ้าหน้าที่และทีมแพทย์ฉุกเฉิน เปิดเผยว่ามีผู้เสียชีวิตในตุรกีแล้ว 9,057 คน และอย่างน้อย 3,042 คนในซีเรีย จากแผ่นดินไหวระดับ 7.8 ในวันจันทร์ (6 ก.พ.) ส่งผลให้ยอดรวมอยู่ที่ 12,099 ราย อย่างไรก็ตาม มีความกังวลว่าตัวเลขเหยื่ออาจเพิ่มอีกเท่าตัว หากว่ามันเป็นความจริงตามที่พวกผู้เชี่ยวชาญหวั่นเกรงกัน

ในบรัสเซลส์ สหภาพยุโรปมีแผนประชุมบรรดาผู้บริจาคในเดือนมีนาคม เพื่อระดมความช่วยเหลือนานาชาติมอบแก่ซีเรียและตุรกี

สืบเนื่องจากความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นบริเวณกว้างและความช่วยเหลือเข้าไม่ถึงในบางพื้นที่ พวกผู้รอดชีวิตบอกว่าพวกเขารู้สึกเหมือนถูกทิ้งไว้เพียงลำพังในการรับมือกับภัยพิบัติครั้งนี้


"แม้กระทั่งอาคารต่างๆ ที่ยังไม่ถล่มลงมาก็ได้รับความเสียหายรุนแรง ตอนนี้มีคนอยู่ใต้ซากปรักหักพักมากกว่าคนที่อยู่เหนือมันเสียอีก" คำบอกเล่าของ ฮัสซัน ชาวบ้านรายหนึ่งในจินเดย์ริส เมืองที่อยู่ภายใต้การยึดครองของกบฏในซีเรีย "มีคนราว 400-500 คนติดอยู่ใต้อาคารที่พังถล่มแต่ละหลัง มีแค่ 10 คนที่พยายามดึงเขาออกมา และไม่มีเครื่องจักรกลใดๆ"

อาสาสมัครกลุ่มหมวกขาว (The White Helmets) ซึ่งเป็นแกนนำความพยายามช่วยเหลือผู้คนที่ติดอยู่ใต้ซากปรักหักพังในพื้นที่ต่างๆ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายกบฏในซีเรีย ร้องขอความช่วยเหลือจากนานาชาติ ในขณะที่พวกเขากำลังทำงานแข่งกับเวลา

พวกเขาทำงานอย่างหนักมาตั้งแต่เกิดแผ่นดินไหว ในความพยายามช่วยเหลือผู้รอดชีวิตที่ติดอยู่ใต้ซากปรักหักพังของอาคารหลายสิบหลังในพื้นที่ต่างๆ ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของซีเรีย ประเทศที่ถูกสงครามฉีกขาด ในดินแดนที่ยังคงอยู่นอกเหนือการควบคุมของรัฐบาล

เจ้าหน้าที่ของยูเอ็นร้องขอการอำนวยความสะดวกเปิดทางให้ความช่วยเหลือเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกบฏ ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือ พร้อมเตือนว่าคลังสิ่งของบรรเทาทุกข์จะหมดลงเร็วๆ นี้ "วางการเมืองเอาไว้ก่อนและปล่อยให้เราทำงานด้านมนุษยธรรมของเรา" เอล มอสตาฟา เบนลามลีห์ ผู้แทนท้องถิ่นซีเรียของสหประชาชาติบอกกับเอเอฟพี

ประเด็นในความช่วยเหลือซีเรียนั้นมีความละเอียดอ่อน และรัฐบาลในดามัสกัสที่ถูกคว่ำบาตร ได้ร้องขอความช่วยเหลืออย่างเป็นทางการมายังสหภาพยุโรปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากการเปิดเผยของยาเนซ เลนาร์ชิช คณะกรรมาธิการด้านการจัดการภาวะวิกฤตของอียู

สงครามกลางเมืองที่ลากยาวมานานกว่าทศวรรษและปฏิบัติการทิ้งบอมบ์ของซีเรีย-รัสเซีย ได้ก่อความเสียหายย่อยยับแก่โรงพยาบาล ทำลายเศรษฐกิจ และก่อปัญหาขาดแคลนทั้งในแง่ไฟฟ้า เชื้อเพลิงและน้ำอุปโภคบริโภคอยู่ก่อนแล้ว

เลนาร์ชิช เผยว่า คณะกรรมาธิการยุโรปกำลังเร่งเร้าประเทศสมาชิกอียูให้ตอบสนองคำร้องขอของซีเรีย ในด้านเสบียงยาและอาหาร ขณะเดียวกัน ก็ต้องคอยจับตาหาทางรับประกันว่าความช่วยเหลือใดๆ จะไม่ถูกเบี่ยงเบนโดยรัฐบาลของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด

เวลานี้มีหลายสิบประเทศ ในนั้นรวมถึงสหรัฐฯ จีน และรัฐอ่าวอาหรับที่สัญญามอบความช่วยเหลือ ในขณะที่ทีมค้นหาเช่นเดียวกับสิ่งของบรรเทาทุกข์เริ่มทยอยไปถึงแล้ว

สหภาพยุโรปส่งทีมช่วยเหลือไปตุรกีอย่างรวดเร็ว ตามหลังแผ่นดินไหวรุนแรงใกล้ชายแดนติดกับซีเรียในวันจันทร์ (6 ก.พ.) แต่เบื้องต้นพวกเขาเสนอมอบความช่วยเหลือแก่ซีเรียเพียงเล็กน้อย สืบเนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรที่อียูกำหนดเล่นงานรัฐบาลของอัสซาดมาตั้งแต่ปี 2011 เกี่ยวกับการปราบปรามโหดเหี้ยมจัดการกับพวกผู้ประท้วง ซึ่งลุกลามบานปลายกลายเป็นสงครามกลางเมือง

แนวชายแดนตุรกีและซีเรีย เป็นโซนที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้งที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ขณะที่แผ่นดินไหวในวันจันทร์ (6 ก.พ.) ถือว่าเป็นครั้งรุนแรงที่สุดของตุรกี นับตั้งแต่ปี 1939 โดยคราวนั้นมีผู้เสียชีวิตมากถึง 33,000 ราย ในจังหวัดแอร์ซินจัน

ในปี 1999 เกิดแผ่นดินไหวระดับ 7.4 เข่นฆ่าชีวิตผู้คนมากกว่า 17,000 คน

(ที่มา : เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น