สหรัฐฯ ประกาศจัดส่งยานเกราะหลายร้อยคัน รวมไปถึงจรวดและเครื่องกระสุนให้ยูเครน ในความช่วยเหลือด้านการทหารล็อตใหม่ที่มีมูลค่าราว 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ แถลงวานนี้ (19 ม.ค.) ว่า แพกเกจช่วยเหลือชุดใหม่จะครอบคลุมยานเกราะต่อสู้แบรดลีย์ (Bradley Fighting Vehicles) จำนวน 59 คัน ยานเกราะลำเลียงพลสไตรเกอร์ (Stryker Armored Personnel Carriers) จำนวน 90 คัน ยานเกราะป้องกันทุ่นระเบิด (mine-resistant ambush protected vehicles) จำนวน 53 คัน และยานยนต์ล้อยางอเนกประสงค์ความคล่องตัวสูง หรือ “รถฮัมวี” อีก 350 คัน
ทั้งนี้ สหรัฐฯ เคยประกาศมอบยานเกราะแบรดลีย์ให้ยูเครน จำนวน 50 คันไปเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ซึ่งรถหุ้มเกราะชนิดนี้มีการติดตั้งระบบปืนที่ทรงพลัง และถูกใช้เพื่อการลำเลียงกำลังพลสหรัฐฯ ในสมรภูมิต่างๆ มาตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1980
สหรัฐฯ ยังจะส่งมอบเครื่องกระสุนเพิ่มเติมที่ใช้กับระบบจรวดหลายลำกล้อง HIMARS ระบบป้องกันภัยทางอากาศอเวนเจอร์ (Avenger) จำนวน 8 หน่วย กระสุนปืนใหญ่หลายหมื่นนัด และจรวดต่อต้านยานรบหุ้มเกราะ (anti-armor rockets) อีกราวๆ 2,000 ลูกให้ยูเครนด้วย ซึ่งเมื่อนับรวมๆ แล้วจะทำให้มูลค่าความช่วยเหลือทางทหารที่สหรัฐฯ มอบให้ยูเครนนับตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากรุกรานเพิ่มเป็นกว่า 27,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ระหว่างเดินทางไปเยือนวอชิงตันเมื่อเดือน ธ.ค. ประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครนได้กล่าวปราศรัยต่อสภาคองเกรสว่า ความช่วยเหลือที่มอบให้ยูเครนนั้นคือ “การลงทุนเพื่อประชาธิปไตย” ไม่ใช่ “การบริจาค” พร้อมทั้งเรียกร้องให้สมาชิกสภาคองเกรสทั้ง 2 พรรคการเมืองร่วมแรงร่วมใจสนับสนุนเคียฟในการต่อต้านรัสเซีย
ขณะเดียวกัน กลุ่มชาตินาโต 11 ประเทศ ซึ่งรวมถึงอังกฤษและโปแลนด์ ประกาศที่ฐานทัพอากาศในเอสโตเนียวานนี้ (19) ว่าจะส่งอาวุธมูลค่านับพันๆ ล้านดอลลาร์ช่วยยูเครน และมีบางประเทศที่รับปากจะส่งรถถัง Leopard 2 ให้หากว่า “เยอรมนี” ยอมไฟเขียว
“เราต่างมุ่งมั่นที่จะร่วมกันจัดส่งสิ่งของบริจาคที่ยังไม่เคยมีการส่งมอบมาก่อน เช่น รถถังหลัก ปืนใหญ่ ระบบป้องกันภัยทางอากาศ เครื่องกระสุน และยานเกราะต่อสู้ เพื่อสนับสนุนการป้องกันตนเองของยูเครน” คำแถลงร่วมระบุ
เบอร์ลินเองยังไม่มีท่าทีว่าจะยอมอนุมัติส่งออกรถถัง Leopard 2 ที่ผลิตในประเทศตนเองให้แก่เคียฟ เนื่องจากเกรงว่าจะยิ่งเป็นการยั่วยุรัสเซีย และกระพือไฟสงครามให้รุนแรงขึ้น
ประเด็นดังกล่าวคาดว่าจะเป็นหัวข้อหลักในการหารือระหว่างชาติพันธมิตรตะวันตกที่ฐานทัพอากาศสหรัฐฯ ในเมืองรัมสไตน์ (Ramstein) ของเยอรมนีวันศุกร์นี้ (20)
ที่มา : รอยเตอร์