xs
xsm
sm
md
lg

โรงเรียนและมหาวิทยาลัยจำนวนมากในสหรัฐฯ สั่งแบน ‘ติ๊กต็อก’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: นีร์ คเชตรี ***


โลโก้ติ๊กต็อกที่บูทของบริษัท ในงานโตเกียวเกมโชว์ (Tokyo Game Show) ในจังหวัดชิบะ ของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 15 ก.ย.2022 (ภาพเอเอฟพี)
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

US schools and universities next to ban TikTok
By NIR KSHETRI

พวกสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ คัดค้านพวกบริการติดตามสถานที่ตั้งของแอปตัวนี้ โดยบอกว่ามันอาจเปิดทางให้รัฐบาลจีนสามารถเฝ้าสอดแนมพลเมืองสหรัฐฯ

โรงเรียนรัฐบาล และสถาบันอุดมศึกษาของภาครัฐในสหรัฐฯ จำนวนมากขึ้นทุกที กำลังเคลื่อนไหวเพื่อแบน ติ๊กต็อก –แอปสื่อสังคมยอดนิยมที่มีบริษัทจีนเป็นเจ้าของ ซึ่งเปิดทางให้ยูสเซอร์สามารถแชร์คลิปวิดีโอสั้น

พวกเขาเจริญรอยตามการนำของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ [1] และหลายๆ รัฐในสหรัฐฯ [2] ที่กำลังกำจัดขับไล่แอปโซเชียลมีเดียตัวนี้ เพราะพวกผู้มีอำนาจรับผิดชอบเชื่อว่า ทางรัฐบาลต่างประเทศ –โดยแฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลจีน— สามารถใช้แอปนี้ [3] ในการสปายสอดแนมชาวอเมริกัน

แอปตัวนี้สร้างขึ้นโดยบริษัท ไบต์แดนซ์ (ByteDance) ซึ่งตั้งฐานอยู่ในจีน และมีสายสัมพันธ์กับรัฐบาลจีน [4]

มหาวิทยาลัยโอคลาโฮมา มหาวิทยาลัยออเบิร์น ในรัฐแอละแบมา [5] และมหาวิทยาลัยภาครัฐ ตลอดจนวิทยาลัยภาครัฐรวม 26 แห่งในรัฐจอร์เจีย [6] ต่างสั่งแบนแอปตัวนี้ออกจากเครือข่ายไวไฟภายในวิทยาเขตของพวกตน ขณะที่ผู้ว่าการรัฐมอนแทนา [7] ขอให้ระบบมหาวิทยาลัยของทางรัฐแบนติ๊กต็อก เช่นกัน

พวกโรงเรียนภาครัฐบางแห่งก็มีความเคลื่อนไหวเพื่อสกัดกั้นแอปนี้เหมือนกัน โรงเรียนรัฐบาลในเทศมณฑลสแตฟฟอร์ด (Stafford) พรินซ์วิลเลียม (Prince William) และเลาดุน (Loudoun) ของรัฐเวอร์จิเนีย [8] ต่างสั่งห้ามใช้ติ๊กต็อก ในอุปกรณ์ที่ทางโรงเรียนจัดให้ ตลอดจนในเครือข่ายไวไฟ ของโรงเรียน ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาของรัฐลุยเซียนา ออกมาเสนอแนะให้โรงเรียนต่างๆ ในรัฐลบแอปตัวนี้ออกจากพวกอุปกรณ์สาธารณะ [9] และปิดกั้น [10] ไม่ให้ใช้มันในอุปกรณ์ที่ทางโรงเรียนจัดให้

ในฐานะที่ผมเป็นนักวิจัย [11] ที่มีความชำนาญพิเศษในเรื่องความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ [12] ผมไม่เชื่อว่าโรงเรียนเหล่านี้กำลังแสดงปฏิกิริยากันเกินเลยไปหรอก ติ๊กต็อกนั้นมีการติดตามจัดเก็บข้อมูลของยูสเซอร์ด้วยวิธีการเชิงรุกยิ่งกว่าแอปตัวอื่นๆ [13]

เวอร์ชันของติ๊กต็อก ที่กำลังทำให้เกิดความวิตกกังวลทั้งหมดเหล่านี้ขึ้นมา ไม่สามารถโหลดมาใช้งานได้ภายในประเทศจีนเอง ในความพยายามที่จะปกป้องพวกนักเรียนจีนไม่ให้ได้รับผลกระทบที่เป็นพิษภัยจากสื่อสังคม พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ออกกฎข้อหนึ่งซึ่งสั่งจำกัดเวลาที่นักเรียนสามารถเล่นติ๊กต็อก ได้ ไม่ให้เกินวันละ 40 นาที [14] และพวกเขาสามารถดูได้เฉพาะคลิปวิดีโอที่มีธีมรักชาติหรือมีเนื้อหาทางการศึกษา [15] อย่างเช่น การทดลองทางวิทยาศาสตร์ และสิ่งของที่ตั้งแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์

กลยุทธ์เชิงรุกเพื่อจัดเก็บและใช้ประโยชน์จากข้อมูลของยูสเซอร์
แพลตฟอร์มสื่อสังคมทุกๆ แพลตฟอร์ม [16] ต่างก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว และมีความเสี่ยงด้านความมั่นคงปลอดภัย [17] สำหรับยูสเซอร์กันทั้งนั้น

แต่ ติ๊กต็อก มีความเสี่ยงมากกว่าแพลตฟอร์มเจ้าอื่นๆ การตั้งค่าโดยปริยาย (default settings) ในด้านความเป็นส่วนตัวของแอปตัวนี้ เปิดทางให้แอปสามารถรวบรวมข้อมูลข่าวสารได้มากมาย ยิ่งกว่าที่แอปจำเป็นต้องได้มาสำหรับการทำงานจริงๆ

ทุกๆ ชั่วโมง แอปนี้สามารถเข้าถึงรายชื่อการติดต่อและปฏิทินของยูสเซอร์ [18] นอกจากนี้ ติ๊กต็อก ยังคอยจัดเก็บสถานที่ตั้ง [19] ของอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งใช้เพื่อเข้าถึงบริการนี้ รวมทั้งสามารถสแกนฮาร์ดไดรฟ์ที่ต่อเชื่อมกับอุปกรณ์ใดๆ เหล่านี้อีกด้วย

ถ้ายูสเซอร์รายใดเปลี่ยนแปลงการตั้งค่าในเรื่องความเป็นส่วนตัว เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกตรวจสอบอย่างใกล้ชิดดังกล่าว แอปก็จะคอยถามขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ เพื่อขออนุญาตกลับไปสู่การตั้งค่าดั้งเดิม [20] พวกแอปเครือข่ายสังคมเจ้าอื่นๆ อย่างเช่น เฟซบุ๊ก ไม่มีการสอบถามขอให้ยูสเซอร์ทบทวนเปลี่ยนแปลงการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวของพวกเขากันหรอก ถ้าพวกเขาตัดสินใจที่จะล็อกดาวน์ข้อมูลข่าวสารของพวกเขา

วิธีการที่ ติ๊กต็อก จัดการกับข้อมูลที่มันรวบรวมมาได้จากยูสเซอร์ก็เป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความกังวลเช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น หน่วยงานคุมกฎที่ทำหน้าที่คอยปกป้องข้อมูลของประเทศไอร์แลนด์ กำลังสอบสวนความเป็นไปได้ที่จะมีการถ่ายโอนข้อมูลของพลเมืองชาวยุโรปไปยังเครื่องเซิร์ฟเวอร์ต่างๆ ของจีนอย่างผิดกฎหมาย [21] ตลอดจนความเป็นไปได้ที่จะมีการละเมิดกฎระเบียบในเรื่องการปกป้องคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของเด็กๆ

จุดอ่อนต่างๆ ทางด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์

เช่นเดียวกับพวกบริการสื่อสังคมเจ้าอื่นๆ [22] พวกนักวิจัยก็ค้นพบจุดอ่อนร้ายแรงหลายๆ อย่างทางด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ [23] ในแอปติ๊กต็อก

เป็นต้นว่า เมื่อปี 2020 บริษัทความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ชื่อ “เช็กพอยต์” (Check Point) ค้นพบว่า บริษัทสามารถส่งข้อความต่างๆ ไปถึงยูสเซอร์ซึ่งดูเหมือนว่ามันมาจากติ๊กต็อก แต่แท้จริงแล้วบรรจุเอาไว้ด้วยลิงก์ที่มุ่งประสงค์ร้าย เมื่อยูสเซอร์คลิกที่ลิงก์เหล่านี้ พวกนักวิจัยของเช็กพอยต์ก็สามารถยึดการควบคุมบัญชี ติ๊กต็อก ของพวกเขา [24] เอาไว้ได้ สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารส่วนตัว ลบคอนเทนต์ที่มีอยู่แล้ว และกระทั่งโพสต์วัสดุใหม่ๆ ภายใต้บัญชีของยูสเซอร์รายนั้นๆ

พวกแฮกเกอร์ยังคอยจ้องหาประโยชน์จาก พวกเทรนด์ (trend) ที่ได้รับความนิยมกลายเป็นไวรัลขึ้นมาในติ๊กต็อก เพื่อกระจายเผยแพร่ซอฟต์แวร์มุ่งประสงค์ร้าย [25] ซึ่งสร้างปัญหาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์เพิ่มมากขึ้นอีก ตัวอย่างเช่น มีเทรนด์ที่แพร่หลายเทรนด์หนึ่งเรียกกันว่า “Invisible Challenge” ซึ่งส่งเสริมให้พวกยูสเซอร์ใช้ฟิลเตอร์ติ๊กต็อก ที่เรียกกันว่า “Invisible Body” มาถ่ายภาพเปลือยของพวกเขาเอง –โดยยืนยันกับยูสเซอร์ว่าผู้ติดตามของพวกเขาจะมองเห็นแค่ภาพเบลอๆ ไม่ใช่เปิดเผยไปเสียหมดทุกอย่าง

ปรากฏว่าพวกอาชญากรไซเบอร์ได้จัดทำคลิปวิดีโอติ๊กต็อกขึ้นมาหลายคลิป ซึ่งอวดอ้างว่าพวกเขาสามารถทำซอฟต์แวร์ที่จะเปิดเผยให้เห็นร่างเปลือยของยูสเซอร์ได้ ด้วยวิธีการย้อนกลับฟิลเตอร์ปกปิดร่างกายดังกล่าว แต่เอาเข้าจริงซอฟต์แวร์ที่พวกเขากระตุ้นให้ยูสเซอร์ดาวน์โหลด กลับเป็นเพียงตัวที่จะขโมยพวกหลักฐานยืนยันสื่อสังคม บัตรเครดิต และเงินคริปโตฯ [26] ซึ่งเก็บไว้ในที่ต่างๆ บนโทรศัพท์ของยูสเซอร์ ตลอดจนโจรกรรมไฟล์จากเครื่องคอมพิวเตอร์ของเหยื่อ

ความวิตกกังวลในเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ

พวกสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ จำนวนมากต่างออกมาคัดค้านพวกบริการติดตามสถานที่ตั้ง ของแอปตัวนี้ [27] โดยบอกว่ามันอาจเปิดทางให้รัฐบาลจีนสามารถเฝ้าตรวจตราความเคลื่อนไหวและสถานที่ของพลเมืองสหรัฐฯ [28] – ซึ่งรวมไปถึงพวกสมาชิกของกองทัพหรือเจ้าหน้าที่รัฐบาล

ทั้งนี้ ถ้ารัฐบาลจีนต้องการข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับยูสเซอร์ติ๊กต็อก ในสหรัฐฯ ที่มีจำนวนมากกว่า 90 ล้านราย [29] พวกเขาก็ไม่จำเป็นต้องแฮกอะไรทั้งสิ้น

นั่นเป็นเพราะจีนออกกฎหมายข่าวกรองแห่งชาติปี 2017 [30] ซึ่งกำหนดให้พวกบริษัทจีน [31] ต้องแชร์ข้อมูลใดๆ ที่พวกเขาเก็บรวบรวมมา ถ้าหากรัฐบาลร้องขอ [32]

พวกผู้สังเกตการณ์วงการอุตสาหกรรมเทคโนโลยียังแสดงความเป็นห่วงในเรื่องที่ว่า ไบต์แดนซ์ บริษัทที่สร้างติ๊กต็อกขึ้นมา อาจจะมีรัฐบาลจีนเป็นเจ้าของอยู่ส่วนหนึ่ง [33]

ปัญหาเหล่านี้ยิ่งดูมีความสำคัญมากขึ้นไปอีกเมื่อพิจารณาภายในบริบทที่ว่า รัฐบาลจีนกำลังถูกกล่าวหาว่ามีความพยายามที่จะสร้าง “ทะเลสาบข้อมูล” (data lake) ขนาดมหึมาซึ่งเก็บรวบวมข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับชาวอเมริกันทั้งหมด [34] โดยที่จีนยังมีความเชื่อมโยงกับการโจมตีทางไซเบอร์ขนาดใหญ่ๆ หลายครั้งที่พุ่งเป้าเล่นงานพวกลูกจ้างรัฐบาลกลางสหรัฐฯ และพวกผู้บริโภคสหรัฐฯ

การโจมตีเหล่านี้ เช่น กรณีแฮกสำนักงานบริหารบุคลากรสหรัฐฯ ปี 2015 [35] กรณีการโจมตีสำนักงานรายงานเครดิตผู้บริโภค “อีควิแฟกซ์” (Equifqx) ปี 2017 [36] และการโจมตีกลุ่มธุรกิจโรงแรม แมร์ริออตต์ อินเตอร์เนชั่นแนล (Marriott International) ปี 2018 [37]

ผลกระทบด้านลบมีมากกว่าผลกระทบด้านบวก?

บรรดาครูบาอาจารย์ และพวกผู้บริหารโรงเรียนในสหรัฐฯ มีการใช้แอปติ๊กต็อก ในทางที่น่าสนใจและมีประโยชน์อยู่บ้างเหมือนกัน [38] –อย่างเช่น ในการติดต่อเชื่อมโยงกับนักเรียนนักศึกษา การสร้างความสัมพันธ์ การสอนเกี่ยวกับความเสี่ยงของสื่อสังคม และการรับส่งบทเรียนขนาดเล็กๆ ด้วยความรวดเร็ว

แต่มันไม่เป็นที่ชัดเจนว่าผลด้านบวกเหล่านี้มีน้ำหนักเหนือว่าภัยอันตรายทั้งที่อาจเกิดขึ้นได้และที่มีแล้วจริงๆ หรือเปล่า นอกเหนือจากความกังวลโดยทั่วไปเกี่ยวกับความเสี่ยงของการเสพติดโซเชียลมีเดีย [39] ที่อาจเกิดขึ้นได้แล้ว พวกเจ้าหน้าที่โรงเรียนบางรายบอกว่า การใช้ติ๊กต็อก ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยังทำให้พวกนักเรียนเสียสมาธิไม่ให้ความสนใจครูอาจารย์ผู้สอน [40]

นอกจากนั้นแล้ว อัลกอรึทึมของแอปนี้ที่คอยเสนอแนะคลิปวิดีโอที่ควรจะชมต่อไปก็ถูกกล่าวหาว่าเพิ่มความเสี่ยงที่ทำให้นักเรียนนักศึกษาฆ่าตัวตายและเกิดความผิดปกติในการกินขึ้นมา [41]

เทรนด์การชาเลนจ์เทรนด์หนึ่งที่มีชื่อว่า “One Chip Challenge” ซึ่งขอให้ยูสเซอร์ติ๊กต็อกรับประทานชิปเพียงแผ่นเดียวที่มีพริกรสเผ็ดที่สุดในโลก 2 ชนิดใส่ไว้ด้วย [42] ทำให้นักเรียนนักศึกษาบางคนถึงกับต้องเข้าโรงพยาบาล [43] ขณะที่คนอื่นๆ ก็ล้มป่วย

วิดีโอหลายๆคลิปทางติ๊กต็อกยังนำนักเรียนนักศึกษาไปพัวพันเกี่ยวข้องกับการอาละวาดทำลายทรัพย์สิน [44] เป็นต้นว่า ในการเข้าร่วมเล่นชาเลนจ์ที่กลายเป็นไวรัล ชาเลนจ์หนึ่ง นักเรียนนักศึกษาบางคนไปขโมยอ่างล้างหน้าและที่กดสบู่เหลว [45] จากโรงเรียน

จากอันตรายและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งหมดเหล่านี้ จึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจเลยที่พวกเจ้าหน้าที่โรงเรียนกำลังพิจารณาที่จะแบนติ๊กต็อก

นีร์ คเชตรี เป็นศาสตราจารย์สาขาวิชาการบริหารจัดการ มหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา-กรีนส์โบโร สหรัฐฯ

(ข้อเขียนนี้มาจากเว็บไซต์ เดอะ คอนเวอร์เซชั่น https://theconversation.com/ โดยสามารถติดตามอ่านข้อเขียนดั้งเดิมชิ้นนี้ได้ที่ https://theconversation.com/dozens-of-us-schools-universities-move-to-ban-tiktok-197393

(อ่านรายงานข่าวพวกนักศึกษาในสหรัฐฯ ไม่พอใจที่มีการแบนแอปติ๊กต็อก ได้ที่ข้างล่างนี้)

เชิงอรรถ
[1]https://www.nbcnews.com/tech/tech-news/tiktok-ban-biden-government-college-state-federal-security-privacy-rcna63724
[2]https://news.yahoo.com/tiktok-bans-government-devices-raise-222316798.html
[3]https://www.nbcnews.com/tech/students-question-tiktok-bans-public-universities-rcna62801
[4]https://www.theguardian.com/technology/2022/nov/07/tiktoks-china-bytedance-data-concerns
[5]https://www.nbcnews.com/tech/students-question-tiktok-bans-public-universities-rcna62801
[6]https://www.cnet.com/news/social-media/tiktok-also-banned-by-some-us-universities/
[7]https://www.bestcolleges.com/news/these-colleges-just-banned-tiktok/
[8]https://www.fox5dc.com/news/stafford-county-public-schools-blocking-students-access-to-tiktok
[9]https://www.wdsu.com/article/louisiana-superintendent-education-tik-tok-ban/42393440
[10]https://www.edweek.org/technology/should-schools-ban-tiktok-louisiana-ed-chief-urges-districts-to-do-it/2023/01#:%7E:text=He%20implored%20districts%20to%20delete,laptops%2C%20a%20department%20spokesman%20added.
[11]https://scholar.google.com/citations?user=g-jALEoAAAAJ&hl=en&oi=ao
[12]https://doi.org/10.1080/1097198X.2019.1603527
[13]https://www.theguardian.com/technology/2022/jul/19/tiktok-has-been-accused-of-aggressive-data-harvesting-is-your-information-at-risk
[14]https://www.voanews.com/a/fbi-says-it-has-national-security-concerns-about-tiktok/6836340.html
[15]https://www.voanews.com/a/fbi-says-it-has-national-security-concerns-about-tiktok/6836340.html
[16]https://www.wdsu.com/article/louisiana-superintendent-education-tik-tok-ban/42393440
[17]https://www.pewresearch.org/internet/2019/11/15/americans-and-privacy-concerned-confused-and-feeling-lack-of-control-over-their-personal-information/
[18]https://www.theguardian.com/technology/2022/jul/19/tiktok-has-been-accused-of-aggressive-data-harvesting-is-your-information-at-risk
[19]https://www.theguardian.com/technology/2022/jul/19/tiktok-has-been-accused-of-aggressive-data-harvesting-is-your-information-at-risk
[20]https://www.theguardian.com/technology/2022/jul/19/tiktok-has-been-accused-of-aggressive-data-harvesting-is-your-information-at-risk
[21] https://www.politico.eu/article/eu-leaders-fire-warning-shots-at-tiktok-over-privacy/
[22] https://businessplus.ie/tech/social-media-lost-user-data/
[23] https://research.checkpoint.com/2020/tik-or-tok-is-tiktok-secure-enough/
[24] https://futurism.com/major-security-flaws-tiktok
[25] https://www.theregister.com/2022/11/29/tiktok_invisible_challenge_malware/
[26] https://www.bleepingcomputer.com/news/security/tiktok-invisible-body-challenge-exploited-to-push-malware/
[27] https://www.npr.org/2022/12/22/1144745813/why-the-proposed-tiktok-ban-is-more-about-politics-than-privacy-according-to-exp
[28] https://www.newsweek.com/tiktok-security-concerns-explained-republican-led-states-look-ban-it-1765790
[29] https://www.statista.com/statistics/1100836/number-of-us-tiktok-users/
[30] https://www.cnbc.com/2019/03/05/huawei-would-have-to-give-data-to-china-government-if-asked-experts.html
[31] https://usa.kaspersky.com/resource-center/preemptive-safety/is-tiktok-safe
[32] https://www.theguardian.com/technology/2022/jul/19/tiktok-has-been-accused-of-aggressive-data-harvesting-is-your-information-at-risk
[33] https://www.newsweek.com/tiktok-owned-controlled-china-communist-party-ccp-influence-1752415
[34] https://www.infosecurity-magazine.com/news/chinas-mss-linked-to-marriott/
[35] https://edition.cnn.com/2017/08/24/politics/fbi-arrests-chinese-national-in-opm-data-breach/index.html
[36] https://www.csoonline.com/article/3444488/equifax-data-breach-faq-what-happened-who-was-affected-what-was-the-impact.html
[37] https://www.infosecurity-magazine.com/news/chinas-mss-linked-to-marriott/
[38] https://www.edweek.org/technology/tiktok-gas-twitter-how-social-media-is-influencing-education/2022/12
[39] https://doi.org/10.1177/0894439316660340
[40] https://www.fox5dc.com/news/stafford-county-public-schools-blocking-students-access-to-tiktok
[41] https://www.cnn.com/2022/12/15/tech/tiktok-teens-study-trnd/index.html
[42] https://shop.paqui.com/products/one-chip-challenge
[43] https://medicalxpress.com/news/2022-10-tiktok-trend-kids-home-sick.html
[44] https://www.krgv.com/news/students-destroy-steal-school-property-for-viral-tiktok-challenge/
[45] https://www.cbsnews.com/losangeles/news/viral-trend-on-tiktok-encourages-students-to-damage-school-property-steal/

หญิงสาว 2 คนแสดงการเต้นต่อหน้าโทรศัพท์มือถือเพื่อบันทึกคลิปวิดีโอนำไปโพสต์ทางติ๊กต็อก ที่เมืองไมอามี รัฐฟลอริดา สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 9 ม.ค.2021 (ภาพเอเอฟพี)
หมายเหตุผู้แปล

ความเคลื่อนไหวของพวกสถาบันการศึกษาภาครัฐในสหรัฐฯ โดยเฉพาะในระดับมหาวิทยาลัย ที่แบนการใช้แอปติ๊กต็อก ทำให้เกิดกระแสคัดค้านแสดงความไม่พอใจเช่นกัน โดยเฉพาะในหมู่นักศึกษา ดังที่ปรากฏในรายงานข่าวเรื่อง TikTok Bans at Major Colleges Aren’t Going Over Well With Students ของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (https://www.bloomberg.com/news/newsletters/2023-01-23/tiktok-bans-at-college-aren-t-going-over-well-with-students) จึงขอเก็บความนำมาเสนอเป็นการเพิ่มเติม ดังนี้:

แบนติ๊กต็อกในมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ไม่ใช่สิ่งที่พวกนักศึกษาพอใจ
โดย สำนักข่าวบลูมเบิร์ก

TikTok Bans at Major Colleges Aren’t Going Over Well With Students
By Alex Barinka, Bloomberg
January 23, 2023 at 7:00 PM GMT+7

การแบนติ๊กต็อกครั้งใหม่ของมหาวิทยาลัยภาครัฐจำนวนมากทั่วทั้งสหรัฐฯ ในเวลานี้ เป็นการเสนอตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ของสิ่งที่คณะบริหารประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะต้องประสบ ถ้าหากสั่งให้มีการปิดกั้นแอปตัวนี้อย่างเป็นทางการในระดับทั่วประเทศ นั่นคือ คนหนุ่มคนสาวจำนวนมากจะแสดงความโกรธเกรี้ยว

ระยะไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐต่างๆ ในสหรัฐฯ รวมแล้วมากกว่า 25 รัฐ ได้ออกมาตรการจำกัดการใช้ติ๊กต็อก บนอุปกรณ์ที่ทางรัฐเป็นเจ้าของ และในบางกรณี ข้อห้ามข้อจำกัดเหล่านี้ยังถูกขยายไปบังคับใช้ในโรงเรียนภาครัฐอีกด้วย ระบบการศึกษาขั้นอุดมศึกษาขนาดใหญ่ๆ ในสหรัฐฯ มากกว่าสิบระบบ เป็นต้นว่า มหาวิทยาลัยออเบิร์น มหาวิทยาลัยจอร์เจีย และมหาวิทยาลัยโอคลาโฮมา สเตท เมื่อเร็วๆ นี้ต่างสั่งแบนติ๊กต็อก ในบางรูปแบบ –ห้ามใช้บนอุปกรณ์ที่ทางสถาบันการศึกษาเป็นเจ้าของ ห้ามใช้บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของทางวิทยาเขต หรือบางแห่งก็ห้ามทั้งสองอย่างนี้เลย

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มหาวิทยาลัยเทกซัส-ออสติน ได้เข้าร่วมขบวนด้วย สถาบันการศึกษาแห่งนี้ซึ่งมีนักศึกษามากกว่า 52,000 คน ได้สกัดกั้นติ๊กต็อก ให้ออกไปจากอินเทอร์เน็ตภายในวิทยาเขต และก็คาดหมายได้อยู่แล้ว มันทำให้พวกนักศึกษาไม่พอใจ

เกรซ เฟเธอร์สตัน (Grace Featherston) วัย 22 ปี นักศึกษาปี 4 วิชาเอกการละคร-ศึกษาศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ กล่าวแสดงความเห็นว่า นักศึกษาควรสามารถที่จะเลือกตัดสินใจด้วยตัวเองเกี่ยวกับความเสี่ยงของการใช้แอปที่บริษัทจีนเป็นเจ้าของตัวนี้ การสั่งแบนคือการล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของพวกนักศึกษา เธอกล่าว “มันเป็นสิ่งที่พลเมืองสหรัฐฯ จะต้องมีสิทธิเลือกว่าพวกเขาต้องการบริโภคติ๊กต็อก หรือไม่” เธอบอก “และพวกเขาต้องการที่จะเสี่ยงหรือเปล่า (ด้วยการใช้แอปนี้ต่อไป)”

กระทั่งอาจารย์บางคนของมหาวิทยาลัยก็คัดค้านความเคลื่อนไหวคราวนี้ “ดิฉันใช้ติ๊กต็อก เป็นเครื่องมือด้านการศึกษา โดยทำให้วิทยาศาสตร์มีความสนุกสนานและเข้าถึงได้” เคต บิเบอร์ดอร์ฟ (Kate Biberdorf) วัย 36 ปี ซึ่งเป็นรองศาสตราจารย์สาขาวิชาเคมี ณ มหาวิทยาลัยเทกซัส-ออสติน เธอเป็นที่รู้จักของผู้ติดตามเธอทางติ๊กต็อก จำนวน 194,400 ราย ในชื่อว่า เคตนักเคมี (Kate the Chemist) “การที่เครื่องมือดังกล่าวนี้ถูกมหาวิทยาลัยริบไป นี่มันดูไม่ถูกต้องเลยสำหรับดิฉัน เวลานี้ในประชาคมของเรา มันมีความรู้สึกเหมือนกัว่าสิทธิของเรากำลังถูกยึดไป และนี่คือการผลักดันไปในทิศทางที่ผิดพลาดอีกครั้งหนึ่ง”

แต่สำหรับ ริก แมคเอลรอย (Rick McElroy) หัวหน้านักยุทธศาสตร์ความมั่นคงปลอดภัย ที่บริษัท วีเอ็มแวร์ อิงค์ (VMware Inc) เขาติงว่า ความวิตกกังวลในเรื่องความมั่นคงปลอดภัยเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามไปโดยสิ้นเชิง เขาแจกแจงว่า ปริมาณข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่เก็บรวบรวมไปโดยแอปอย่างเช่น ติ๊กต็อก อาจถูกนำไปใช้โดยบริษัทหรือรัฐบาล เพื่อการติดตาม หรือเพื่อการใช้แคมเปญเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จหรือแคมเปญสร้างอิทธิพล ซึ่งมุ่งเล็งเป้าหมายไปที่พวกบุคคลผู้ทรงความสำคัญ

ติ๊กต็อกนั้นได้ออกมาแถลงว่าข้อมูลที่เก็บรวบรวมจากยูสเซอร์ในสหรัฐฯ ไม่มีการนำไปแชร์กับรัฐบาลจีน รวมทั้งมีมาตรการควบคุมการเข้าถึงข้อมูลยูสเซอร์ที่เข้มงวด โดยใช้กับพวกลูกจ้างของบริษัทในสหรัฐฯ และในบริษัทแม่ ซึ่งก็คือ บริษัทไบต์แดนซ์ กระนั้นก็ตาม เมื่อเดือนที่แล้ว ไบต์แดนซ์ได้ออกมาแถลงว่า มีลูกจ้างของตนบางรายเข้าถึงข้อมูลยูสเซอร์ชาวอเมริกันอย่างไม่ถูกต้องเหมาะสม ในความพยายามที่จะติดตามแกะรอยพวกที่เป็นนักข่าวนักหนังสือพิมพ์

การตัดสินใจเกี่ยวกับชะตากรรมของติ๊กต็อก ถือเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงสูงเป็นพิเศษสำหรับพวกนักการเมืองในสหรัฐฯ กลุ่มประชากรหลักของแอปนี้คือกลุ่มเดียวกันกับผู้คนวัยหนุ่มสาวซึ่งกำลังกลายเป็นหนึ่งในกลุ่มที่มีความสำคัญที่สุดสำหรับพรรคเดโมแครต ทั้งนี้ ผู้ออกเสียงที่อายุต่ำกว่า 30 ปีเป็นเพียงกลุ่มอายุกลุ่มเดียวเท่านั้นในการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ เมื่อปลายปี 2022 ที่ส่วนข้างมากนิยมชมชอบพรรคเดโมแครต --และไปใช้สิทธิให้เห็นเช่นนั้นในระดับ +28% ทีเดียว ทั้งนี้ ตามข้อมูลของมหาวิทยาลัยทัฟต์ส (Tufts University) ผลก็คือ พวกเขานี่แหละดูเหมือนจะเป็นเขื่อนที่ปิดกั้นยับยั้งพรรครีพับลิกัน หรือที่เรียกกันว่า “คลื่นสีแดง” เอาไว้ ไม่ให้ได้ชัยชนะถล่มทลายอย่างที่หลายฝ่ายคาดหมายกัน

เฟเธอร์สตัน ซึ่งเรียนวิชาเอกการละคร ใช้แอปติ๊กต็อกเพื่อชมและโพสต์วิดีโอสำหรับผู้ติดตาม 27,000 รายของเธอ โดยมุ่งเน้นเนื้อหาเกี่ยวกับโชว์ต่างๆ ของบรอดเวย์ เทรนด์ทางสังคม และเหตุการณ์ปัจจุบัน เธอเป็นเสียงสะท้อนทัศนะความคิดเห็นของผู้สร้างเนื้อหาและยูสเซอร์ติ๊กต็อกมากกว่า 30 คนที่ผู้สื่อข่าวบลูกเบิร์กที่เขียนรายงานชิ้นนี้ ได้สัมภาษณ์มาในระยะไม่กี่เดือนหลังๆ นี้ เธอบอกว่าโดยรวมแล้วเธอตระหนักดีถึงเรื่องความเสี่ยง แต่ก็ไม่ได้รู้สึกวิตกมากพอที่จะหยุดใช้แอปตัวนี้

คุณค่าที่ เฟเธอร์สตัน ได้รับจากติ๊กต็อก –การเป็นคนดังทางอินเทอร์เน็ต ความบันเทิง การได้รับการยืนยันรับรอง – มีน้ำหนักมากกว่าภัยคุกคามตัวเธอจากรัฐบาลต่างชาติ เธอกล่าว และบอกด้วยว่า การทำให้เธอยังคงสามารถเข้าถึงติ๊กต็อกได้จะเป็นข้อพิจารณาทางด้านนโยบายประการหนึ่งสำหรับเธอ เมื่อถึงการเลือกตั้งในคราวหน้า


กำลังโหลดความคิดเห็น