xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : ตะวันตกอ้ำอึ้ง! ยูเครนได้รถถังหลักยังไม่พอ อ้อนขอ ‘เครื่องบินขับไล่’ ช่วยจบศึกรัสเซีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เครื่องบินขับไล่ F-16 ซึ่งผลิตและพัฒนาโดยบริษัท เจเนอรัล ไดนามิกส์ ของสหรัฐฯ
สหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตกมีเรื่องให้ต้องสุมหัวขบคิดอีกรอบ หลังยูเครนซึ่งใช้ลูกอ้อนขอรถถังหลักจากอเมริกาและชาติยุโรปจนสำเร็จมาแล้ว ล่าสุด ออกมารบเร้าขอ “เครื่องบินขับไล่” ที่ทันสมัยอย่าง F-16 เอามาใช้ต่อกรกับรัสเซีย ในความเคลื่อนไหวที่หากเกิดขึ้นจริงอาจกระพือไฟสงครามให้ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น

แม้ยูเครนจะได้เสียงสนับสนุนจากบรรดารัฐบอลติก และโปแลนด์ในการร้องขอเครื่องบินขับไล่ของตะวันตกเพื่อเพิ่มศักยภาพในการต่อต้านและขับไล่รัสเซีย ทว่ามหาอำนาจรายใหญ่อย่างสหรัฐฯ และอังกฤษยังไม่มีทีท่าว่าจะยอมเอออวยส่งเครื่องบินรบให้เคียฟ

“ยูเครนจำเป็นต้องได้เครื่องบินขับไล่ ขีปนาวุธ รถถัง พวกเราต้องทำอะไรสักอย่าง” เออร์มัส เรนซาลู รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเอสโตเนีย ระบุในงานแถลงข่าวร่วมกับบรรดารัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่มชาติบอลติก และโปแลนด์ที่กรุงริกา ของลัตเวีย

เนื่องจากประเทศเหล่านี้ตั้งอยู่ชายแดนตะวันออกของนาโตจึงกังวลภัยคุกคามจากรัสเซียมากเป็นพิเศษ และทำตัวเป็นกระบอกเสียงเรียกร้องความช่วยเหลือทางทหารให้ยูเครนเรื่อยมา

โอเลกซี เรซนิคอฟ รัฐมนตรีกลาโหมยูเครน กล่าวภายหลังหารือร่วมกับรัฐมนตรีกลาโหมฝรั่งเศสในสัปดาห์นี้ว่า ตนไม่ได้เอ่ยปากขอเครื่องบินขับไล่ตรงๆ ทว่ามีการพูดถึง “แพลตฟอร์มการบิน” ที่จะช่วยส่งเสริมระบบป้องกันจากพื้นดินสู่อากาศ (ground-to-air defense) ให้แก่ยูเครน

เซบาสเตียน เลอคอร์นู รัฐมนตรีกลาโหมฝรั่งเศส ยืนยันว่า การส่งเครื่องบินขับไล่ให้ยูเครนไม่ใช่ “เรื่องต้องห้าม” เสียทีเดียว พร้อมยืนยันว่าฝรั่งเศสจะจัดส่ง “ปืนใหญ่ซีซาร์” ให้ยูเครนเพิ่มอีก 12 กระบอกในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ขณะที่ประธานาธิบดี เอมมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศสระบุเมื่อวันจันทร์ (30) ว่า ปารีส “ไม่ตัดความเป็นไปได้” ในการส่งเครื่องบินรบช่วยยูเครน ทว่าจะต้องกำหนดเงื่อนไขบางอย่างเพื่อให้มั่นใจว่า การทำเช่นนี้จะไม่กระพือไฟสงคราม ไม่มีการนำเครื่องบินรบเหล่านี้ไป “แตะต้อง” แผ่นดินรัสเซีย และจะต้องไม่ลดทอนศักยภาพของกองทัพฝรั่งเศสเองด้วย

อย่างไรก็ตาม ผู้นำชาติตะวันตกส่วนใหญ่ยังเกรงว่าการส่งเครื่องบินรบให้ยูเครนจะมีค่าเท่ากับ “ยกระดับสงคราม” และทำให้ประเทศของพวกเขาถูกดึงเข้าไปพัวพันความขัดแย้งกับรัสเซียมากขึ้นอีก

อังกฤษซึ่งเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนและซัปพลายเออร์อาวุธรายใหญ่ของเคียฟ ประกาศเสียงแข็งว่าการส่งเครื่องบินขับไล่ “ไม่ใช่แนวทางที่ทำได้จริง” ขณะที่โฆษกของนายกรัฐมนตรี ริชี ซูแน็ก แถลงในวันอังคาร (31) ว่า เครื่องบินขับไล่ Typhoon และ F-35 เป็นอากาศยานทางทหารที่ซับซ้อนอย่างยิ่ง และต้องใช้เวลาในการฝึกบินนานหลายเดือน แต่ไม่ได้บอกว่าลอนดอนจะคัดค้านหรือไม่หากประเทศอื่นๆ จะยินดีส่งมอบให้ยูเครน

ด้านประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ตอบคำถามสื่อที่ทำเนียบขาวอย่างหนักแน่นเมื่อวันจันทร์ (30) ว่า “ไม่” หลังถูกยิงคำถามเรื่องการส่งมอบ F-16 ให้ยูเครน ทว่าในอีก 1 วันถัดมากลับมาท่าทีอ่อนลง โดยบอกว่า “จะพูดคุยหารือ” กับประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี เกี่ยวกับคำร้องขอล่าสุดของยูเครน

นายกรัฐมนตรี โอลาฟ ชอลซ์ แห่งเยอรมนี แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการส่งเครื่องบินรบ โดยระบุเมื่อวันอาทิตย์ (29) ว่า เหตุผลในการหารือประเด็นนี้น่าจะเกิดจาก “แรงจูงใจทางการเมืองภายใน” ของบางประเทศมากกว่า ขณะที่นายกรัฐมนตรี มาร์ค รึตเตอ แห่งเนเธอร์แลนด์ กล่าวเมื่อวันจันทร์ (30) ว่า แม้การส่งเครื่องบินรบให้ยูเครนจะไม่ใช่เรื่องต้องห้ามก็จริง แต่ก็ถือเป็น “ย่างก้าวถัดไปที่สำคัญมาก”

เซบาสเตียน เลอคอร์นู รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมฝรั่งเศส ให้การต้อนรับ โอเลกซี เรซนิคอฟ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศยูเครน ซึ่งเดินทางเยือนฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ ที่ตึกกระทรวงกลาโหมฝรั่งเศสในกรุงปารีส เมื่อวันที่ 31 ม.ค.
เซียร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ตอบคำถามสื่อเรื่องที่ตะวันตกส่งมอบอาวุธให้ยูเครนเมื่อวันอังคาร (31) โดยระบุว่า “นาโตเข้ามามีส่วนร่วมทำสงครามไฮบริดโดยตรงกับรัสเซียมานานแล้ว” และกองทัพรัสเซีย “จะใช้ทุกมาตรการที่จำเป็นเพื่อทำลายแผนการของตะวันตก”

ทั้งยูเครนและรัสเซียต่างกำลังเร่งเติมอาวุธเข้าสู่คลังแสงของตัวเอง เพื่อเตรียมพร้อมรับปฏิบัติการโจมตีระลอกใหม่ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นภายในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

ตอนที่รัสเซียเริ่มบุกยูเครนใหม่ๆ ชาติตะวันตกเคยหารือความเป็นไปได้ในการส่งเครื่องบินขับไล่ MiG-29 ซึ่งเป็นอากาศยานยุคโซเวียตที่ยูเครนคุ้นเคยดีอยู่แล้ว กระทั่งในเดือน มี.ค. กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ จึงออกมาปฏิเสธไม่ยินยอมให้โปแลนด์ส่งฝูงบิน MiG-29 ให้เคียฟผ่านฐานทัพสหรัฐฯ ในเยอรมนี โดยอ้างว่าการทำเช่นนั้นเท่ากับดึงนาโตเข้าสู่สงคราม

อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่อเมริกันชี้ว่าจุดยืนของสหรัฐฯ ณ วันนี้ “เปลี่ยน” ไปแล้ว และสิ่งที่วอชิงตันกังวลมากกว่าไม่ใช่การกระพือไฟสงคราม หากแต่เป็นอุปสรรคในด้านโลจิสติกส์ และการซ่อมบำรุง นอกจากนี้ การที่นักบินยูเครนซึ่งคุ้นเคยอยู่กับฝูงบินยุคโซเวียตอย่าง Su-27 และ MiG-29 และ Su-25 จะเปลี่ยนไปใช้เครื่องบินรบตะวันตกที่ทันสมัยกว่านั้นก็จำเป็นต้องผ่านการฝึกฝนอีกนานพอสมควร

รัฐมนตรีกลาโหมยูเครนออกมากล่าวถึงท่าทีลังเลของสหรัฐฯ และชาติตะวันตก โดยชี้ว่าอาวุธต่างๆ ที่ยูเครนร้องขอตั้งปีที่แล้ว เริ่มตั้งแต่จรวดประทับบ่ายิงสติงเกอร์ (Stinger) ระบบขีปนาวุธหลายลำกล้อง HIMARS รถถังแบรดลีย์ เรื่อยมาจนถึงกระสุนขนาด 155 มม. ล้วนแต่เริ่มต้นจากคำว่า “เป็นไปไม่ได้” ทั้งสิ้น ทว่าในที่สุดทุกอย่างก็ “เป็นไปได้”

“ความช่วยเหลือทุกประเภทที่เราได้รับล้วนแต่ถูกปฏิเสธมาก่อนทั้งสิ้น ดังนั้นคำว่า ‘ไม่’ จึงหมายความเฉพาะตอนที่พูด ส่วนขั้นตอนต่อมาก็คือ ‘มาคุยกันว่าเป็นไปได้แค่ไหนในทางเทคนิค’ และขั้นตอนที่ 3 ก็คือ ‘ส่งบุคลากรของคุณมาฝึกสิ’ ก่อนจะตามมาด้วยขั้นที่ 4 ก็คือการส่งมอบ” เขากล่าว

“จำกรณีรถถังเลพเพิร์ดของเยอรมนีได้ไหม คำตอบแรกของพวกเขาก็คือ ไม่... แต่ตอนนี้เราสร้างกลุ่มพันธมิตรรถถังขึ้นมาได้แล้ว ดังนั้นผมเชื่อว่ากลุ่มพันธมิตรเครื่องบินรบก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ เพียงแต่เราต้องมีใครสักคนเป็นผู้นำ”
กำลังโหลดความคิดเห็น